ASPS มอง Evergrande บิ๊กอสังหาฯ จีนเสี่ยงเบี้ยวหนี้กระทบไทยจำกัด

HoonSmart.com>> “บล.เอเซีย พลัส” ประเมินผลกระทบปัญหา Evergrande ต่างจากวิกฤต Subprime สหรัฐฯ มองเป็นปัญหาเฉพาะตัว ไม่ขยายวงกว้าง กระทบต่อตลาดหุ้นไทยในวงจำกัด ด้านบริษัทอสังหาฯ ไทยฐานะการเงินแกร่ง ด้านบล.ทรีนีตี้ มองเป็นปัญหาเฉพาะตัว ไม่เกี่ยวข้องธุรกิจไทยโดยตรง ผลกระทบฟันด์โฟลว์ไหลออกเอเชีย ต่างชาติขายพันธบัตร ค่าเงินบาทอ่อนหนักกดดัชนี ผลดีหุ้นส่งออก จับตาแบงก์ชาติหลังเงินบาทอ่อน

บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส (ASPS) มองกรณีกระแสความกังวลบริษัท Evergrande บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์อันดับ 2 ของจีน มีความเสี่ยงจะผิดชำระหนี้ เนื่องจากมีหนี้สิน 3.56 แสนล้านเหรียญฯ เอกชนที่มีหนี้สินมากที่สุดในโลก ทำให้เกิดความกังวลและกดดันตลาดหุ้นในเอเซียช่วงนี้

“ฝ่ายวิจัย ASPS มองผลกระทบจากปัญหา Evergrande คาดจะไม่ขยายวงกว้าง และกระทบต่อตลาดหุ้นไทยในวงจำกัด โดยมองว่าไม่เหมือนวิกฤตสินเชื่อ Subprime ในสหรัฐปี 2561 เพราะเป็นปัญหา Evergrande เป็นปัญหาเฉพาะตัว การชำระหนี้เฉพาะเจาะจงไปที่เจ้าหนี้ คาดรัฐบาลจีนจะออกมาตรการช่วยเหลือ แตกต่างกับวิกฤต Subprime ในสหรัฐ ที่กระทบเป็นวงกว้างทั่วโลก” ASPS ระบุ

นอกจากนี้ประเมินว่าไม่กระทบต่อภาคอสังหาฯ ในไทยอย่างมีนัย เพราะ 1.) ผู้ประกอบการในไทยส่วนใหญ่ในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2561 ชะลอลงทุน สะท้อนจากแนวโน้มการเปิดตัวโครงการใหม่ที่ลดลงมา เนื่องจาก มีมาตรการ LTV ของธปท. , สงครามการค้าสหรัฐ จีน และปี 2563 เผชิญกับ Covid

นอกจากนี้ฐานะการเงินของบริษัท Property ในไทย ในปัจจุบันแข็งแกร่ง สะท้อนจาก Net gearing ของกลุ่มอุตสาหกรรม property 5 ปี ย้อนหลังที่ผ่านมา อยู่ไม่เกิน 1 เท่า ล่าสุด 2Q64 อยู่ที่ 1.0 เท่า เทียบกับตอนปี 40 ต้มยำกุ้ง Net gearing สูงราว 10 เท่า

สำหรับ Evergrande ก่อตั้งขึ้นในปี 2539 และจดทะเบียนในฮ่องกงในปี 2552 โครงสร้างธุรกิจหลักๆ คือ Developer อสังหาริมทรัพย์ แต่มีการขยายไปในหลายธุรกิจ อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า (Evergrande New Energy Auto) ธุรกิจอินเทอร์เน็ตและสื่อ (HengTen Networks) สโมสรฟุตบอล (Guangzhou FC) ธุรกิจน้ำแร่ อาหาร (Evergrande Spring)

ปัญหา Evergrande เกิดจาก การ Over Investment ขยายไปลงทุนในหลายกิจการ และ เกิดปัญหาสภาพคล่อง ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เห็นได้จากค่าใช้จ่ายอัตราดอกเบี้ยต่อปี ในปี 2559 -2561 อยู่ราว 5-7 พันล้านเหรียญและขยับขึ้นเป็น 1.7 หมื่นล้านเหรียญในปี 2562 และพิจารณา DEBT/Equity สูงราว 205 เท่า

ด้านบล.ทรีนีตี้ มองกรณี Chinan Evergrande Group เป็นปัญหาเฉพาะตัว ซึ่งอาจจะไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับภาคธุรกิจของไทยโดตรง แต่ในเชิง Fund Flow อาจมีความสัมพันธ์อยู่บ้างผ่านตลาดพันธบัตร โดยเมื่อวันที่ 16 ก.ย.2564 พบนักลงทุนต่างชาติมีการเทขายพันธบัตรออกมาในภูมิภาคอย่างทั่วถึง ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วยเช่นกัน โดยขายสุทธิออกมาทั้งสิ้น 7,600 ล้านบาทและเป็นตราสารหนี้ระยะยาวถึง 5,000 ล้านบาท ถือเป็นการขายสุทธิตราสารหนี้ของไทยสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.ปีก่อน

การเทขายพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาตินี้ส่งผลให้สกุลเงินต่างๆ ในเอเชียปรับตัวอ่อนค่อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตุว่าไทยยังคงเป็นประเทศที่มีค่าเงินปรับตัวอ่อนแอมากที่สุดเช่นเดิม แย่กว่าประเทศจีนที่เป็นต้นตอของปัญหา มองปัจจัยดังกล่าวจะเป็นตัวจำกัด Upside ที่สำคัญของดัชนี SET ต่อไป แต่จะส่งผลบวกด้าน Sentiment ต่อหุ้นกลุ่มส่งออก โดยยังคงเลือกกลุ่มอาหารและเกษตรแปรรูป ได้แก่ ASIAN, SUN, TU, XO

ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทที่กลับมารวดเร็วอีกครั้ง ทำให้น่าจับตาอย่างยิ่งว่าท่าทีของธปท.ต่อประเด็นดังกล่าวจะเป็นไปในทิศทางใด โดยบล.ทรีนีตี้จับตาดูสัญญาณเบื้องต้นที่จะออกมาจากฐานะ Forword สุทธิที่จะประกาศออกมาในวันนี้ หากยังไม่เห็นสัญญาณการเข้าแทรกแซง ประเมินว่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าไปทดสอบระดับแนวต้านเดิมที่ 33.5 บาท/ดอลลาร์อีกครั้ง