2561 เป็นปีทอง IVL ส่วน TU แย่ลง เป็นเพราะเหตุใด?

ปี 2561 ผ่านมาแล้วครึ่งปี นักลงทุนเห็นกำไรสุทธิของบริษัทแต่ละแห่ง และนักวิเคราะห์มีการทบทวนตัวเลขเป้าหมายของทั้งปีนี้ ซึ่งมีทั้งปรับเพิ่ม ปรับลดผลประกอบการ ได้เวลาปรับพอร์ตลงทุนอีกครั้ง

แม้ว่าไตรมาส 2 จะมีตัวแปรสำคัญเกิดขึ้น เช่น เงินบาทอ่อนค่าลง และราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้บางบริษัทประสบปัญหาการขาดทุน หรือเหลือกำไรเพียงเล็กน้อย แต่รายการพิเศษไม่ใช่คำตอบทั้งหมด ในการตัดสินว่าบริษัทไหนมีผลงานดีหรือไม่ดี เพราะโจทย์ที่เกิดขึ้น ผู้บริหารจะต้องปรับกลยุทธ์ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะบริษัทที่มีการซื้อกิจการในต่างประเทศจำนวนมาก ต้องเผชิญกับตัวแปรที่มากกว่าบริษัทที่มีรายได้ภายในประเทศเท่านั้น

ผลงานในช่วง 6 เดือนปีนี้ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) มีกำไรสุทธิเพียง 878 ล้านบาท ลดลงมากถึง 1,975 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 69.22% เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรทั้งสิ้น 2,853 ล้านบาท ในครึ่งปี 2560 บริษัทจึงตัดสินใจลดเงินปันผลระหว่างกาลเหลือหุ้นละ 0.25 บาท จากกลางปีก่อนจ่ายหุ้นละ 0.32 บาท ขณะเดียวกัน บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL)มีกำไรสุทธิพุ่งขึ้น 90% จากระดับ 7,363 ล้านบาท เป็นจำนวน 14,056 ล้านบาท สามารถจ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้นเป็น 0.70 บาท จากที่เคยตอบแทนผู้ถือหุ้น 0.45 บาทในกลางปี 2560 ทำให้บริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัส ปรับลดเป้าหมายกำไรทั้งปีของ TU ลง 21% จากค่าใช้จ่ายพิเศษในไตรมาส 2 ส่วน IVL ได้ปรับกำไรขึ้นจากเดิม 26% เนื่องจากส่วนต่างราคาทุกผลิตภัณฑ์ดีเกินคาด

TU และ IVL ใช้โมเดลเทกโอเวอร์กิจการทั่วโลก

บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU)เคยเป็นจ่าฝูง ในการนำบริษัทขนาดกลางออกไปซื้อกิจการในต่างประเทศ โดยเริ่มลงทุนเมืองนอกครั้งแรก ในปี 2540 ทุ่มเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท ในการซื้อกิจการของชิกเก้นออฟเดอะซี แบรนด์ปลาทูน่ากระป๋องอันดับ 3 ในประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นได้โหมลงทุนไปอีกหลายประเทศ ทั้งในเอเชีย ตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกา ยุโรป และประเทศไทย พร้อมขยายธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งและบรรจุกระป๋องครบวงจร ทั้งกุ้งล็อบสเตอร์ ปลาแซลมอน รวมถึงภัตตาคารอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก “เรด ล็อบสเตอร์ ซีฟู้ด” ซื้อหุ้นเกือบ 50% ในบริษัทแพ็คฟู้ด ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทแปรรูปอาหารพร้อมรับประทานและอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมถึงการตั้งบริษัททำตลาดผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงในสหรัฐอเมริกา แม้ว่าการเจรจาซื้อกิจการ”บัมเบิลบี” มูลค่าสูงถึง 4.8 หมื่นล้านบาทในปี 2559 ไม่สำเร็จก็ตาม ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการมากกว่า 50 บริษัท

ผลจากการใส่ไข่ในตระกร้าหลายใบ และมองหาโอกาสในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ทำให้ TU สามารถขยายอาณาจักรได้อย่างรวดเร็ว ทำธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ส่งผลให้ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป เติบโตก้าวกระโดด ในทุกๆ ด้าน และสร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ทางด้านยอดขาย รายได้ กำไรสุทธิ รวมถึงมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(มาร์เก็ตแคป) โดยมีกระแสเงินสดเพิ่มเข้ามาทุกปี สามารถนำไปชำระหนี้ลงบางส่วน ลดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนลงอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้นยังทุ่มงบลงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท ต่อยอดทางด้านวัตกรรม เปิดตัวศูนย์นวัตกรรม Global Innovation Incubator ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาระดับโลก และเป็นแห่งแรกในประเทศไทย จนทำให้ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ได้รับการคัดเลือกให้ติดอยู่ในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices :DJSI) ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่เป็นครั้งแรกในปี 2555 และสามารถรักษาความยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นการเติบโตที่ชะลอตัวลง และลดลงในบางด้าน จนส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น และมาร์เก็ตแคป นับตั้งแต่ปี 2560 มาถึงปัจจุบัน เห็นได้จากยอดขายที่ลดลง ด้วยหลายปัจจัย ทั้งราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น การแข่งขันที่รุนแรง อัตราแลกเปลี่ยน และราคาพลังงาน

ส่วน บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส หนึ่งในบริษัทปิโตรเคมีและผู้ผลิตในห่วงโซ่โพลีเอสเตอร์ชั้นนำระดับโลก มีโรงงานผลิตครอบคลุมภูมิภาคหลักทั่วโลก ได้แก่ แอฟริกา เอเชีย ยุโรปและอเมริกาเหนือ มี 2 ธุรกิจหลัก คือ
กลุ่มโพลีเอสเตอร์ (PTA, PET และเส้นใยโพลีเอสเตอร์) และกลุ่มธุรกิจพลาสติกและเคมีภัณฑ์ รองรับลูกค้าในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคหลากหลาย อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย ผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลส่วนบุคคล และอุตสาหกรรมยานยนต์

“ริชาร์ด โจนส์” รองประธานกรรมการและหัวหน้าฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร เล่าให้ฟังว่า IVL เริ่มออกไปต่างประเทศครั้งแรกในปี 2546 โดยซื้อกิจการในประเทศสหรัฐอเมริกา

ตอนนั้นตัดสินใจไปลงทุนที่สหรัฐ เพราะบริษัทมีลูกค้ารายใหญ่อยู่ที่สหรัฐอเมริกา จึงต้องการให้บริการอย่างใกล้ชิด และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าที่สูงด้วย หลังจากนั้นก็มีการซื้อธุรกิจอีกหลายแห่ง และกระจายในหลายประเทศ เพื่อให้บริการทั่วโลก สอคล้องกับลูกค้าส่วนใหญ่ที่เป็นบริษัทข้ามชาติ

“ไม่เคยคิดว่า IVL จะมาได้ไกลถึงขนาดนี้ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร และพนักงานมีความเข้าใจ เกิดความร่วมมือร่วมใจกันอย่างเต็มที่ ส่วนแหล่งเงินลงทุน ก็ได้มาจากเงินปันผลของกิจการที่เข้าไปซื้อ โดยยังคงซื้อกิจการในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เราตั้งเป้าว่าจะมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อม(อิบิทด้า)เพิ่มขึ้นเป็น 1,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 57,000 ล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีอิบิทด้ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 33,000 ล้านบาท ” ริชาร์ดกล่าว

ปัจจุบัน IVL เป็นเจ้าของกิจการร่วม 20 บริษัท การเติบโตก้าวกระโดอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ (DJSI) และล่าสุด เอ็มเอสซีไอประกาศเพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้น IVLการเติบโตของมาร์เก็ตแคป ทำให้” อาลก โลเฮีย”มีชื่อติดมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินมากกว่า 1 แสนล้านบาท

TU และ IVL แตกต่างกัน ตรงไหน

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้กำไรของ TU ไม่เติบโตมากเหมือนที่ผ่านมา เพราะธุรกิจอาหารเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ทำให้ยอดขายโตติดลบ และอัตรากำไรแคบลง

แม้ว่าในไตรมาส 2/2561 บริษัทมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปรกติที่ 1,368 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57.5% จากไตรมาส 1 แต่ยังคงลดลง 3.7% เมื่อเทียบไตรมาส 2/2560 เกิดจากยอดขายโตลดลง 2% เทียบกับจำนวน 34,137 ล้านบาท เนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนั้น TU ยังมีค่าใช้จ่ายพิเศษ ในไตรมาส 2/2561 มีกำไรสุทธิเพียง 9 ล้านบาท เนื่องจาก บริษัท ชิกเก้นออฟเดอะซี ตั้งสำรองพิเศษทางกฎหมายจำนวน 44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากบรรลุข้อตกลงชำระค่าชดเชยกับร้านค้าปลีก Walmart ภายใต้คดีต่อต้านการผูกขาด (Antitrust) และคดีอื่นๆ

“บัลลังก์ ไวยานนท์” ผู้จัดการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ TU เปิดเผยว่า ปีนี้บริษัทจะพยายามรักษายอดขายไม่ให้ต่ำกว่าปีที่แล้วที่มียอดขายจำนวน 136,535 ล้านบาท จากเดิมที่ตั้งเป้าเติบโต 5% เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรก บริษัทได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า 9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่งผลให้ยอดขายลดลง 3.6% เหลือ 63,839 ล้านบาท ส่วนยอดขายในสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 38% ของรายได้รวม ยังสามารถเติบโตได้ที่ระดับ 3%

ส่วนอัตรากำไรขั้นต้น ในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทตั้งเป้าเพิ่มเป็น 14-15% จากครึ่งปีแรกที่ทำได้เพียง 12.6% รวมทั้งปีจะรักษาอัตรากำไรขั้นต้นให้ใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่ 13.8% ขณะเดียวกันจะควบคุมค่าใช้จ่ายต่อยอดขายให้อยู่ที่ไม่เกิน 10.5% ซึ่งปีนี้บริษัทมีแผนลดค่าใช้จ่ายต่างๆลง 1,000 ล้านบาท

สำหรับงบลงทุนปีนี้ที่ตั้งไว้ 4,500 ล้านบาท ใช้ลงทุนในธุรกิจปกติแล้ว 2,500 ล้านบาท คงเหลืองบลงทุนในธุรกิจปกติและการเข้าซื้อกิจการอีก 2,000 ล้านบาท

ขณะที่ IVL โชว์กำไรก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง จากปี 2557 จนถึงครึ่งปี 2561 คือ 1,485 ล้านบาท 6,609 ล้านบาท 16,197 ล้านบาท 20,882 ล้านบาท และ 5,814 ล้านบาท ตามลำดับ

แต่ไม่ใช่ว่า IVL จะไม่มีค่าใช้จ่ายพิเศษ หรือไม่เคยเผชิญปัญหาที่คาดไม่ถึงเลย ในปี 2560 ลูกค้าที่ซื้อวัตถุดิบรายใหญ่ M&G Polymers USA, LLC ได้ยื่นคำร้องเพื่อขอล้มละลายตาม Chapter 11 แห่งกฎหมาย
ล้มละลายของสหรัฐอเมริกา โดยมียอดหนี้ที่ค้างชำระประมาณ 39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,300 ล้านบาท นอกจากนี้ โรงงานในมลรัฐเท็กซัสต้องปิดชั่วคราว เพราะเกิดพายุเฮอริเคนฮาร์วีย์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา แต่บริษัทยังคงมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 4,685 ล้านบาทหรือเติบโตประมาณ 28% จากปี 2559 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริษัทมีการซื้อกิจการขนาดใหญ่เกิดขึ้น ทำให้ยอดขาย และรับรู้กำไรจากการลงทุนมากขึ้น

ปัจจุบันธุรกิจทั่วโลกเผชิญกับความไม่แน่นอน ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปมาก และโลกใบนี้เหลือกิจการอาหารขนาดใหญ่ให้ TU เลือกซื้อน้อยลง นักลงทุนจะต้องติดตามว่า ‘ธีรพงศ์ จันศิริ’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารจะสามารถผลักดันยอดขายแตะ 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2563 ตามเป้าหมายหรือไม่ หรือควรมองหาโอกาสการลงทุนในหุ้นตัวใหม่ที่เห็นกำไรเติบโตก้าวกระโดดแทน