HoonSmart.com>>ธปท.วาง 3 แนวทาง “มีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินดิจิทัล-สร้างสภาพแวดล้อมการแข่งขันอย่างเท่าเทียม -พัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกัน” รับมือเศรษฐกิจดิจิทัล สร้างการเข้าถึงสินเชื่อ ลดต้นทุนทางการเงิน ย้ำยกระดับรับมือภัยไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถถาพิเศษ ในงาน Bangkok FinTech Fair 2021: Shaping Digital Finance in the New Decade หัวข้อ “A New Decade of Opportunities” เกี่ยวกับการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกิดขึ้น โดยธปท.จะดำเนินการ 3 แนวทางสร้างภูมิทัศน์หรือ Landscape ของระบบการเงินไทยในระยะต่อไป ได้แก่
แนวทางที่ 1 การมีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินดิจิทัลที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม โดยต้องเปิดกว้างให้ผู้ให้บริการทั้งรายเดิมและรายใหม่เข้ามาต่อยอดบริการทางการเงินและแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อลดต้นทุน และทำให้ Infrastructure ที่สร้างขึ้นเชื่อมโยงกันได้ เช่น การพัฒนาเงินบาทดิจิทัล หรือ CBDC ก็จะเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มทางเลือกสำหรับประชาชนและธุรกิจให้เข้าถึงเงินดิจิทัลที่ปลอดภัย
แนวทางที่ 2 การสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับการแข่งขันอย่างเท่าเทียม โดยการปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของผู้เล่นรายเดิมและการเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นรายใหม่
แนวทางที่ 3 การพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกันได้ เพื่อให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูล และนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ สำหรับในภาคการเงินไทย การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการทางการเงินต่าง ๆ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำถูกต้องในการวางนโยบาย การบริหารความเสี่ยง และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า
ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า ในมุมของประชาชน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการดังกล่าวจะช่วยทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินที่ตรงกับความต้องการรายบุคคลมากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้รับความสะดวกในการใช้บริการทางการเงิน เช่น สามารถทำธุรกรรมโดยไม่ต้องไปที่สาขาธนาคาร จากการยืนยันตัวตนข้ามหน่วยงานผ่านโครงสร้างพื้นฐาน digital ID และการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการผ่านการใช้มาตรฐาน APIs ร่วมกัน ซึ่งจะช่วยลดเวลาและต้นทุนในการทำธุรกรรม
ในมุมผู้ประกอบธุรกิจ การเร่งให้นำเทคโนโลยีมาพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน จะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานจากการลดขั้นตอน ลดความผิดพลาด ลดเวลาในการให้บริการ รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้นจากการให้บริการช่องทางดิจิทัล และการเข้าถึงข้อมูลที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า
ในมุมของผู้ให้บริการทางการเงิน การสนับสนุนให้มีการพัฒนาและใช้โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลร่วมกัน เช่น โครงการ Smart financial and payment infrastructure และโครงการอื่น ๆ จะส่งเสริมให้มีการพัฒนานวัตกรรม ตลอดจนการปรับปรุงกฎเกณฑ์การกำกับดูแลของ ธปท. ที่จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น จะช่วยลดต้นทุนและเอื้อให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกัน
“ทั้งนี้สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องกล่าวถึงคือความเสี่ยงที่มาพร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยี ทั้งภัยไซเบอร์และการหลอกลวงที่มีจำนวนมากและหลากหลายรูปแบบ ธปท. จึงยังคงให้ความสำคัญกับการยกระดับความสามารถให้การป้องกันและรับมือกับภัยไซเบอร์ของผู้ประกอบการทางการเงินอย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานสากล รวมทั้งการให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้ใช้บริการในการระวังป้องกันตัวเอง” ผู้ว่าการธปท.ย้ำ