RATCH ตั้ง “ชูศรี เกียรติขจรกุล” นั่ง CEO คนใหม่ เป้าปี’68 ผลิตไฟฟ้ารวม 1 หมื่นเมกฯ

HoonSmart.com>> “ราช กรุ๊ป” ตั้ง “ชูศรี เกียรติขจรกุล” เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ แทน “กิจจา ศรีพัฑฒางกุระ” พร้อมสานต่อแผนกลยุทธ์ปี’68 ตั้งเป้ากำลังการผลิตรวม 1 หมื่นเมกะวัตต์ เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน 25% เตรียมสรุปดีลปลายปี’64 ลงทุนโรงไฟฟ้าไพตัน ซื้อกิจการในประเทศ-ต่างประเทศ กำลังการผลิตรวมกว่า 1 พันเมกะวัตต์ เงินลงทุน 3.1 หมื่นล้านบาท

 

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป (RATCH) เปิดเผยว่า ในช่วงปลายปี 2564 จะสามารถสรุปผลการเข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าไพตัน กำลังการผลิต 900 เมกะวัตต์ โดยอยู่ระหว่างดำเนินการนำเสนอที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นให้ความเห็นชอบ อีกทั้งยังมีแผนเข้าซื้อกิจการ (M&A) ในประเทศ ที่เป็นโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงธรรมชาติและโรงไฟฟ้าชีวมวล และต่างประเทศที่อินโดนีเซีย โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน คาดว่าจะรู้ผลปลายปีนี้ ซึ่งถ้าสามารถเข้าลงทุนได้ครบตามแผนทั้งหมดในข้างต้น จะมีกำลังการผลิตเพิ่มเข้ามาอีกประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวม 8,292 ล้านบาท โดยเงินลงทุนรวมทั้งหมดประมาณ 31,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุตามแผนยุทธศาสตร์ปี 2568 ที่วางเป้าหมายกำลังการผลิตรวมไว้ที่ 10,000 เมกะวัตต์ บริษัทได้พยายามมองหาการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ ทั้ง SPP, IPS และพลังงานทดแทน เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย และเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าที่จะทยอยหมดสัญญาไปจนถึงปี 2568 เกือบ 1,700 เมกะวัตต์ โดยบริษัทจะพัฒนาโรงไฟฟ้าเอง และซื้อกิจการ ซึ่งการซื้อกิจการ หรือ ซื้อกิจการที่ดำเนินงานแล้ว จะช่วยทำให้มูลค่ากิจการเพิ่มขึ้น โดยบริษัทตั้งเป้าหมายไว้ที่ 200,000 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 120,000 ล้านบาท รวมถึงสามารถรับรู้รายได้ได้ทันทีด้วย

“ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา RATCH มีการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าเพิ่มกำลังการผลิต ทำให้บริษัทฯ มีรายได้และสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง รวมทั้งสร้างผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นได้อย่างต่อเนื่องด้วย นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้กระจายการลงทุนไปยังโครงการระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและธุรกิจอื่นที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงในระยะยาว โดยกำหนดเป้าหมายไว้ปีละ 5% ของงบลงทุน อีกทั้งยังสามารถสร้างฐานธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งเป็นกลไกทำให้การขยายและต่อยอดการลงทุนมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันได้ขยายไปในประเทศสปป.ลาว, ออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย และเวียดนามเป็นประเทศล่าสุด ซึ่งจะขยายเพิ่มอีกในประเทศฟิลิปปินส์, ไต้หวัน และบังกลาเทศ” นายกิจจา กล่าว

ชูศรี เกียรติขจรกุล

ด้านน.ส.ชูศรี เกียรติขจรกุล ผู้ที่จะเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป ในวันที่ 1 ต.ค.64 นี้ แทนนายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ เปิดเผยว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ปี 2568 ที่ตั้งเป้าหมายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 10,000 เมกะวัตต์ โดยบริษัทได้ตั้งหมายสัดส่วนพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น 2,500 เมกะวัตต์ หรือ 25% ของเป้าหมายกำลังการผลิตรวม ด้วยกลยุทธ์ที่จะเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนปีละไม่ต่ำกว่า 250 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีสัดส่วนพลังงานทดแทนอยู่ที่ 15% หรือ 1,300 เมกะวัตต์ของกำลังการผลิตในปัจจุบัน รวมถึงวางเป้าหมายที่จะมีสัดส่วนโรงไฟฟ้าในประเทศ 50% และต่างประเทศอีก 50% จากปัจจุบันในประเทศ 63% ต่างประเทศ 37%

ทั้งนี้ ยังมีการสร้างการเติบโตในธุรกิจสาธารณูปโภคพื้นฐาน และธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติม ด้วยการร่วมมือกับพันธมิตร ในการเข้าประมูลโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆของภาครัฐ และลงทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสุขภาพ รวมถึงด้านนวัตกรรมอื่นๆเพิ่มเติมด้วย โดยตั้งเป้าหมายสัดส่วนธุรกิจอื่นๆภายในปี 2568 จะอยู่ที่ระดับ 20% และธุรกิจผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 80%

ล่าสุดวันที่ 29 ก.ย.2564 บริษัทได้ร่วมลงนามในโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางประอิน – นครราชสีมา (M6) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ กาญจนบุรี (M81) ซึ่งบริษัทจะเป็นผู้ดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) คาดว่าจะมีรายได้ก็ต่อเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ

บริษัทมีเป้าหมายในด้าน ESG ที่จะมุ่งเน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 25% ภายในปี 2568 ด้วยวิธีการเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนมากขึ้น และการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการสนับสนุนสิ่งแวดล้อม

“การบริหารและวางแผนการเงินเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการลงทุน เพื่อให้เป้าหมายกำลังการผลิต 10,000 เมกะวัตต์ และมูลค่ากิจการ 200,000 ล้านบาท บรรลุผลสำเร็จ เราจะนำความรู้และประสบการณ์เข้ามาเสริมในการบริหารการลงทุนการเงิน ครอบคลุมตั้งแต่การจัดการประสิทธิภาพการใช้งบลงทุน การจัดหาแหล่งเงินทุนหรือเครื่องมือทางการเงินที่มีต้นทุนสมเหตุสมผลและเหมาะกับลักษณะของโครงการสำหรับรองรับการลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยมีแผนลำดับการใช้แหล่งเงินทุนตามนี้ เบื้องต้นจะใช้เงินหมุนเวียนจากการดำเนินการ และเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินก่อน ซึ่งถ้ามีจำเป็นต้องใช้เงินเพิ่ม ก็พร้อมที่จะเพิ่มทุน ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่ต้องเติบโต การเพิ่มทุนก็ถือว่าเป็นความเหมาะสมที่จะเข้ามาเสริมฐานะการเงินให้แข็งแกร่ง และช่วยสร้างการเติบโต” น.ส.ชูศรี กล่าว