HoonSmart.com>> สศช. ปรับลดเป้าเศรษฐกิจปี 64 เหลือโต 0.7-1.2% หลังไตรมาส 2 โต 7.5% ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ผู้ว่าธปท.ยันมาตรการคลังจำเป็นแนะรัฐบาลกู้อีก 1 ล้านล้านบาท หนุนจีดีพีโตใกล้ศักยภาพ “ธนินท์ เจียรวนนท์”ให้มุมมองโควิดกับทางออกของประเทศไทย ยก 4 ประเด็นที่ต้องทำพร้อมกัน ปากท้อง-ป้องกัน-รักษา-อนาคต ด้านศบค. ขยายล็อคดาวน์ 29 จังหวัดถึง 31 ส.ค. หุ้นเด้งขึ้นแรงจาก -16 จุด ปิดบวก 2.92 จุด ต่างชาติซื้อ 1,433.42 ล้านบาท
นายอนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2564 น่าจะขยายตัวในช่วง 0.7 – 1.2% ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จากการลดลง 6.1% ในปี 2563 โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 1% ซึ่งปรับลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดเติบโต 1.5-2.5% โดยมีสมมติฐานจากการแพร่ระบาดภายในประเทศจะผ่านพ้นจุดสูงสุดในช่วงปลายเดือนส.ค. และสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมในหลายพื้นที่ได้มากขึ้น ขณะที่การแพร่ระบาดในต่างประเทศไม่รุนแรงมากขึ้น
ส่วนเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2/2564 ขยายตัว 7.5% ดีขึ้นจากการลดลง 2.6% ในไตรมาสแรก และเป็นการกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปีก่อน เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว ไตรมาสที่ 2 ขยายตัวจากไตรมาสแรกที่ 0.4% รวมครึ่งแรกของปี 2564 ขยายตัว 2.0%
“เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย แต่มีโมเมนตัมที่จะขยายตัวลดลง ซึ่งเป็นผลจากการระบาด ไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจเหมือนครั้งที่ผ่านมา “ เลขาธิการ สศช. กล่าว
สำหรับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2564 นายอนุชา กล่าวว่า ควรให้ความสำคัญกับ 7 เรื่อง เช่น 1.การควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัด 2.การช่วยเหลือเยียวยาประชาชน แรงงาน และภาคธุรกิจ 3.การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า 4.การรักษาบรรยากาศทางการเมืองและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
ด้านนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวหัวข้อ”จับอาการเศรษฐกิจ สร้างทางออกวิกฤตไทย” ว่า มาตรการด้านการคลังจะมีบทบาทและความจำเป็นอย่างมากที่จะเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจ แต่เม็ดเงินของภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันคงไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้น ในเบื้องต้นเม็ดเงินที่เติมเข้าไปในระบบควรมีอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 7% ของ GDP เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาโตใกล้ศักยภาพเร็วขึ้น แม้หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 70% ของ GDP ในปี 2567 แต่จะลดลงได้ค่อนข้างเร็วตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็ว และพบว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในอีก 10 ปีข้างหน้า (ปี 2574) จะต่ำกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่มเติมถึงกว่า 5% หากรัฐบาลไม่เร่งพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมในภาวะที่ความไม่แน่นอนสูง เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตยืดเยื้อ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP แม้จะเพิ่มขึ้นช้า แต่จากการประมาณการ คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงและปรับลดลงได้ไม่มากนักในระยะยาว
นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ให้สัมภาษณ์ในหัวข้อ “มุมมอง ธนินท์ เจียรวนนท์ โควิดกับทางออกของประเทศไทย”ว่า ขณะนี้เป็นหัวเลี้ยว หัวต่อของประเทศไทย ซึ่งวิกฤตโควิดเป็นเหมือนสงครามโลก (โรค) ครั้งที่ 3 ก็ว่าได้ เพราะทุกประเทศในโลกได้รับผลกระทบทั้งหมด แต่หากประเทศใดปรับตัวได้ ก็จะก้าวกระโดด แต่หากประเทศไทยขาดนโยบายที่มีความพร้อม และมีการเปลี่ยนแปลงไม่เร็วพอ ก็จะตกขบวน ตามหลังประเทศเพื่อนบ้าน โดยได้ยก 4 ประเด็น ที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ 1. ปากท้อง 2. ป้องกัน 3. รักษา 4.อนาคต
ประเด็นแรกเรื่อง “ปากท้อง” ในสถานการณ์ปัจจุบัน คนได้รับความลำบากมาก โดยเฉพาะคนมีรายได้น้อยในเมือง และคนที่มีภาระ เมื่อเจอเข้ากับวิกฤตที่ต้องกักตัว ไปทำงานไม่ได้ จะทำให้ลำบากมาก เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่ภาครัฐต้องมีมาตรการมาดูแล ส่วนภาคเอกชน ทำได้เพียงช่วยแบ่งเบาภาระ
ประเด็นที่สอง การ “ป้องกัน” โดยวัคซีนหากยิ่งฉีดได้ครอบคลุมรวดเร็วมากเท่าไหร่ ก็จะลดผลกระทบได้มากเท่านั้น เช่น อังกฤษ พอฉีดได้จำนวนมาก ก็กลับมาเปิดประเทศ ถึงแม้ว่าจะติดเชื้อเพิ่ม แต่ก็ไม่ตาย ไม่เจ็บหนัก ก็จะทำให้ประเทศสามารถเดินต่อไปได้ ซึ่งต้องตั้งเป้าหมายฉีดให้ครบ 100% ไปเลย โดยนำเข้าวัคซีนทุกยี่ห้อ ยิ่งมีทางเลือกมาก ประชาชนก็มั่นใจ และ ฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้น
ประเด็นที่สาม คือ การ”รักษา” ต้องเร็ว ถึงแม้ว่าผู้ป่วย 90% หายได้ด้วยการดูแลตัวเอง แต่การที่ผู้ป่วยต้องอยู่บ้านเป็น Home Isolation มากขึ้น ยังจำเป็นต้องดำเนินการคู่กับหมอทางไกล Telehealth และต้องเข้าถึงยาโดยเร็ว อย่ารอให้คนไข้มีอาการหนัก และควรกระจายยาอย่างรวดเร็ว ลดขั้นตอน ยุคนี้ต้องเร็วและมีคุณภาพ
และประเด็นที่ 4 คือ “อนาคต” ว่า ประเทศไทยเสี่ยงถดถอยหากภาครัฐไม่มีมาตรการรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ปัจจุบัน ธุรกิจขนาดจิ๋ว เล็ก กลาง ใหญ่ ล้วนได้รับผลกระทบ และหากต้องล้มหายตายจากไปหลังพ้นวิกฤต บริษัทที่จะจ่ายภาษีให้ประเทศจะมีจำนวนลดน้อยลง และเครื่องจักรเศรษฐกิจ เช่น ท่องเที่ยว ส่งออก ใช้เวลาฟื้นตัวช้าหากมีการปิดกิจการไปแล้ว
ดังนั้น ต้องดูแลให้ธุรกิจทุกระดับอยู่รอดและปรับตัวสู่ธุรกิจอนาคต โดยเฉพาะธุรกิจ 4.0 และที่สำคัญต้องเตรียมพร้อมเรื่องคน และไทยต้องขยับไปสู่ธุรกิจไฮเทค แต่ก็ตามมาเรื่องคน คนเราพร้อมหรือไม่ รัฐบาลพูดไป แต่ยังขับเคลื่อนได้ช้า รัฐบาลต้องออกไปเชิญชวนการลงทุนมาเพื่อสร้างงานในประเทศไทย ดึงดูดนักลงทุนให้มาลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศไทย ไม่ใช่ไปประเทศเพื่อนบ้าน
“ยามมืดสุด ต้องคิดว่าเมื่อสว่างแล้ว ประเทศจะเป็นอย่างไร ดังนั้นทั้ง 4 เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ต้องทำพร้อมกัน ในยามวิกฤต จะใช้ขั้นตอนแบบเดิมไม่ได้ ต้องรวดเร็วและมีคุณภาพ”ธนินท์ เจียรวนนท์กล่าว
นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เปิดเผยว่า วันนี้ (16 ส.ค. 64) ที่ประชุมศบค. ชุดใหญ่ ได้มีมติคงระดับพื้นที่มาตรการย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรและคงมาตรการเดิมตามแต่ละพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 18-31 ส.ค. 64 โดยได้ปรับให้สถาบันการเงินในห้างสรรพสินค้าเปิดให้บริการได้
นอกจากนี้ยังได้มีการเพิ่มมาตรการและยังมีข้อเสนอให้รัฐสนับสนุนการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตัวเองได้ ร่วมจัดทำ Thai Covid Pass ให้เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดประเทศ
ด้านตลาดหุ้นไทยผันผวนสูง จากดัชนีลงไปต่ำสุด 1512.28 จุด หรือไหลลง 16 จุด แต่เด้งกลับอย่างรวดเร็ว มาปิดที่ 1,531.24 จุด +2.92 จุด มูลค่าการซื้อขาย 77,166.69 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1,433.42 ล้านบาท สวนทางสถาบันไทยขาย 1,128 ล้านบาท และรายย่อยขาย 430.75 ล้านบาท
นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นมีแรงซื้อกลับ หลังจากลงไปทดสอบแถวบริเวณแนวรับสำคัญ รวมถึงเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 เติบโต 7.5% ดีกว่าที่ตลาดคาดที่ 6-6.5% ถึงแม้ว่จะมีการปรับลดทั้งปี 2564 ลงอยู่ที่ 0.7-1.2% แต่ไม่ถึงขึ้นติดลบทำให้ตลาดยังมีความหวัง
แนวโน้มหุ้นในสัปดาห์นี้ (17-20 ส.ค.2564) คาดว่าตลาดยังเคลื่อนไหวในกรอบ มีแนวรับที่ 1,500 จุด และแนวต้านที่ 1,540-1,550 จุด แนะนำหุ้นปลอดภัยได้แก่ DTAC และ ADVANC ส่วนหุ้นปันผลดีแนะนำ KKP และหุ้นเด่น แนะนำ SVOA ปัจจัยที่ต้องติดตามต่อได้แก่ การเมือง และผลสรุปการประชุมเฟดล่าสุด ที่จะออกมาในวันพุธนี้