NOK เล็งกู้เงิน-เพิ่มทุน 4.6 พันล. ชูกลยุทธ์ “สายการบินพรีเมี่ยม”

HoonSmart.com>> “สายการบินนกแอร์” เริ่มแผนฟื้นฟูกิจการวันแรก หลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว  เตรียมเพิ่มสภาพคล่องในปี 65  ขอวงเงินกู้ 280 ล้านบาท  ปี’66 เพิ่มทุน 600 ล้านบาท  ปี’69 ระดมอีก 4,000 ล้านบาท ปรับกลยุทธ์เพิ่มรายได้ ผันตัวเองสู่สายการบินพรีเมี่ยม ปีนี้นำเข้าเครื่องบินใหม่อีก 6 ลำ  ขยายเส้นทางการบินใหม่ทั้งในประเทศ-ต่างประเทศ หวังครึ่งหลังปี’65 เส้นทางการบินต่างประเทศเริ่มฟื้น 

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ (NOK) เปิดเผยว่า ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นกิจการของบริษัทเป็นเรียบร้อยแล้ว ในวันที่ 29 ก.ย.2564ที่ผ่านมา ซึ่งทางผู้จัดทำแผนฟื้นฟูมีแผนการจัดหาสภาพคล่อง  โดยในปี 2565 คาดว่าจะจัดหาวงเงินกู้ยืมประมาณ 280 ล้านบาท ในปี 2566 คาดว่าจะเพิ่มทุนจำนวน 600 ล้านบาท และในปี 2569 คาดว่าจะเพิ่มทุนอีก 4,000 ล้านบาท

บริษัทได้ปรับกลยุทธ์เพื่อสร้างรายได้ให้มีการเติบโตมากขึ้น โดยการปรับรูปแบบธุรกิจสู่สายการบินพรีเมี่ยม มุ่งเน้นการนำเสนอบริการที่มีคุณภาพ และการเพิ่มบริการต่างๆให้กับลูกค้ามากขึ้น อาทิ การจับมือกับแบรนด์ร้านค้าอื่นๆ นำผลิตภัณฑ์มาเสริฟให้กับลูกค้าบนเครื่องบิน เพื่อตอบสนองลูกค้าได้ตรงตามเป้าหมาย โดยจะไม่แข่งขันด้านราคาขายตั๋วเดินทางกับคู่แข่งรายอื่นๆในอุตสาหกรรม

ขณะที่ภาพรวมการแข่งขันในด้านราคาขายตั๋ว  มองว่าจะเริ่มเบาบางลง เนื่องจากสายการบินหลายแห่งต่างก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กันหมด ทำให้การลดราคาขายตั๋วเพื่อแย่งลูกค้าเริ่มมีทิศทางที่ลดลงมาก โดยบริษัทได้ใช้วิกฤตตรงนี้ เป็นโอกาสที่จะขยายเส้นทางการบิน และเพิ่มจำนวนเครื่องบินให้มากขึ้น

บริษัทมีแผนที่จะนำเข้าเครื่องบิน Boeing 737-800 ในปี 2564 เพิ่มอีกจำนวน 6 ลำ ซึ่งได้เซ็นสัญญาเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างขอใบอนุญาตนำเข้าจากทางภาครัฐ ส่วนในปีต่อไปจะนำเข้าเพิ่มปีละ 2 ลำ โดยจะพิจารณาทั้งการซื้อเครื่องบินและการเช่าเครื่องตามความเหมาะสมของสถานการณ์ ในปัจจุบันบริษัทมีจำนวนฝูงบินทั้งหมด อยู่ 22 ลำ ได้แก่ เครื่องบิน Boeing 737-800 มีอยู่ 14 ลำ และมีเครื่องบิน Q400 อยู่อีก 8 ลำ

สำหรับแผนการขยายเส้นทางใหม่ เบื้องต้นคาดว่าจะได้เห็นเส้นทางบินไปยังท่าอากาศยานเบตงก่อน และในปี 2565 คาดว่ามีเส้นทางการบินไปยังท่าอากาศยานนครราชสีมา โดยยังมีการศึกษาขยายเส้นทางอื่นๆเพิ่มเติม อาทิ ท่าอากาศยานหัวหิน และท่าอากาศยานอู่ตะเภา นอกจากนี้ยังขยายจุดหมายปลายทางเพิ่มของเส้นทางการบินต่างประเทศเดิม รวมถึงการเปิดเส้นทางการบินต่างประเทศใหม่ๆเพิ่มเติมด้วย จากปัจจุบันที่มีเส้นทางการบินในประเทศอยู่ 23 เส้นทาง และต่างประเทศอีก 41 เส้นทาง

อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงควบคุมดูแลเกี่ยวกับการบริหารเส้นทางการบินให้มีความเหมาะสมกับพฤติกรรมของผู้โภค เพื่อให้รายได้สัมพันธ์กับรายจ่าย รวมถึงการเจรจาค่าเช่าเครื่องบินกับผู้ให้เช่า ในการขอปรับราคาเช่าเครื่องบิน ตามการใช้จริงของเครื่องบินด้วย

ส่วนแนวโน้มธุรกิจในช่วงเดือน ก.ค.-ธ.ค.2564 บริษัทคาดว่าจะใกล้เคียงกับช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา เนื่องจากยังการห้ามการเดินทางในช่วงล็อกดาวน์ ส่วนการที่บริษัทอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ จะไม่ปิดงบการเงินเป็นรายไตรมาส แต่จะปิดงบการเงินในทุกๆ 6 เดือน

“การเริ่มเปิดเส้นทางการบินต่างประเทศ ในปี 2564 คาดว่ายังมีน้อย ซึ่งก็ต้องรอดูการเปิดเมืองท่องเที่ยวนำร่องในช่วงเดือน พ.ย.นี้ ส่วนในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 อาจจะได้เห็นการเริ่มเส้นทางบินระหว่างประเทศ ที่ข้ามกันระหว่างเมือง หรือ Travel Bubble และช่วงครึ่งหลังของปี 2565 คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจน จากนโยบายของประเทศจีน ที่จะเริ่มขายแพ็กเกจท่องเที่ยว โดยนโยบายห้ามขายแพ็กเกจท่องเที่ยวของจีนจะหมดอายุในสิ้นเดือน มิ.ย.2565 ซึ่งทำให้การท่องเที่ยวของไทยกลับมา เนื่องจากสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนสูงถึง 70% ของนักท่องเที่ยวรวมทั้งหมดที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทย” นายวุฒิภูมิ กล่าวทิ้งท้าย