กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF) เตรียมเข้าลงทุนเพิ่มครั้งที่ 3 ไม่เกิน 53,237 ล้านบาท หน่วยลงทุนใหม่ไม่เกิน 3,831 ล้านหน่วย เสนอขายผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมและประชาชนทั่วไป เคาะช่วงราคาเสนอขายหน่วยลงทุน 13.60-13.90 บาทต่อหน่วย
นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ ในฐานะผู้จัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF) เปิดเผยว่า DIF ซึ่งเป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ที่จัดตั้งขึ้นเป็นรายแรกและเป็นรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้พิจารณาและกำหนดให้การเพิ่มทุนจดทะเบียนครั้งใหม่ของกองทุนมีจำนวนรวมไม่เกิน 53,237 ล้านบาท (คำนวณจากมูลค่าที่ตราไว้หน่วยละ 10 บาท) โดยจะออกและเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่จำนวนรวมไม่เกิน 3,831 ล้านหน่วย ซึ่งสอดคล้องกับแผนการระดมเงินทุนเพื่อนำมาใช้ลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ภายหลังได้รับมติจากที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนของ DIF ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2560
ทั้งนี้ การลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติมครั้งที่ 3 นี้ จะมีส่วนช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมในประเทศไทย เพื่อรองรับปริมาณความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟนและระบบบรอดแบนด์ที่เพิ่มขึ้น จากการเปลี่ยนมาใช้ระบบ 4G LTE และการติดตั้งระบบ 5G ในอนาคต พร้อมทั้งมีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมดิจิทัลสมบูรณ์แบบ สอดคล้องกับนโยบายพัฒนาประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล และการพัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัลโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่วางแผนพัฒนาเครือข่ายบรอดแบนด์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ภายในปี 2563 จากปี 2557 ที่ร้อยละ 27
นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สาย Primary Distribution ธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน Sole Global Coordinator และผู้จัดการการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนในประเทศ กล่าวว่า หลังจากที่ผู้จัดการกองทุนและที่ปรึกษาทางการเงิน ได้ยื่นแบบคำขออนุมัติเพิ่มทุนจดะเบียนของกองทุน ร่างหนังสือชี้ชวนและรายละเอียดโครงการของกองทุน สำหรับการออกและเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่ของ DIF ให้แก่สำนักงาน ก.ล.ต. พิจารณา ล่าสุดสำนักงาน ก.ล.ต. ได้พิจารณาอนุมัติการเสนอขายหน่วยลงทุนเป็นที่เรียบร้อย
ทั้งนี้ ได้กำหนดช่วงราคาเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่ของ DIF ที่ 13.60 – 13.90 บาทต่อหน่วย โดยเสนอขายให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีรายชื่อปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน (Record Date) ในวันที่ 17 เม.ย.2561 ตามสัดส่วนการถือหน่วยลงทุน (ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีสิทธิ”) ซึ่งจะมีสิทธิในการจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่ในอัตราส่วนเท่ากับ 2.0911 หน่วยลงทุนเดิม ต่อ 1 หน่วยลงทุนใหม่ ทั้งนี้จะขึ้นเครื่องหมาย XB วันแรกในวันที่ 12 เม.ย.2561 ซึ่งเป็นวันแรกที่ผู้ซื้อหน่วยลงทุนไม่ได้รับสิทธิจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่ และเสนอขายต่อประชาชนทั่วไป (Public Offering) จัดสรรโดยวิธี Small Lot First
สำหรับการระดมทุนเพิ่มเติมครั้งนี้ จะนำเงินมาลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ได้แก่ 1. กรรมสิทธิ์ในเสาโทรคมนาคมที่ใช้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประมาณ 2,589 เสา 2. กรรมสิทธิ์ในใยแก้วนำแสง (Fiber Optic Cable หรือ FOC) สำหรับให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในต่างจังหวัดประมาณ 252,006 คอร์กิโลเมตร 3. กรรมสิทธิ์ในใยแก้วนำแสงสำหรับให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตในกรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณ 117,871 คอร์กิโลเมตร 4. กรรมสิทธิ์ในใยแก้วนำแสง ซึ่งรองรับระบบ FTTx สำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตและบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในต่างจังหวัดประมาณ 220,428 คอร์กิโลเมตร และ 5. สิทธิการเช่าระยะยาวประมาณ 30 ปีในใยแก้วนำแสงรองรับระบบ FTTx สำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตและบรอดแบนด์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณ 619,986 คอร์กิโลเมตร รวมทั้งสิทธิการซื้อ (Call Option) ใยแก้วนำแสงที่รองรับระบบ FTTx ดังกล่าว โดยมีราคาใช้สิทธิสำหรับซื้อกรรมสิทธิ์ในใยแก้วนำแสง 1,300 ล้านบาท
นายประเสริฐ ดีจงกิจ SVP ผู้จัดการ ฝ่ายทุนธนกิจ สายวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนในประเทศ กล่าวว่า ได้กำหนดเปิดให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีสิทธิจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่ที่จะเสนอขายในวันที่ 2 – 8 พ.ค.นี้ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อในวันที่ 2 – 11 พ.ค.นี้ (เฉพาะวันทำการ) ได้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ยกเว้นสาขาไมโคร และธนาคารกรุงไทย (KTB) ทุกสาขาทั่วประเทศ โดยผู้จองซื้อทั่วไปต้องชำระค่าจองซื้อหน่วยลงทุนที่ราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น คือที่ราคา 13.90 บาทต่อหน่วย สำหรับราคาเสนอขายสุดท้ายจะถูกกำหนดหลังจากการ Bookbuild ของนักลงทุนสถาบัน ซึ่งคาดว่าจะประกาศอย่างช้าวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 ทั้งนี้ หากราคาเสนอขายสุดท้ายต่ำกว่า 13.90 บาทต่อหน่วย หรือไม่ได้รับการจัดสรรหน่วยลงทุนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน นักลงทุนจะได้รับเงินค่าจองซื้อคืนภายใน 7 วันทำการ โดยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร หรือภายใน 10 วันทำการ โดยการชำระเป็นเช็ค หรือแคชเชียร์เช็ค ซึ่งนับจากวันสิ้นสุดระยะเวลาการเสนอขาย
ทั้งนี้ มั่นใจว่าการเพิ่มทุนครั้งนี้จะส่งผลให้กองทุน DIF มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น จากการมีทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่หลากหลายและครอบคลุมการให้บริการด้านโทรคมนาคมให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ สอดคล้องกับภาพรวมอุตสาหกรรมการสื่อสารและโทรคมนาคม ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต จึงทำให้กองทุนมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
นายเอกภพ เมฆกัลจาย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีม Markets Sales and Product Solutions สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ภายหลังการลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 3 แล้วเสร็จ DIF จะมีทรัพย์สิน ประกอบด้วย กรรมสิทธิ์และสิทธิในการรับประโยชน์จากรายได้สุทธิในเสาโทรคมนาคม 15,271 เสา พร้อมรองรับทุกคลื่นความถี่ กรรมสิทธิ์ สิทธิการเช่าระยะยาว และสิทธิการรับประโยชน์จากรายได้สุทธิในใยแก้วนำแสงกว่า 2.6 ล้านคอร์กิโลเมตร และกรรมสิทธิ์ในระบบบรอดแบนด์ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด 1.2 ล้านพอร์ต ซึ่งจะช่วยเพิ่มความหลากหลายของทรัพย์สินและรองรับการใช้งานที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศไทยมากยิ่งขึ้น และยังส่งผลให้อายุสัญญาเช่าเฉลี่ยของ DIF ยาวนานขึ้น โดย DIF จะมีอายุสัญญาเช่าเฉลี่ยประมาณ 20 ปี ส่งผลให้ DIF รับรู้รายได้ภายใต้สัญญาเช่าระยะยาวซึ่งจะเป็นพื้นฐานให้ DIF สามารถจัดสรรผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้ในระยะยาว