HoonSmart.com>>บล.กสิกรไทยให้แนวต้านที่ 1,645 และ 1,655 จุด หุ้นเคลื่อนไหวตาม 3 ปัจจัย สถานการณ์โควิด การเมือง ทิศทางเงินลงทุนจากต่างประเทศ ส่วนค่าเงินบาท ธนาคารกสิกรไทยให้กรอบเคลื่อนไหว 32.50-33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ
บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย มองหุ้นสัปดาห์ถัดไป (13-17 ก.ย.) ว่า ดัชนีหุ้นมีแนวรับที่ 1,620 และ 1,610 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,645 และ 1,655 จุด ตามลำดับ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิดทั้งในและต่างประเทศ ประเด็นการเมือง ตลอดจนทิศทางเงินลงทุนจากต่างประเทศ
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ยอดค้าปลีก ผลผลิตอุตสาหกรรม มูลค่านำเข้าและส่งออกเดือนส.ค.
ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนส.ค. ของญี่ปุ่น ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนส.ค. และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค. ของยูโรโซน ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนส.ค. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร
หุ้นปรับตัวลงจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,635.35 จุด ลดลง 0.91% ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 90,658.68 ล้านบาท ลดลง 14.97% ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 4.25% มาปิดที่ 548.71 จุด
ภาพรวมหุ้นแกว่งตัวอิงขาลงตลอดสัปดาห์ ตามแรงขายทำกำไรของนักลงทุน หลังปรับตัวขึ้นตอบรับปัจจัยบวกไปค่อนข้างมากในช่วงก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ดี หุ้นปรับตัวขึ้นได้ช่วงสั้นๆ กลางสัปดาห์ตามแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ และฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ สอดคล้องกับตลาดหุ้นในภูมิภาครับข่าวที่ระบุว่า ประธานาธิบดี โจ ไบเดนของสหรัฐฯ ได้มีการพูดคุยทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดี สี จิ้นผิงของจีน นอกจากนี้ยังมีแรงซื้อหุ้นบางกลุ่มที่อาจได้รับอานิสงส์จากการที่จะมีการเร่งปูพรมฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรทั้งหมดอย่างน้อย 50% ทุกจังหวัด
สำหรับค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (13-17 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวที่ 32.50-33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ
เงินบาทขยับแข็งค่ากลับมาได้เล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากอ่อนค่าในระหว่างสัปดาห์ตามจังหวะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ขยับแข็งค่าขึ้นในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า
อย่างไรก็ดีเงินบาทลดช่วงอ่อนค่าและทยอยปรับตัวแข็งค่ากลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ตามเงินหยวนและเงินเอเชียอื่นๆ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงกดดันจากการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และการส่งสัญญาณปรับระดับการซื้อสินทรัพย์ผ่านโครงการซื้อสินทรัพย์ฉุกเฉินของธนาคารกลางยุโรป (ECB)
ในวันศุกร์ (10 ก.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.66 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 32.62 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (3 ก.ย.)