ดาวโจนส์ปิดลบ 117 จุด รอข้อมูลเงินเฟ้อ ผลการดำเนินงาน Q3

HoonSmart.com>>ดาวโจนส์ปิดลบ 117 จุด ตลาดอยู่ในช่วง wait-and-see รอข้อมูลเงินเฟ้อ ผลการดำเนินงาน Q3 การรายงานผลการประชุมล่าสุดของเฟด จับตาแผนการถอนมาตรการทางการเงิน

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ วันที่ 12 ตุลาคม 2564 ปิดที่ 34,378.34 จุด ลดลง 117.72 จุด หรือ 0.34% หลังจากตลอดทั้งวันการซื้อขายทรงตัวก่อนที่จะมีแรงขายในช่วงท้ายตลาด ขณะที่นักลงทุนรอข้อมูลเงินเฟ้อและการรายงานผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน

ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 4,350.65 จุด ลดลง 10.54 จุด, -0.24%

ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,465.93 จุด ลดลง 20.28 จุด, -0.14%

นักวิเคราะห์จากแบงก์ ออฟอเมริกา ระบุว่า ตลาดอยู่ในช่วง wait-and-see เพื่อรอข้อมูลเศรษฐกิจหลายตัวในสัปดาห์นี้ ทั้งดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนกันยายน รายงานการประชุมล่าสุดของคณะกรรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลาง และการรายงานผลประกอบการไตรมาสสามปี 2564

ดัชนี CPI จะมีการเผยแพร่วันพุธนี้ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3% จากเดือนสิงหาคมและเพิ่มขึ้น 5.3% จากระยะเดียวกันของปีก่อน และเฟดจะเผยแพร่รายงานการประชุมเดือนกันยายน ซึ่งนักลงทุนจะศึกษาเพื่อหาตัวบ่งชี้แผนการถอนมาตรการทางการเงิน

นอกจากนี้เจพีมอร์แกน เชส และเดลต้าแอร์ไลน์จะเปิดเผยผลประกอบการไตรมาสสามในวันพุธนี้ ส่วนโกลด์แมน แซคส์ แบงก์ ออฟ อเมริกา มอร์แกน สแตนเล่ย์ เวลส์ ฟาร์โก และซิตี้ กรุ๊ป จะรายงานในสัปดาห์นี้

หุ้นเจพีมอร์แกน ลดลง 0.77% หุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา ลดลง 0.55% หุ้นเวลส์ ฟาร์โก ลดลง 1.33%

นักวิเคราะห์จาก E-Trade Financial ระบุว่า มีหลายปัจจัยที่จะต้านการปรับขึ้นของตลาด ขณะที่การรายงานผลประกอบการไตรมาสสามกำลังเริ่มขึ้น และนักลงทุนจะมองหาปัจจัยชี้นำโดยเฉพาะตัวที่จะชี้การชะลอตัวของเศรษฐกิจ

Refinitiv คาดว่าผลกำไรไตรมาสสามของบริษัทจดทะเบียนจะเติบโต 30% จากระยะเดียวกันของปีก่อน หลังจากที่สูงขึ้น 96.3% ในไตรมาสสอง

นักวิเคราะห์จาก UBS Private Wealth Management ระบุว่า การคาดการณ์ผลการดำเนินงานไตรมาสสามลดลงเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งหากเพิ่มมากขึ้นกว่านี้ก็จะมีผลบวกต่อตลาด

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกลงมา 0.1% มาที่ 5.9% ส่วนปีหน้าคงไว้ที่4.9% โดยเป็นผลจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานและการระบาดของไวรัสโควิดที่ยังคงอยู่

กีตา โกปินาท นักเศรษฐศาสตร์ IMF ระบุว่า การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานโลกมีผลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อที่ค่อนข้างสูงและความเสี่ยงทางการเงินก็สูงขึ้น ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

IMF ชี้ว่าธนาคารกลางรวมทั้งเฟด ควรมีเตรียมพร้อมที่จะใช้มาตรการเงินเข้มงวดเพื่อรับมือในกรณีที่เงินเฟ้อร้อนแรงเกินไป

กระทรวงแรงงานรายงานผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนสิงหาคมว่า ลดลงมาที่ 10.4 ล้านตำแหน่ง ต่ำกว่า 10.9 ล้านตำแหน่งที่นักวิเคราะห์คาด

ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง โดยกลุ่มเฮลธ์แคร์ กลุ่มค้าปลีก และกลุ่มทรัพยากรพื้นฐานต่างลดลง 0.5% นักลงทุนจับตาภาวะเงินเฟ้อ สถานการณ์ห่วงโซ่อุปทานโลก อัตราผลตอบแทนพันธบัตรและท่าทีนโยบายการเงินของธนาคารกลาง

ในอังกฤษการจ้างงานเดือนกันยายนเพิ่มขึ้น 207,000 ตำแหน่ง

ในเยอรมนีสถาบัน ZEW รายงานผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลงเป็นเดือนที่ 5 โดยลดลงมาที่ 22.3 จุดต่ำกว่า 24.0 ที่นักวิเคราะห์คาด

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 457.21 จุด ลดลง 0.32 จุด, -0.07%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,130.23 จุด ลดลง 16.62 จุด, -0.23%
ดัชนี CAC 40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,548.11 จุด ลดลง 22.43 จุด, -0.34%
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,146.87 จุด ลดลง 52.27 จุด, -0.34%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้น 12 เซนต์ หรือ 0.2% ปิดที่ 80.64 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือน ลดลง 23 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 83.42 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล