HoonSmart.com>> “เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล” หุ้นลิสซิ่งน้องใหม่ ตั้งราคาขาย IPO หุ้นละ 1.95 บาท คิดเป็น P/E 29 เท่า เปิดจองวันที่ 6-8 ต.ค.นี้ คาดเข้าเทรด SET วันที่ 19 ต.ค. ระดมทุนขยายธุรกิจให้บริการสินเชื่อ-ขยายสาขา-พัฒนาระบบ IT -ชำระคืนเงินกู้ ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อรวมแตะ 14,800 ล้านบาทภายในปี 66
นายพงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ของบริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล (HENG) เปิดเผยว่า HENG เตรียมเสนอหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 800,837,300 หุ้น ในราคาหุ้นละ 1.95 บาท อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (P/E) ที่ 29 เท่า มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท เปิดให้จองซื้อหุ้นระหว่างวันที่ 6-8 ต.ค.นี้ และคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 19 ต.ค.2564
” นักลงทุนสถาบันแสดงความต้องการซื้อหุ้นเกินกว่าจำนวนหุ้นที่จัดสรร สัดส่วน 35% และนักลงทุนรายย่อยอีก 65% ซึ่งราคาเสนอขายสะท้อนพื้นฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง จากการเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อรายใหญ่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ และกลยุทธ์ที่โดดเด่นจะช่วยผลักดันให้ HENG เติบโตอย่างก้าวกระโดด และยั่งยืนในอนาคต” นายพงศ์ศักดิ์ กล่าว
ด้านนายวิชัย ศุภสาธิตกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล (HENG) ผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อรายใหญ่ในภาคเหนือภายใต้แบรนด์ ‘เฮงลิสซิ่ง’ เปิดเผยว่า การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในแผนงานสำคัญของ HENG ที่จะช่วยเสริมศักยภาพการเติบโตอย่างยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ในระยะยาวที่ได้วางเป้าหมายไว้
“HENG เกิดขึ้นจากการนำพันธมิตร 4 กลุ่มมารวมกัน ซึ่งแต่ละรายเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อรายใหญ่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ที่มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 20 ปี และมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ เมื่อนำเข้ามารวมกันจึงสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน โดยมีเป้าหมายที่จะขยายการให้บริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และตอบโจทย์ต่อลูกค้าทุกกลุ่ม ส่วนเรื่องการแข่งขัน เราไม่ห่วง เนื่องจากเรามีความรู้ ที่เฉพาะเจาะจง, ความเข้าใจลูกค้า และความสามารถในการเข้าถึงแหล่งชุมชน ทำให้เรามีความได้เปรียบด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้” นายวิชัย กล่าว
นางสุธารทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร HENG เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์ของการใช้เงินระดมทุนว่า บริษัทจะนำไปใช้ในการขยายธุรกิจให้บริการสินเชื่อ , ขยายสาขา และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ประมาณ 1,014.80-1,134.80 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายที่จะขยายสาขาให้ครบ 830 สาขาภายในปี 2566 จากสิ้นไตรมาส 2/2564 มีสาขาอยู่ 451 สาขา และนำเงินไปชำระคืนเงินกู้ยืมบางส่วนจากสถาบันการเงินประมาณ 300-400 ล้านบาท รวมถึงนำไปลงทุนพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอีกประมาณ 70-90 ล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ทั้งนี้บริษัทมีเป้าหมายในปี 2566 ที่จะมีพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ระดับ 14,800 ล้านบาท เติบโตปีละ 28% จากสิ้นไตรมาส 2 อยู่ที่ 8,420 ล้านบาท โดยเติบโตจาก 4 กลยุทธ์ ได้แก่ 1.สร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ที่ตอบสนองลูกค้าทุกกลุ่มและทุกราย 2.บริหารจัดการความเสี่ยงต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ 3.ขยายเครือข่ายและปล่อยสินเชื่อในพื้นที่ที่มีศักยภาพเติบโตสูง และ 4.นำระบบเทคโนโลยีเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ
นอกจากนี้ ส่วนสำคัญในการสร้างการเติบโต คือ บริษัทมีแผนที่จะมุ้งเน้นเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เนื่องจากปริมาณรถยนต์ในตลาดมีค่อนข้างมาก และยังมีผู้ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอยู่มา ลูกค้าส่วนหนึ่งจะมาจากกลุ่มเดิมที่เคยใช้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสอง โดยตั้งเป้าสัดส่วนพอร์ตในปี 2566 จะมีสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเพิ่มขึ้นเป็น 48% ของพอร์ตสินเชื่อรวม จากเดิมปัจจุบันอยู่ที่ 27% ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถมือสองที่เคยเป็นสัดส่วนหลัก จะลดลงอยู่ที่ 37% จากปัจจุบันอยู่ที่ 65% แต่ยอดหนี้คงค้างยังมีการเติบโต รวมถึงในปี 2566 ตั้งเป้าที่จะควบคุม NPLs ไม่เกิน 2.9% จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.7%
ขณะที่เป้าหมายการปล่อยสินเชื่อใหม่ในปี 2564 อยู่ที่ 6,000 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ 3,000 ล้านบาท ในปี 2565 ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 8,000 ล้านบาท และปี 2566 ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 12,000 ล้านบาท เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายพอร์ตสินเชื่อรวมที่วางไว้ จากปัจจุบันมีจำนวนสัญญารวมของทุกผลิตภัณฑ์ประมาณ 830,000 สัญญา
ในงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ทำให้บริษัทฯ เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ขณะเดียวกันก็มีมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งมีการปรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อประจำปี ทำให้พอร์ตสินเชื่อรวมสุทธิก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ/ ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพิ่มขึ้นจากปี 2563 เล็กน้อยเป็น 8,420 ล้านบาท โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 765.2 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 109.1 ล้านบาท
ผลประกอบการในช่วง 3 ปีย้อนหลัง (2561-2563) บริษัทฯ ขยายพอร์ตสินเชื่อรวมสุทธิก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ/ ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คิดคาดว่าจะเกิดขึ้น จาก 7,617 ล้านบาท เพิ่มเป็น 8,038 ล้านบาท และ 8,277 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 4.2%ต่อปี โดยมีรายได้จากดอกเบี้ยอยู่ที่ 1,239 ล้านบาท 1,557 ล้านบาทและ 1,450 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งสินเชื่อเช่าซื้อในกลุ่มสินเชื่อที่มีหลักประกัน เป็นพอร์ตทรายได้หลัก ขณะที่กำไรสุทธิปี 2561-2563 เติบโตเฉลี่ยประมาณ 44.6% ต่อปี หรือ ทำได้ 152 ล้านบาท 189 ล้านบาท และ 318 ล้านบาท ตามลำดับ
“เรามุ่งพัฒนาขีดความสามารถในการให้บริการสินเชื่อ เพื่อสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนแก่ลูกค้า ด้วยวิสัยทัศน์เป็นผู้ให้บริการทางการเงินที่นิยมชมชอบของลูกค้าในแต่ละท้องถิ่น เพื่อก้าวสู่หนึ่งในผู้นำการให้บริการสินเชื่อที่ครบวงจรในประเทศไทย โดยพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการขยายสาขาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ภายใต้แนวคิด ‘ใคร ๆ ก็กู้ได้’ พร้อมควบคุมบริหารหนี้ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน” นางสุธารทิพย์ กล่าวทิ้งท้าย