เปิดตัวแก๊ง 4 โมงเย็น

ตลาดหลักทรัพย์เฉลยแก๊ง 4 โมงเย็น เกิดจากปัจจัยตลาดต่างประเทศชี้นำการตัดสินใจของนักลงทุนไทย แรงซื้อขายเฮโลไปในทิศทางเดียวกันทำดัชนีผิดปกติ

นักลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มเดย์เทรด ต้องลุ้นระทึกทุกวัน โดยเฉพาะช่วงใกล้เวลา 4 โมงเย็น เพราะคาดการณ์ไม่ได้เลยว่าวันนี้จะมีแรงถล่มขายยับเยิน หรือมีแรงไล่ซื้อหุ้นจนพลาดโอกาสทำกำไร

ความผิดปกติของตลาดหุ้นไทย ที่มาเนิ่นนาน และมีการพูดกันไปต่างๆนานาว่ามีแก๊ง 4 โมงเย็น ทำหน้าที่ทุบหุ้น จนทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั่งไม่ติด ต้องเข้าไปทำการตรวจสอบในเชิงลึกว่า แก๊ง 4 โมงเย็น มีจริงหรือไม่ และเขาคือใครกันแน่

ผลสรุปจากการตรวจสอบรายการซื้อขายในช่วงที่ตลาดหุ้นผิดปกติ เน้นประมวลผลข้อมูลตอนครึ่งชั่วโมงสุดท้ายก่อนปิดตลาด สรุปว่าไม่พบว่ามีนักลงทุนกลุ่มใดเข้าไปสร้างความปั่นปรวนของตลาด เป็นเพียงการซื้อหรือขายของนักลงทุนรายบุคคล หรือนักลงทุนบางประเภทเท่านั้น โดยข้อมูลที่ได้รับ ตลาดฯไม่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของนักลงทุนกลุ่มนี้เลย เป็นเพียงการตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้นไปในทางเดียวกันเท่านั้น แรงซื้อหรือแรงขายมหาศาล จนสามารถพลิกภาวะตลาดหุ้นจากบวกเป็นติดลบได้ หรือจากติดลบแดงเถือกกลายมาปิดเขียวได้เช่นเดียวกัน

“พูดกันไปได้ ไม่มีหรอกแก๊ง 4 โมงเย็น เกิดจากนักลงทุนเลือกตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้นมากในช่วงเวลานั้นเพราะมีเหตุผลสนับสนุน”

เขายกตัวอย่างว่า ตอนเวลาประมาณ 4 โมงเย็น เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นเอเซียหลายแห่งกำลังปิดทำการ และช่วงเวลาใกล้เคียงกับตลาดหุ้นฝั่งยุโรปทยอยเปิดซื้อขาย ขณะที่ตลาดมีข้อมูลความเคลื่อนไหวของดัชนีดาวโจนส์ล่วงหน้า เมื่อนักลงทุนนำข้อมูลเหล่านั้นมาประกอบการตัดสินใจหรือชี้นำตลาด ก็มีผลต่อภาพตลาดโดยรวม

“นักลงทุนต้องการเก็งกำไรเท่านั้น หากวันนั้นดัชนีดาวโจนส์ล่วงหน้าดีดขึ้นแรง ก็พร้อมใจกันเข้าไปซื้อหุ้นกลับบ้าน เพื่อรอไปขายตอนเปิดตลาดของวันรุ่งขึ้น เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่ตลาดจะสดใส ซึ่งจะได้กำไรค่อนข้างแน่นอน แต่ในทางกลับกัน ถ้าดาวโจนส์ล่วงหน้าทรุดลง นักลงทุนก็จะรีบทิ้งหุ้นเพื่อลดความเสี่ยง รอไปหาจังหวะซื้อในวันรุ่งขึ้น ซึ่งจะได้ราคาที่ต่ำกว่าที่ขายทิ้งไปเมื่อวานนี้”

ความเห็นของผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตรงกับมุมมองของผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ เพียงแต่โบรกเกอร์เพิ่มปัจจัยที่กดดันดัชนีหุ้นในครึ่งชั่วโมงสุดท้าย ก็คือการบังคับขายหุ้น(ฟอร์ซเซล)หรือการวางหลักประกันเพิ่มเติม สำหรับลูกค้าที่ซื้อขาย อนุพันธ์ หรือการลงทุนผ่านบล็อกเทรด โดยมีหุ้นขนาดใหญ่เป็นสินค้าอ้างอิง

ในกรณีราคาหุ้นอ้างอิงทรุดหนักๆ โบรกเกอร์จะให้เวลาลูกค้าตัดสินใจภายในระยะเวลา 15.30 น. หากไม่ใส่เงินเข้าไปเพิ่ม ก็จะถูกฟลอร์ซเซลตามเกณฑ์ หลายครั้งลูกค้ายอมตัดสินใจขายเอง เพราะเชื่อว่าจะขาดทุนน้อยกว่าการถูกบังคับขาย เมื่อแรงขายออกมามากย่อมกระทบกับราคาหุ้นอ้างอิงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหุ้นที่อนุพันธ์ใช้อ้างอิงเป็นหุ้นขนาดใหญ่ ราคาขึ้นลงจะมีผลต่อภาพตลาดหุ้นโดยรวม

นอกจากนั้นบริษัทหลักทรัพย์ยังมีบทบาท เป็นนักลงทุน พอร์ตบริษัทหลายแห่งนิยมเก็งกำไรสั้นๆ ก็จะตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้นโดยพิจารณาภาวะตลาดเป็นสำคัญ จึงไม่แปลกใจที่บางวันพอร์ตโบรกเกอร์เป็นผู้ขายสุทธิสูงมาก

ขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.)ก็มีผลต่อดัชนีหุ้นในช่วงใกล้ปิดตลาดเช่นกัน เนื่องจากนักลงทุนที่นำเงินมาซื้อหรือขายหน่วยลงทุน หากวันนั้นมีแรงซื้อเข้ามามาก บลจ. มักจะไม่ถือเงินสดไว้ข้ามคืน ส่วนใหญ่จะเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นไว้ ยกเว้นว่าตลาดหุ้นมีทิศทางไม่ดีมาก อาจจะไม่ต้องรีบซื้อหุ้น

“กองทุนจะให้เวลาลูกค้าซื้อหรือขายหน่วยลงทุนตอนประมาณ 15.30 น. บลจ.มีเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในการตัดสินใจในการลงทุน หากวันนั้นลูกค้ามาขายหน่วยลงทุนเยอะ ก็อาจจะเป็นต้องขายหุ้น เพื่อเตรียมเงินไว้คืนนักลงทุน แต่ในทางกลับกันหากมาซื้อหน่วยลงทุนเยอะ กองทุนก็ไม่ต้องการถือเงินสดเยอะๆ ต้องเข้ามาซื้อหุ้นไว้บ้าง และยิ่งตลาดหุ้นต่างประเทศสดใส เป็นใจ กล้าซื้อมากยิ่งขึ้น ไม่ว่ากองทุนซื้อหรือขายหุ้น มีผลต่อภาพตลาดหุ้นโดยรวม ”

เมื่อรวบรวมปัจจัยเหล่านี้ย่อมมีผลกระทบต่อแรงซื้อแรงขายหุ้นในช่วง 4 โมงเย็นของทุกวันบ่อยครั้ง เพราะพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนของแต่ละประเภท