‘แบงก์-พลังงาน-ส่งออก’ เด่น ดบ.ผ่านต่ำสุด-บาทอ่อนจ่อ 34

HoonSmart.com>> หุ้นไทยบวกสวนเอเชียหลายแห่งร่วง1% ดาวโจนส์ล่วงหน้าเด้ง 200 จุด กนง.คงดอกเบี้ยตามคาด 0.50% บล.เอเซีย พลัส ฟันธงดอกเบี้ยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว บวกกลุ่มธนาคาร แนะ KBANK-BBL-TISCO-KKP ด้านบล.หยวนต้าแนะ KBANK บล.โนมูระฯ ชี้เป้า SCB-KBANK-BBL คาดเห็นค่าเงิน 34 บาท บล.กสิกรไทยเชียร์ KCE-ASIAN-TU-HANA กลุ่มพลังงานยังน่าสน โอเปกคาดต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกจะพุ่งขึ้นแรงอีก 2-3 ปี บล.ทิสโก้เตือนเฟดเข้มจับตาบอนด์ยีลด์เด้งแตะ 1.7% อาจฉุดหุ้นทั่วโลกปรับฐาน หาจังหวะช้อปหุ้นยุโรป-ญี่ปุ่น ทยอยลดน้ำหนักตลาดหุ้นเกิดใหม่

วันที่ 29 ก.ย.2564 ตลาดหุ้นเอเชียหลายแห่งทรุดกว่า 1% ตามดาวโจนส์ ส่วนไทยแกว่งขึ้น-ลง ดัชนีปิดที่ 1,616.98 จุด เพิ่มขึ้น 0.48 จุด มูลค่าการซื้อขาย 93,119.73 ล้านบาท ฝีมือนักลงทุนไทยซื้อ 1,127 ล้านบาท ต่างชาติร่วมด้วย 1,111.97 ล้านบาท ส่วนสถาบันไทยขาย 1,354.83 ล้านบาทพอร์ตบล.ขาย 884 ล้านบาท ด้านค่าเงินบาทปิดที่ 33.85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ยังเป็นระดับอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 4 ปี แนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องแตะ 34 บาท

สาเหตุที่สนับสนุนให้หุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้เล็กน้อย เกิดจากแรงซื้อหุ้นขนาดใหญ่  โดยเฉพาะแบงก์ใหญ่ รับข่าวคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ตามตลาดคาด นับเป็นผลดีต่อกำไรแบงก์ รวมถึงแรงซื้อหุ้น DELTA ช่วงประคองตลาด แม้ว่า PTT ขึ้น XD  จ่ายเงินปันผล 1.25 บาทราคาหุ้นปรับตัวลงกดดันดัชนี 3 จุดก็ตาม

นอกจากนี้ ดาวโจนส์ล่วงหน้ารีบาวด์ขึ้นกว่า 200 จุด หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (บอนด์ยีลด์) 10 ปี ลดลงไปต่ำกว่า 1.50% จากเมื่อวันก่อนหน้าขึ้นไปสูงสุดถึง 1.567% ซึ่งบล.ทิสโก้เตือนให้จับตาหากบอนด์ยีลด์เด้งแตะ 1.7% อาจฉุดตลาดหุ้นทั่วโลกปรับฐาน หาจังหวะช้อนซื้อหุ้นยุโรป และญี่ปุ่น รับอานิสงส์กำไรโตดี ราคาหุ้นถูกกว่าสหรัฐฯ พร้อมทยอยลดน้ำหนักตลาดหุ้นเกิดใหม่

ส่วนหุ้นกลุ่มพลังงานยังคงแข็งแกร่งนำโดย PTTEP ปิดที่ 119 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง แม้ราคาน้ำมันดิบลง ด้านกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) เปิดเผยรายงาน “2021 World Oil Outlook” คาดความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกจะพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกในปี 2566 จะเพิ่มขึ้น 1.7 ล้านบาร์เรล/วัน แตะที่ระดับ 101.6 ล้านบาร์เรล/วัน เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงว่า คณะกรรมการกนง.มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5%ต่อปี และประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้และปีหน้าขยายตัวใกล้เคียงกับที่คาดไว้ในการประชุมครั้งก่อน คาดปี2564โต 0.7% ส่วนปี 2565 โต3.9% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับประมาณการครั้งก่อนที่ 3.7% แม้ไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดและการส่งออกที่ชะลอลงกว่าคาด แต่การกระจายและการฉีดวัคซีนที่ดีขึ้นชัดเจนและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นและการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่เหลือของปี 2564 ส่วนอัตราเงินเฟ้อปี 2564 ปรับลงเหลือ 1% จากเดิม 1.2% และปี 2565 ปรับเพิ่มเป็น 1.4% จาก 1.2%

ด้านค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯผันผวนมากขึ้น คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง

บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัสประเมินอัตราดอกเบี้ยของไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ช่วยให้กลุ่มธนาคารมี Downside จำกัด ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกกับหุ้นกลุ่มธนาคาร เช่น KBANK, BBL, TISCO, KKP

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองทิศทางดอกเบี้ยในตลาดเงินมีโอกาสไต่ระดับขึ้นต่อเนื่อง ถือเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มแบงก์ คงแนะนำสะสม KBANK มองเศรษฐกิจไตรมาส 3 น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปีและเริ่มฟื้นตัวได้ตามลำดับ คาดว่าปี 2565 จะฟื้นตัวเด่นตามภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัว เป็นผลเชิงบวกต่อ SHR, MINT, CPN, ADVANC, CPALL

บล.โนมูระ พัฒนสิน แนะกลยุุทธ์กลุ่มธนาคารจะประคองตลาดต่อ จากวงจรดอกเบี้ยขาลงสิ้นสุดเช่นกัน เน้น SCB, KBANK, BBL ส่วนกลุ่ม Consumer Finance จะค่อยๆ ฟื้นตาม เน้น TIDLOR, JMT, SINGER ขณะที่ค่าเงินบาทจะค่อยๆ ซิกแซกอ่อนค่าขึ้น 34-34.25บาทต่อเหรียญฯ บวกต่อ TU, KCE

บล.เคทีเอสที ยังคงให้น้ำหนักกลุ่มแบงก์มากกว่าตลาด และคาดผลงานของแบงก์ที่ดูแลในไตรมาสที่ 3/2564 มีกำไร 3 หมื่นล้านบาท เติบโต 26%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 18% เทียบกับไตรมาสที่ 2 ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPLs) เพิ่มขึ้นเป็น 3.66%จากระดับ 3.33%ในไตรมาสที่ 2 แนะนำซื้อ SCB มูลค่าเหมาะสม 140 บาท และ KKP ราคาเป้าหมาย 62 บาท คาดกำไรไตรมาสที่ 3 เติบโดีจากค่าธรรมเนียมทำดีล SCBX ,CPALL และ MAKRO