ส่องกองทุนหุ้นไทย 9 เดือนปี 64 “หุ้นขนาดกลาง-เล็ก” ผลตอบแทนสูงสุด 42%

HoonSmart.com>> ส่องผลงาน “กองทุนหุ้นไทย” รอบ 9 เดือน ปี 64 “กลุ่มหุ้นขนาดกลางและเล็ก” ทำได้ดีกว่ากลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ “กองทุนทาลิส MID-SMALL CAP หุ้นทุน” แชมป์ 42.08% เปิดพอร์ตถือหุ้น FSMART-JMT-SO-SIS-WICE สูงสุด ด้านกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ “กองทุนเอ็มเอฟซี โฟกัส อิควิตี้” ทำได้สูงสุด 29.41% พบ 5 หุ้นอันดับแรกถือ KBANK-BANPU-PTT-SINGER-TTA ฟากบลจ.เอ็มเอฟซี ชี้ “หุ้นกลางและเล็ก” สะสมกำไรตั้งแต่ต้นปีหลายตัวราคาเริ่มแพง แนะเพิ่มน้ำหนักหุ้นใหญ่ มองแนวโน้มหุ้นไตรมาสสุดท้ายดัชนีแกว่ง จับตาเฟด คงเป้าดัชนีสิ้นปี 1,650 จุด

สำนักข่าว “HoonSmart” สำรวจผลการดำเนินงานของกองทุนหุ้นไทยรอบ 9 เดือนแรกปี 2564 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา จากข้อมูลบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) พบกลุ่มกองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็ก (Equity Mid-Small Cap) ยังคงสร้างผลตอบแทนได้โดดเด่นเหนือกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large Cap) โดยกองทุนที่ทำผลตอบแทนได้สูงสุดอยู่ที่ 42.08% และน้อยสุดทำได้ไม่ถึง 5% จากจำนวนกองทุนทั้งหมด 95 กองทุน

ทั้งนี้ เมื่อเทียบดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ปิดที่ 1,605.68 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 156.33 จุด หรือ 10.79% จากสิ้นปี 2563 ขณะที่ดัชนีผลตอบแทนรวม (Total Return Index หรือ TRI) อยู่ที่ 14.59%

กองทุนเปิดทาลิส MID-SMALL CAP หุ้นทุน (TLMSEQ) สร้างผลตอบแทนได้สูงสุดในกลุ่มกองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็กและสูงสุดในกลุ่มกองทุนหุ้นไทยทำได้ 42.08% และผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปีสูงถึง 60.90% อันดับสอง กองทุนเปิดกรุงศรีไทยสมอล-มิดแคปอิควิตี้ (KFTHAISM) อยู่ที่ 41.42% อันดับสาม กองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นระยะยาวไทยสมอล-มิดแคปปันผล (KFLTFTSM-D) อยู่ที่ 40.49% อันดับสี่ กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี มิด สมอล แค็ป หุ้นระยะยาว ชนิดเพื่อการลงทุน (MIDSMALLMF) 40.12% และอันดับห้า กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี มิด สมอล แค็ป หุ้นระยะยาว (MIDSMALLLTF) 40.11%

เปิดพอร์ต TLMSEQ ถือหุ้น FSMART-JMT-SO-SIS-WICE สูงสุด

ด้านพอร์ตกองทุนเปิดทาลิส MID-SMALL CAP หุ้นทุน (TLMSEQ) ซึ่งสร้างผลตอบแทนสูงสุดในกลุ่ม มีการลงทุน 5 อันดับแรกในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ 30.36% กลุ่มเทคโนโลยี 24.62% กลุ่มธุรกิจการเงิน 12.06% กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 6.36% กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร โดย 5 อันดับหุ้นที่ลงทุนสูงสุด ได้แก่ หุ้นบริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART) 7.58% หุ้นบริษัท เจ เอ็ม ทีเน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) 6.92% หุ้นบริษัท สยามราชธานี (SO) 6.34% หุ้นบริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) หรือ SIS 6.00% และหุ้นบริษัท ไวส์โลจิสติกส์ (WICE) 5.39% ข้อมูล ณ วันที่ 31 ส.ค.2564

สำหรับกองทุนกลุ่มขนาดใหญ่ทั้งหมด 363 กองทุน ทำผลตอบแทนได้สูงสุด 29.41% และต่ำสุดทำได้เพียง 3.11% โดย 5 อันดับกองทุนที่ทำผลตอบแทนได้สูงสุด ได้แก่ กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี โฟกัส อิควิตี้ (M-FOCUS) อยู่ที่ 29.41% และยังสร้างผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 46.05% รองลงมา กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี แอคทิฟ อิควิตี้ ฟันด์ (M-Active) 26.58% อันดับสาม กองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นระยะยาวแอ็คทีฟ SET50 ปันผล (KFLTFA50-D) 24.97% อันดับสี่ กองทุนเปิดแอล เอช สมาร์ท หุ้นระยะยาวชนิดจ่ายเงินปันผลและสิทธิประโยชน์ทางภาษี (LHSMARTLTF-D) 24.72% และกองทุนแอล เอช สมาร์ท หุ้นระยะยาวชนิดสะสมมูลค่า (LHACTLTF-A) 23.74%

M-FOCUS ลงทุน 5 หุ้นสูงสุด KBANK-BANPU-PTT-SINGER-TTA

กองทุน M-FOCUS ที่ทำผลตอบแทนได้สูงสุดในกลุ่ม จะเน้นลงทุนหุ้นไม่เกิน 30 บริษัท พอร์ตการลงทุนอยู่ในกลุ่มพลังงานสูงสุด 20.23% กลุ่มธนาคาร 13.56% กลุ่มขนส่ง 11.91% กลุุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ 10.12% และกลุ่มพาณิชย์ 8.68% ขณะที่ 5 อันดับหุ้นที่ลงทุนสูงสุด ได้แก่ หุ้นธนาคารกสิกรไทย (KBANK) สัดส่วน 7.97% อันดับสอง หุ้นบริษัท บ้านปู (BANPU) สัดส่วน 6.38% อันดับสาม หุ้นบริษัท ปตท. (PTT) สัดส่วน 6.21% อันดับสี่ หุ้นบริษัทซิงเกอร์ (ประเทศไทย) หรือ SINGER สัดส่วน 5.02% และอันดับห้า หุ้นบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) สัดส่วน 4.99% ข้อมูล ณ วันที่ 31 ส.ค.2564

ชาคริต พืชพันธ์

นายชาคริต พืชพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายบริหารกองทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี (MFC) เปิดเผย “HoonSmart” ว่า ภาพรวมการลงทุนในช่วง 6 เดือนแรกหุ้นขนาดกลางและเล็กสร้างผลตอบแทนได้ดีมาตั้งแต่ต้นปี ในขณะที่หุ้นขนาดใหญ่เริ่มปรับตัวได้ดีช่วงเดือนมิ.ย.และปรับฐานลงก่อนปรับขึ้นอีกครั้งช่วงเดือนก.ย.ที่ผ่านมา แต่ผลตอบแทนโดยรวมยังน้อยกว่าหุ้นขนาดกลางและเล็กที่ทำผลตอบแทนสะสมได้ต่อเนื่อง

สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 นี้ มองดัชนี Sideways ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการลงทุน คือ การปรับลด QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จึงต้องจับตาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปีหากแตะระดับ 2% อาจฉุดหุ้นทั่วโลกและหุ้นไทยปรับฐาน มองแนวรับ 1,520 จุด ซึ่งเป็นระดับที่ทำไว้เดือนส.ค.ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันยังคงเป้าหมายดัชนีหุ้นสิ้นปีนี้อยู่ที่ 1,650 จุด

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทอ่อนเป็นอีกปัจจัยทำให้นักลงทุนต่างชาติยังไม่เข้ามาลงทุนมากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงการท่องเที่ยว อาจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวทำให้นักลงทุนต่างชาติยังไม่สนใจเข้ามาลงทุน

นายชาคริต กล่าวว่า แม้ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไตรมาส 3/64 อาจออกมาไม่ดี เพราะมีการล็อกดาวน์ในประเทศ แต่เรามองตลาดรับรู้ข่าวแล้วและมองข้ามไปปี 2565 การลงทุนจึงเน้นเลือกหุ้นรายตัวที่ราคายังปรับตัวขึ้นไม่มากหรือหุ้นที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี อาจเน้นหุ้นขนาดใหญ่มากขึ้น เนื่องจากหุ้นขนาดกลางและเล็กราคาปรับตัวขึ้นมามาก จึงต้องเน้นเลือกรายตัว อีกทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวหนุนหุ้นวัฎจักรเติบโต โดยกลุ่มที่น่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี แก๊ส หุ้นได้ประโยชน์จากการเปิดเมือง รวมทั้งติดตามหุ้นกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อหลังธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ว่าจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน แม้กลุ่มลูกค้าอาจไม่ได้ทับกันโดยตรงก็ตาม

“กลยุทธ์การบริหารจัดการกองทุนหุ้น MFC มีการปรับพอร์ตให้เหมาะสมกับสภาสะตลาดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นเกือบเต็มพอร์ตและหากหุ้นไหนราคาขึ้นสูงกว่ามูลค่าก็อาจขายทำกำไรและเลือกซื้อหุ้นที่ยังปรับตัวขึ้นไม่มากในจังหวะราคาอ่อนตัวลง “นายชาคริต กล่าว