CPANEL เปิดขายหุ้น 21-23 ก.ย.นี้ ราคา 6 บาท นักวิเคราะห์ให้เป้า 8-9 บาท

HoonSmart.com>> “ซีแพนเนล”ผู้ผลิตและจำหน่ายแผ่นพื้นและผนังคอนกรีตสำเร็จรูป เคาะราคาขายหุ้นไอพีโอ ราคา 6 บาท/หุ้น เปิดจองซื้อ 21-23 ก.ย. เตรียมเข้าเทรด mai 30 ก.ย. นี้ APM ที่ปรึกษาการเงิน เผยหลังเข้าตลาดมีเงินทุนพร้อมบุก ธุรกิจมีโอกาสเติบโตสูง บล.ฟินันเซีย ไซรัส  ชูจุดเด่นเพียบสินค้าทดแทนการก่อสร้างแบบดั้งเดิม ก่ออิฐ ฉาบปูน อัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 35% อัตรากำไรสุทธิ 12-13% นักวิเคราะห์ 6 ราย ให้ราคาต่ำสุด 8 บาท สูงสุด 9 บาท

ดร.สมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานกรรมการ บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ (APM) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท ซีแพนเนล (CPANEL) เปิดเผยว่า บริษัทซีแพนเนล ลงนามสัญญาแต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) พร้อมผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายอีก 5 แห่ง ได้แก่ บล. เอเอสแอล (ASL) บล. เคทีบีเอสที (KTBST) บล. กรุงไทย ซีมิโก้ จำกัด (KTZ) บล. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LHSEC) และบล.ฟิลลิป (ประเทศไทย)

นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร APM กล่าวว่า CPANEL จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 39.50 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท  บริษัทซีแพนเนลก่อตั้งมาไม่นานนัก แต่ด้วยการวางระบบทั้งด้านการผลิตและด้านการเงิน ทำให้บริษัทมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ธุรกิจมีโอกาสเติบโตสูง หลังจากการระดมทุนครั้งนี้ CPANEL จะมีความสามารถในการทำกำไรมากขึ้น สัดส่วนหนี้สินต่อทุนจะลดลงอย่างมาก อีกทั้งความต้องการคอนกรีตสำเร็จรูป มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น จากการขาดแคลนแรงงานที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงข้อกฎหมายที่กำหนดจำนวนแรงงานในพื้นที่ก่อสร้าง ส่งผลให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์และผู้รับเหมาก่อสร้างนิยมใช้แผ่นพื้นและผนังคอนกรีตสำเร็จรูปมากขึ้น

“ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นกลุ่มลูกค้าหลัก แต่ทุกวันนี้ การก่อสร้างส่วนใหญ่ยังเป็นแบบดั้งเดิม ก่ออิฐ ฉาบปูนอยู่ เชื่อว่าทิศทางการเติบโตยังดีอยู่ บริษัทลงทุนในลักษณะการผลิตเต็มกำลัง ใช้แรงงานน้อย ระบบการผลิตใช้อัตโนมัติ 100% เมื่อไรมียอดขายเพิ่มขึ้นสูง อัตรากำไรเพิ่มขึ้นสูงด้วย สะท้อนการประหยัดต่อขนาด หรือ Economies of Scale” นายสมศักดิ์กล่าว

ด้านนายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า การเสนอขายหุ้น IPO ที่หุ้นละ 6 บาท กำหนดวันจองซื้อหุ้นในระหว่างวันที่ 21-23 ก.ย. 2564 คาดว่าหุ้น CPANEL จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) หมวดอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (PROPCON) วันที่ 30 ก.ย. 2564 หลักการกำหนดราคา 6 บาทใช้กำไรย้อนหลัง 12 เดือน P/E ที่ประมาณ 30 เท่า เทียบกับกลุ่มที่ธุรกิจใกล้เคียง แต่ในปี 2563 บริษัทได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างมีนัยสำคัญ  ดังนั้นกำไรสุทธิย้อนหลัง จึงไม่ได้แสดงถึงความสามารถในการทำกำไรปกติ และอาจจะไม่เหมาะสมในการนำไปคำนวณ P/E

“สินค้าของ CPANEL ตอบโจทย์ ตอบสนองความต้องการ ยุคนิวนอร์มอล เป็นสินค้าใช้ทดแทนการก่อสร้างบ้าน อสังหาริมทรัพย์และอาคารแบบดั้งเดิม ก่ออิฐ ฉาบปูน ใช้แรงงานค่อนข้างเยอะ CPANEL เป็นผู้ประกอบการอันดับต้นของธุรกิจนี้ มียอดขายสูง บริษัทยังมีจุดเด่นบริหารต้นทุน มีความสามารถในการทำกำไรที่สูง 6 เดือนแรกปี 2564 อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 35% อัตรากำไรสุทธิ 12-13% ถือว่ามีความสามารถทำกำไรโดดเด่นในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ส่วนอสังหาริมทรัพย์เข้ามาใช้สินค้า เพื่อลดต้นทุน ทั้งการเข้าหน้างาน ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ลดระยะเวลาการก่อสร้าง ตอบโจทย์ให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ”นายสมภพกล่าว

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ 6 แห่งมีการวิเคราะห์หุ้น CPANE กำหนดมูลค่าเหมาะสมต่ำสุดที่ 8 บาท และสูงที่สุด 9 บาท ดังนั้นการตั้งราคาขายที่ 6 บาทมีความเหมาะสม และมองสถานการณ์ตลาดหุ้นประกอบด้วย อยากให้นักลงทุนทุกคนเห็นว่าการเข้ามาลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดี มีความสุขกับการลงทุน สามารถลงทุนระยะยาว

นายชาคริต ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีแพนเนล (CPANEL) กล่าวว่า เงินที่ระดมได้มาจะนำไปลงทุนโรงงานแห่งที่ 2  คาดจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาส 1/2567 เชื่อมั่นว่าตลาดจะขยายตัวได้อีกมาก ทั้งในส่วนของอสังหาริมทรัพย์แนวราบและแนวสูง ซึ่งเป็นโอกาสให้บริษัทขยายตลาดและมีคำสั่งซื้อมากขึ้นจากมูลค่างานในมือ ณ 30 มิ.ย 64 (Backlog) ที่ 1,156.03 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ใน 3 ปี

” โรงงานแห่งแรก มีBacklog ใช้กำลังการผลิต 70% เติมงานเข้าไป เวลา 2 ปี มีรายได้จุดคุ้มทุน มีกำไร แต่จะทำให้โรง 2 ถึงจุดคุ้มทุนมีกำไรไม่ใช่เรื่องยาก ภาพธุรกิจนี้ยังมีการเติบโตเร็ว เข้าไปแทนที่งานก่อสร้างดั้งเดิมปีละ  3% เป็นแนวโน้มในต่างประเทศ ทำงานการก่อสร้างรวดเร็ว  และต้นทุนลดลง”

ส่วนเงินที่บริษัทระดมทุนได้ประมาณ 237 ล้านบาท นำไปลงทุนขยายโรงงานแห่งใหม่จำนวน 100-150 ล้านบาท ชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน จำนวน 50-100 ล้านบาท และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน  20.40 ล้านบาท