“ณรงค์ศักดิ์” CEO ใหม่ บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิดกลยุทธ์ 3 ปี ตั้งเป้าหมายเพิ่มลูกค้ารายย่อยเป็น 1.5 ล้านราย เข้าช่องทางดิจิทัล ตอบโจทย์เป้าหมายลูกค้า โยกเงินลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงได้ผลตอบแทนสูงขึ้น ไม่รุกเพิ่ม AUM
นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ หรือ SCBAM เปิดเผยครั้งแรกหลังจากรับตำแหน่งว่า ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนลูกค้ารายย่อยเป็น 1.5 ล้านราย จาก 3 แสนราย ภายใน 3 ปี โดย 70% – 80% มาจากช่องทางดิจิทัลบนแอพพลิเคชั่น SCB Easy ของธนาคารไทยพาณิชย์
“ถ้าจะไปถึงเป้าหมายได้ เราต้องเข้าให้ถึงลูกค้าผ่านทุกช่องทาง โดยที่สาขายังคงเป็นช่องทางที่ดีมีประสิทธิภาพในการเข้าถึงลูกค้า เพราะฉะนั้นเราจะเดินไปควบคู่กันทั้ง 2 ช่องทาง แต่การเข้าถึงผ่านช่องทางดิจิทัลจะทำให้เข้าถึงลูกค้าได้ตลอดเวลา ทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดี เพราะซื้อกองทุนไปแล้วไม่มีใครได้กำไรตลอด แต่ถ้าไม่กำไรแล้วต้องมีคนไปอธิบาย ไปแก้ไขให้” นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว
อีกทั้งยังเน้นการพัฒนาด้านบริการเพื่อให้ลูกค้ามีความสะดวกเพิ่มมากขึ้น เช่น การเปิดบัญชีครั้งแรกผ่านช่องทางดิจิทัล เป็นการสร้างความสะดวกในการลงทุน รวมถึงมีการแนะนำกองทุนอย่างสม่ำเสมอ และการจัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ทั้งยังรวมถึงแนะนำให้ปรับพอร์ตอย่างเหมาะสมต่อเนื่อง ภายใต้การคาดการณ์ความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ชัดเจนเพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์การลงทุนที่ดี
นอกจากนี้ นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา บลจ.ไทยพาณิชย์ ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม โดยมีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ 70% แต่มีเป้าหมายจะลดสัดส่วนตราสารหนี้ลง และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงให้เป็น 50% เพราะเชื่อว่า สำหรับลูกค้าแล้วการลงทุนระยะยาวควรมีการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น
“เป้าหมาย คือ ให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นลำดับแรก โดยมีแนวทางพัฒนาการปฏิบัติทุกด้านให้เกิดประสิทธิภาพทั้งผลิตภัณฑ์ การบริการและบุคลากร เพื่อเป้าหมายในการเป็น The Most Trusted Asset Management Company หรือ บลจ.ที่ได้รับความไว้วางใจสูงสุด” นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาจำนวนลูกค้าของ บลจ.ไทยพาณิชย์ ชะลอตัวลง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจะเป็นผลมาจากประสบการณ์ไม่ดี เช่น ลงทุนแล้วขาดทุน โดยที่ไม่มีผู้ให้คำแนะนำต่อเนื่อง ขณะที่จำนวนบัญชีกองทุนรวมมีทั้งหมด 8 แสนราย แต่ที่มีการลงทุนต่อเนื่องประมาณ 3 แสนราย
“ที่ผ่านมา บลจ.ไทยพาณิชย์มีการนำระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการกองทุนเป็น บลจ.แรก เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกจำนวนมหาศาลได้อย่างครอบคลุมและรวดเร็ว อีกทั้งช่วยลดข้อผิดพลาดและการมีอคติของมนุษย์ได้ ระบบ AI ยังมีการเรียนรู้และพัฒนาตนเองเมื่อเจอสถานการณ์รูปแบบต่าง ๆ และสภาพตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นอกจากนี้กระบวนการคัดเลือกหุ้นโดย AI ยังมีศักยภาพที่จะพัฒนากรอบการลงทุนให้กว้างขึ้นไปสู่สินทรัพย์อื่นทั่วโลก ในอนาคตจะต่อยอดไปถึงการนำระบบ AI มาใช้กับการบริหารกองทุนระยะยาวประเภท Retirement Fund อย่างไรก็ตามก็ยังให้ความสำคัญกับศักยภาพผู้จัดการกองทุนควบคู่กันไป ในส่วนกองทุนไหนที่ผู้จัดการกองทุนสามารถสร้างผลงานได้ดีอยู่แล้วก็ต้องดำเนินการต่อเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับลูกค้า” นายณรงค์ศักดิ์กล่าว
นอกจากการนำ AI มาประยุกต์ในการลงทุนแล้ว บลจ.ไทยพาณิชย์ยังให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ยั่งยืน โดยการจัดตั้งกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นธรรมาภิบาลไทย (SCBTHAICG) โดยเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนที่มีความใส่ใจในสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล และมีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยมองว่า Theme การลงทุนอย่างยั่งยืนเป็นรูปแบบการลงทุนที่กำลังนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในกลุ่มนักลงทุนทั่วโลกโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งมีอัตราการขยายตัวสูงกว่า 20% ในช่วงที่ผ่านมา
สำหรับสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่าการเพิ่ม AUM ไม่ใช่เป้าหมายหลัก และมีความเป็นไปได้ที่ในระยะสั้น AUM อาจจะลดลง เพราะการเพิ่มฐานลูกค้าจะเน้นไปที่ลูกค้ารายย่อย มนุษย์เงินเดือนที่เริ่มทำงานใหม่
“ใน 3 ปีจากนี้ คาดว่าสินทรัพย์ของกองทุนรวมน่าจะเพิ่มจาก 9 แสนล้านบาท เป็น 1 ล้านล้านบาทได้ ขณะที่กองทุนส่วนบุคคล เติบโตได้ปีละ 10% และ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เติบโตได้ปีละ 10-15%”
ปัจจุบัน บลจ.ไทยพาณิชย์มี AUM ณ วันที่ 30 มิ.ย.2561 รวม 1,425,155 ล้านบาท ซึ่งยังคงเป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรม ด้วยส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 20.60% เติบโตจากสิ้นปี 2560 คิดเป็นอัตรา 3.7% (AUM ณ 29 ธันวาคม 2560 รวม 1,374,870 ล้านบาท)
กองทุนของบลจ.ไทยพาณิชย์ มีการเติบโตมากที่สุดในกลุ่มธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) โดยมี AUM ณ วันที่ 30 มิ.ย.2561 สูงถึง 392,984 ล้านบาท เติบโต 7.9% จากสิ้นปี 2560 ทำให้บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 44.4% และยังครองอันดับ 1 อย่างต่อเนื่องจากปี 2557
สำหรับธุรกิจกองทุนรวม (Mutual Fund) มี AUM ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2561 อยู่ที่ 920,422 ล้านบาท ซึ่งรวมกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน Infrastructure Fund มูลค่ารวม 144,219 ล้านบาท และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 20,126 ล้านบาท และธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) มี AUM ณ วันที่ 30 มิ.ย.2561 อยู่ที่ 111,748 ล้านบาท (ข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน)
*********
อ่านประกอบ
ไทยแลนด์แดน Safe Haven : SCBAM มั่นใจครึ่งปีหลังหุ้นไทยชนะเพื่อนบ้าน
ไทยแลนด์แดน Safe Haven : SCBAM มั่นใจครึ่งปีหลังหุ้นไทยชนะเพื่อนบ้าน