HoonSmart.com>> กลุ่ม KTIS มั่นใจปัญหาน้ำมากไม่กระทบพื้นที่ปลูกอ้อยของชาวไร่อ้อยคู่สัญญา เหตุเป็นภาวะน้ำท่วมแบบเฉียบพลัน ไม่ได้ท่วมขังนาน ชี้อ้อยเป็นพืชทนน้ำได้ดี แถมยังส่งผลเชิงบวก ช่วยให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการปลูกอ้อยในฤดูการผลิตถัดไป พื้นที่ปลูกอ้อยที่อยู่ระดับสูงก็ได้รับน้ำมากเพียงพอที่จะทำให้อ้อยเจริญเติบโตเต็มที่ นำไปทำน้ำตาลและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่นๆ ได้ผลผลิตที่ดี ยืนยันผลผลิตอ้อยฤดูการผลิตปี 64/65 สูงกว่าปีก่อน 20 – 25%
นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า จากการประเมินผลกระทบจากปัญหาน้ำมากที่มีต่อพื้นที่ปลูกอ้อยของชาวไร่อ้อยคู่สัญญาของกลุ่ม KTIS ซึ่งอยู่ในแถบภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง แล้วเห็นว่า น่าจะมีผลเชิงบวกมากกว่าเชิงลบ เนื่องจากน้ำมากจนถึงน้ำท่วมในปีนี้เป็นภาวะน้ำท่วมแบบเฉียบพลัน ไม่ได้ท่วมขังนาน และธรรมชาติของอ้อยนั้นเป็นพืชที่ทนน้ำได้ดี ดังนั้น จึงไม่ได้กังวลกับพื้นที่ปลูกอ้อยที่ประสบปัญหาน้ำมากเพียงชั่วคราว แต่กลับรู้สึกดีกับพื้นที่ปลูกอ้อยที่อยู่ระดับสูงที่จะได้รับน้ำมากเพียงพอที่จะทำให้อ้อยเจริญเติบโตได้เต็มที่ และเมื่อนำไปทำน้ำตาลและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่นๆ ก็จะได้ผลผลิตที่ดีด้วย
“เรามองว่าปริมาณฝนที่มีมากในปีนี้จะส่งผลเชิงบวกกับกลุ่ม KTIS และยังยืนยันว่าจะได้ผลผลิตอ้อยที่เข้าหีบในฤดูการผลิตปี 2564/2565 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20 – 25% ซึ่งจะส่งผลดีต่อทุกสายธุรกิจทั้งสายน้ำตาลและธุรกิจชีวภาพ ได้แก่ เอทานอล ไฟฟ้า และเยื่อกระดาษจากชานอ้อย ซึ่งจะมีวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตมากขึ้น” นายณัฎฐปัญญ์กล่าว และเสริมด้วยว่า ปริมาณน้ำฝนที่มากช่วยให้แหล่งน้ำที่ชาวไร่ได้สร้างไว้ รวมทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติมีปริมาณน้ำเพียงพอและพร้อมที่จะปลูกอ้อยในฤดูการผลิตต่อไปด้วย”นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว
ทั้งนี้ หากมีผลผลิตอ้อยในปริมาณที่มากขึ้น รายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องก็จะดีขึ้นทั้งหมด เพราะจะมีโมลาสที่นำไปผลิตเอทานอลมากขึ้น มีชานอ้อยที่นำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้ามากขึ้น และมีชานอ้อยเข้าสู่กระบวนการผลิตเยื่อกระดาษมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ในปี 2565 กลุ่ม KTIS จะเริ่มรับรู้รายได้จากกลุ่มธุรกิจใหม่เพิ่มเติมเข้ามาอีกด้วย คือ โครงการผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อย ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงถึง 50 ตันต่อวัน โดยมีเครื่องจักร 50 เครื่อง ที่สามารถผลิตบรรจุภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้หลากหลายรูปแบบ เช่น จาน ชาม กล่อง ถาดหลุม เป็นต้น รวมไปถึงการผลิตและจำหน่ายหลอดชานอ้อยซึ่งออกสู่ตลาดมาระยะหนึ่งแล้ว และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC) เฟส 1 ก็จะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ โดยมีโรงงานผลิตเอทานอลจากน้ำอ้อย กำลังการผลิต 6 แสนลิตรต่อวัน และโรงไฟฟ้า 3 โรง กำลังการผลิตติดตั้งรวม 85 เมกะวัตต์