TFM เคาะราคาขาย IPO 13.50 บาท เปิดจอง 19-21 ต.ค. สถาบันสนใจล้น 6-7เท่า

HoonSmart.com>> “ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์” เตรียมเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 109.30 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 13.50 บาท P/E ที่ 21.7 เท่า เปิดให้จองซื้อ 19-21 ต.ค.นี้ คาดเข้าเทรด SET วันที่ 29 ต.ค.นี้   ระดมเงิน 1,475 ล้านบาท ขยายธุรกิจ-ชำระคืนเงินกู้-เงินหมุนเวียน  จ่อเริ่มเดินเครื่องโรงงานใหม่ที่อินโดนีเซีย ปลายปีนี้ รับรู้รายได้เต็มปีหน้า  หวังปี 67 สัดส่วนรายได้ต่างประเทศแตะ 20% จากปัจจุบันอยู่ที่ 3%

นายพิเชษฐ สิทธิอํานวย กรรมการผู้อํานวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนของ บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ (TFM) เปิดเผยว่า TFM เตรียมเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 109.30 ล้านหุ้น แบ่งเป็นหุ้นเพิ่มทุน 90 ล้านหุ้น และหุ้นเดิมที่เสนอขายโดย บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) จำนวน 19.30 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 2 บาท กำหนดราคาขายหุ้นละ 13.50 บาท คิดเป็นอัตราราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E) เท่ากับ 21.7 เท่า เตรียมเปิดให้นักลงทุนจองซื้อหุ้นในวันที่ 19-21 ต.ค.นี้ และคาดว่าจะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนและซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 29 ต.ค.2564

ส่วนการจัดสรรหุ้น IPO จำนวน 109.30 ล้านหุ้น แบ่งเสนอขายให้นักลงทุนสถาบันในประเทศ จำนวน 50 ล้านหุ้น ซึ่งแสดงความสนใจจองซื้อมากกว่าจำนวนที่จัดสรรให้ถึง 6-7 เท่า , เสนอขายให้บุคคลตามดุลยพินิจของผู้จำหน่ายหลักทรัพย์ จำนวน 40.405 ล้านหุ้น , เสนอขายให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของ TU จำนวน 2.5 ล้านหุ้น และเสนอขายให้ผู้มีอุปการคุณของบริษัท และบริษัทย่อย อีก 16.395 ล้านหุ้น

“การเดินหน้าเข้าระดมทุนของ TFM ในครั้งนี้ ถือเป็นการพิสูจน์ถึงความแข็งแกร่งและความเชื่อมั่นของกลุ่มไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่มั่นคง มีความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์น้ำและสัตว์เศรษฐกิจ สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยการกำหนดราคาหุ้นที่ 13.50 บาท ถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง จากศักยภาพการเติบโตและแผนการลงทุนในธุรกิจอาหารสัตว์น้ำในต่างประเทศ เพื่อสร้างรากฐานการผลิตและจัดจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต” นายพิเชษฐ กล่าว

ด้านนายบรรลือศักร โสรัจจกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ (TFM) เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์การระดมทุนว่า บริษัทฯจะนำเงินไปใช้ขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศอินโดนีเซีย , ชำระคืนเงินกู้ เพื่อลดภาระดอกเบี้ย และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในอนาคต

สำหรับโรงงานใหม่ ที่ประเทศอินโดนีเซีย ปัจจุบันได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เตรียมเริ่มทดสอบการผลิตในช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้ และคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในช่วงปลายปี 2564 โดยเบื้องต้นจะติดตั้ง 2 ไลน์การผลิต มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 36,000 ตันต่อปี จะเริ่มรับรู้รายได้จากการผลิตเต็มปีในปี 2565 และในอนาคตจะเพิ่มอีก 2 ไลน์การผลิต เพื่อให้เต็มความจุที่ 4 ไลน์ผลิต จะทำให้ในอนาคตโรงงานแห่งใหม่ดังกล่าวจะมีกำลังการผลิตรวม 72,000 ตันต่อปี ส่วนโรงงานที่ปากีสถาน มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 7,000 ตันต่อปี ในปี 2565 จะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีก 7,000 ตันต่อปี ส่งผลให้มีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 14,000 ตันต่อปี

ส่วนโรงงานในประเทศ บริษัทฯมีโรงงานผลิตสินค้า 2 แห่ง คือ (1) โรงงานมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร และ (2) โรงงานระโนด อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา มีกำลังการผลิตรวม 273,000 ตันต่อปี เป็นสายการผลิตแบบอัตโนมัติและกึ่งอัตโนมัติที่มีระบบการควบคุมและสั่งงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ สามารถติดตามข้อมูลในการผลิตระหว่างกระบวนการผลิตได้ทันที (Real time) ทั้งนี้ TFM มีกลุ่มลูกค้าหลัก คือ ร้านค้าจำหน่ายอาหารสัตว์ และฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์

ในอนาคต 3 ปีข้างหน้า (2567) บริษัทคาดว่ายอดขายในประเทศยังมีการเติบโตอยู่ที่ 5-10% ในต่างประเทศจะเริ่มมีการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง จากการขยายการเติบโตตามแผน ซึ่งคาดว่าในปี 2565-2567 จะมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 10% , 15% และ20% ตามลำดับ จากปัจจุบันอยู่ที่ 3% ของรายได้รวมทั้งหมด และในอนาคตมีเป้าหมายที่จะทำให้สัดส่วนรายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศอยู่ในระดับที่เท่ากัน 50 : 50

“การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นับเป็นอีกก้าวความสำเร็จและความภาคภูมิใจ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจของ TFM ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะตลาดในประเทศไทยเท่านั้น เรายังมีการขยายธุรกิจไปยังประเทศที่อุตสาหกรรมสัตว์น้ำมีศักยภาพในการเติบโตสูง ผ่าน Model ธุรกิจที่เหมาะสมกับแต่ละประเทศ เช่น การส่งออก เช่น ศรีลังกา มาเลเซีย บังคลาเทศ และพม่า เป็นต้น , การเข้าทำสัญญาความร่วมมือกับ AVANTI ซึ่งเป็นผู้นำการผลิตอาหารสัตว์น้ำในประเทศอินเดีย โดยการใช้ชื่อทางการค้าและสูตรการผลิตของ TFM ในการขายสินค้าในประเทศอินเดีย และการเข้าร่วมลงทุนกับพันธมิตร จัดตั้งบริษัทย่อยในประเทศอินโดนีเซียและปากีสถาน จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของรายได้และกำไรของบริษัทฯ ในช่วง 3 – 5 ปีข้างหน้า” นายบรรลือศักร กล่าว

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TFM กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ มีกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินธุรกิจที่สำคัญ 3 แนวทาง ได้แก่ (1) รักษาและพัฒนาความเป็นผู้นำในการผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศ ผ่านความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจ พร้อมช่วยสนับสนุนการเติบโตของลูกค้าฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น การให้วงเงินการซื้อสินค้าและระยะเวลาการให้สินเชื่อที่เหมาะสม, ศึกษาข้อมูล ช่วยแก้ไขปัญหา ให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างเหมาะสม, พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและพัฒนาสายพันธุ์ลูกกุ้งที่มีคุณภาพ, นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และแสดงให้เห็นถึงคุณภาพและความคุ้มค่า (Proof of Performance) ของผลิตภัณฑ์

(2) พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และประสิทธิภาพการผลิตตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ผ่านการมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และสูตรอาหาร รวมถึงสูตรอาหารสำหรับสัตว์น้ำชนิดใหม่ เพื่อส่งเสริมให้มีสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น อาหารปลากะพงยักษ์ ปลาเก๋า อาหารปลาสลิด อาหารปู และปลากดคัง เป็นต้น พร้อมพัฒนาสูตรอาหารโดยใช้วัตถุดิบใหม่ เพื่อลดการพึ่งพิงวัตถุดิบประเภทใดประเภทหนึ่ง เช่น การใช้โปรตีนจากพืช และการพัฒนาสูตรการผลิตที่ลดปริมาณการใช้น้ำมันปลา เป็นต้น และ (3) ขยายฐานลูกค้าไปยังประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโต โดยมีปัจจัยสำคัญในการพิจารณา ได้แก่ ความเป็นไปได้ของการลงทุน อัตราผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ ความเสี่ยงและแนวทางการบริหารหรือลดความเสี่ยง ทั้งนี้ บริษัทฯ จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นสูงสุด

ส่วนผลประกอบการในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทมีรายได้รวม 2,370.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,964.6 ล้านบาท ผลประกอบการเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นจากปีก่อนที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และในปัจจุบันก็เริ่มเห็นทิศทางธุรกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยบริษัทยังคงมองหาการเพิ่มอาหารสัตว์ประเภทอื่นๆ อาทิ อาหารสัตว์บก และอาหารปลาชนิดอื่นๆ เข้ามาทดแทนยอดขายของอาหารสัตว์น้ำบางส่วนที่โดนผลกระทบโควิด-19