HoonSmart.com>> “โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา” คาดไตรมาส 3 อัตราการเข้าพักเพิ่มเป็น 14-18% ไตรมาส 4 เป็น 30-44% หวังโควิด-19 เริ่มดีขึ้น เตรียมทยอยเปิดบริการโรงแรมในเดือน ต.ค.64 ปลายเดือน ต.ค. เปิดโรงแรมใหม่ที่ประเทศดูไบ ส่วนที่หาดกะตะ-กะรน เลื่อนเปิดบริการไปกลางปี 65 รอนักท่องเที่ยวกลับมา ตั้งงบลงทุน 3 ปีนี้ รวม 1.04 หมื่นล้านบาท มั่นใจไม่ต้องเพิ่มทุน มีเงินสด 2.9 พันล้านบาท กู้ได้อีก 8.3 พันล้านบาท อยู่ได้ถึงไตรมาส 4/65
ดร.รณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโส ฝ่ายการเงินและบริการ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าในไตรมาส 3/2564 อัตราการเข้าพักของลูกค้า (Occupancy Rate) จะอยู่ที่ระดับ 14-18% ฟื้นตัวจากไตรมาส 2 อยู่ที่ 12% โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 มีโรงแรมเปิดดำเนินการทั้งหมด 9 โรงแรม ส่วนในไตรมาส 4 คาดว่าอัตราการเข้าพักอยู่ที่ระดับ 30-44% ภายใต้การประเมินว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 น่าจะดีขึ้น
สำหรับการเปิดหรือปิดโรงแรมนั้น บริษัทประเมินจากความต้องการเข้าพัก และต้นทุนของการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนใหญ่คาดว่าโรงแรมจะกลับมาเปิดในเดือน ต.ค.นี้ อาทิ เกาะสมุย ,กระบี่ และหาดใหญ่ ส่วนโรงแรมที่จังหวัดภูเก็ต บริเวณกะตะ และกะรน ยังพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติค่อนข้างมาก คาดว่าจะเลื่อนไปเปิดกลางปี 2565 ส่วนการเปิดเมืองภูเก็ต ถือเป็นโอกาสเริ่มที่ดี โดยบริษัทก็มีโรงแรมที่ได้ประโยชน์ คือ โรงแรม เซ็นทรัล แกรนด์ ภูเก็ต มีอัตราการเข้าพักในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 16% คาดว่าสิ้นเดือน ส.ค.นี้ จะเพิ่มขึ้นถึง 18% และช่วงปลายปีจะเพิ่มขึ้นถึง 50-70%
ปัจจุบันบริษัทฯมีโรงแรมภายใต้การบริหารงานทั้งสิ้น 84 โรงแรม จำนวน 17,224 ห้อง แบ่งออกเป็นโรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 44 โรงแรม จำนวน 7,819 ห้อง ( บริษัทฯเป็นเจ้าของเอง 18 โรงแรม และอีก 26 โรงแรมบริษัทฯรับจ้างบริหาร) ณ สิ้นไตรมาส 2/2564 เหลือเปิดดำเนินการเพียง 9 โรงแรม (บริษัทเป็นเจ้าของเองทั้งหมด) ส่วนโรงแรมที่อยู่ระหว่างพัฒนาอยู่อีก 40 โรงแรม รวม 9,405 ห้อง คาดว่าในปี 2564 จะเปิดเพิ่มอีก 1 แห่ง (บริษัทเป็นเจ้าของเอง) ช่วงปลายเดือน ต.ค. นี้ ที่ประเทศดูไบ จำนวน 607 ห้อง
ขณะที่เงินลงทุนในระยะเวลา 3 ปีนี้ (2564-2566) ตั้งไว้ที่จำนวน 10,400 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2564 ใช้ประมาณ 3,000 ล้านบาท (ลงทุนธุรกิจโรงแรม 1,900 ล้านบาท และธุรกิจร้านอาหาร 1,100 ล้านบาท) ปี 2565 ใช้ 3,500 ล้านบาท (ลงทุนธุรกิจโรงแรม 1,700 ล้านบาท ,ธุรกิจร้านอาหาร 900 ล้านบาท และรองรับการขยายโครงการในอนาคต 900 ล้านบาท) และปี 2566 ใช้ 3,900 ล้านบาท (ลงทุนธุรกิจโรงแรม 2,600 ล้านบาท ,ธุรกิจร้านอาหาร 800 ล้านบาท และรองรับการขยายโครงการในอนาคต 500 ล้านบาท)
บริษัทมีความแข็งแกร่งด้านการเงิน ไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุน โดย ณ สิ้นไตรมาส 2/2564 มีกระแสเงินสดอยู่ที่ 2,900 ล้านบาท มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (IBD/E) อยู่ที่ระดับ 0.7 เท่า มีความสามารถในการขอวงเงินจากสถาบันการเงินอีก 8,300 ล้านบาท รวมมีวงเงินสำหรับธุรกิจ 11,200 ล้านบาท รองรับการดำเนินงานไปได้จนถึงไตรมาส 4/2565
ส่วนธุรกิจร้านหารแนวโน้มก็มีผลกระทบบ้าง แต่อย่างไรก็ตามยังมีสามารถดำเนินธุรกิจได้อยู่ เนื่องจากมาตรการภาครัญปรับเปลี่ยนให้สามารถจัดส่งอาหารได้ตามปกติ ซึ่งบริษัทก็ได้ปรับกลยุทธ์ในการทำร้านหารเป็นรูปแบบ Cloud Kitchen และ Delivery มากยิ่งขึ้น
ด้านผลประกอบการในไตรมาส 2/2564 มีรายได้รวมอยู่ที่ 2,690 ล้านบาท ลดลง 3% จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และมีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 607 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ -475.72 ล้านบาท และจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว -465.49 ล้านบาท ส่วน 6 เดือนแรกของปีนี้ มีรายได้รวม 5,463 ล้านบาท ลดลง 21% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และมีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 1,082 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีผลขาดทุน 511 ล้านบาท