HoonSmart.com>>บริษัทที่ทำธุรกิจโลจิสติกส์ ประกาศกำไรออกมาดีมากในไตรมาสที่ 2 /2564 นำโดยบริษัท อาร์ ซี แอล (RCL) มีกำไรสูงลิ่ว 3,189 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่อง 8.41% จากไตรมาสแรกที่ทำได้ 2,941.58 ล้านบาท และกระโดดไกลถึง 1,382.75% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทิ้งห่างบริษัทคู่แข่ง PSL และ TTA ขณะเดียวกันบริษัทหลายแห่งโชว์กำไรสูงเกินคาด สร้างสถิติสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) นักวิเคราะห์ตัดสินใจปรับราคาเป้าหมายและกำไรสุทธิ 2 ปีติดต่อกัน อาทิ III,LEO,SONIC เพราะมองเห็นความแข็งแกร่งของธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ก็มีการปรับลดราคาเป้าหมายลง เช่น PRM หลังจาก ไตรมาส 2/2564 มีกำไรสุทธิ 407 ล้านบาท แม้จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.69% จากไตรมาสแรก แต่ลดลงจากปีก่อน 7.91% ที่สำคัญมีกำไรปกติเพียง 232 ล้านบาท ทรุดลงถึง 40% จากไตรมาสแรก
บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) คงคำแนะนำซื้อ “III” หลังเปิดกำไรปกติครึ่งปีแรกที่ 164 ล้านบาท เติบโตขึ้นเด่นกว่า 171% จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นในทุกหน่วยธุรกิจ โมเมนตั้มยังดีต่อเนื่อง จึงปรับเพิ่มประมาณการของปี2564 ขึ้น 80% เป็น 316 ล้านบาท และปี 2565 ขึ้น 54% เป็น 387 ล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มผลประกอบการจากธุรกิจหลักที่ยังคงแข็งแกร่ง มีปัจจัยหนุนจากการเข้าลงทุนในธุรกิจใหม่ ที่สร้างรายได้แล้วและยังไม่รวมอยู่ในประมาณการ
แนวโน้มครึ่งปีหลังยังเติบโตเด่นที่ราว 40-50% จากการเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจโลจิสติกส์ ขณะที่ค่าระวางทางเรือและอากาศคาดยังทรงตัวในระดับ 100-20% เทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
“ปรับไปใช้ราคาเป้าหมาย ณ สิ้นครึ่งปี 2565 ที่ 17.10 บาท/หุ้น ราคาปัจจุบันเทียบเท่า P/E เพียง 22 เท่า ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับ WICE, LEO และ JWD ที่เทรดบนค่าเฉลี่ย 30.9 เท่า”บล.หยวนต้าระบุ
ทั้งนี้เป้าหมายใหม่ของกำไรปีนี้ที่ 316 ล้านบาท ใกล้เคียงกับที่ “ทิพย์ ดาลาล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ มั่นใจว่า จะสามารถสร้างการเติบโตได้เป็นสองเท่าของปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 162 ล้านบาทได้
ส่วน LEO ครึ่งปีนี้มีกำไร 43 ล้านบาท สร้างสถิติสูงสุดใหม่ รวม 6 เดือนทำได้มากกว่าทั้งปี 2563 คาดว่าครึ่งปีหลังยังเติบโตได้ดี บล.เคทีเอสที ปรับราคาเป้าหมายขึ้นเป็น 16 บาท จากเดิมให้ไว้ที่ 13 บาท อิง P/E 33 เท่า ของปี 2565 หลังจากปรับประมาณการกำไรปีนี้ขึ้น 32% เป็น 154 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 170% จากปี 2563 ส่วนปี 2565 ปรับกำไรขึ้น 24% เป็น 172 ล้านบาท หรือเติบโต 12% จากปีนี้
เราประเมินบริษัทจะมีอัตราการเติบโตของกำไรในปี 2563-2566 เฉลี่ย 49% ในปีนี้หลักๆ มาจากการปรับรายได้ขึ้น 24% เป็ น 1.94 พันล้านบาท หนุนโดยค่าระวางที่ยังอยู่ในระดับสูง และปริมาณการขนส่งที่ยังเติบโต ครึ่งปีหลังจะมีรายได้จาก China post เข้ามา และปีหน้าจะเข้ามาเต็มปี บริษัทยังเซ็นสัญญา MOU กับไปรษณีย์ไทย ดิสทริบิวชั่น ซึ่งยังไม่ได้รวมเข้ามาในประมาณการ โดยจะรอรายละเอียดมากขึ้นจากการประชุมนักวิเคราะห์ในวันที่ 17 ส.ค. นี้
อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมากกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ +57% ใน 3 เดือนที่ผ่านมา ยังคงคำแนะนำ”ซื้อ”
บล.ทรีนีตี้ปรับราคาเป้าหมาย LEO เป็น 15 บาท แนวโน้มในครึ่งหลังของปีนี้ยังเด่นกว่าในช่วง 6 เดือนแรก พร้อมปรับประมาณการกำไรปี 2564 และ ปี 2565 จากความต้องการเรือในการขนส่งยังสูงต่อเนื่องถึงปีหน้า และค่าขนส่งที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับบริษัท โซนิค อินเตอร์เฟรท (SONIC ) สร้างผลงานโดดเด่นในไตรมาสที่ 2/2564 กำไรสุทธิ 41.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.11 ล้านบาท หรือ 525.59% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน กำไร 6.68 ล้านบาท และรวม 6 เดือน กำไรสุทธิ 82.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62.36 ล้านบาท หรือ 309% จากกำไร 20.18 ล้านบาท
ดร.สันติสุข โฆษิอาภานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซนิค อินเตอร์เฟรท (SONIC ) เปิดเผยว่า กำไรมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจาก SONIC ผู้นำธุรกิจให้บริการการจัดการระบบโลจิสติกส์แบบครบวงจรระดับภูมิภาค มีรายได้รวมเติบโตเกินเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาส 2/64 มีรายได้รวม 1,279.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 114.41 % เทียบกับงวดเดียวกันของปี 2563 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 / 64 เท่ากับ 11.59% ส่งผลให้บริษัทได้ปรับเป้าหมายรายได้ปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็นเติบโต 60% จากเดิมที่ตั้งเป้าว่าจะเติบโต 20% และคณะกรรมการมีมติอนุมัติการลงทุนเพื่อขยายพื้นที่ให้บริการด้านโลจิสติกส์ เพิ่มจำนวน 33 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินที่ติดกับแปลงเดิมใน อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
ส่วน PRM บล.หยวนต้า ปรับประมาณการกำไรปีนี้และปีหน้าลง 8% และ 10% จากคาดการณ์เดิม เหลือ 1,505 ล้านบาท ลดลง 2%จากปีก่อนและ 1,474 ล้านบาท ลดลง 2% ตามลำดับ เพื่อให้สะท้อนกับการชะลอตัวของธุรกิจ FSU และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในช่วงแรกจากการรวมธุรกิจกับไทยออยล์มารีน แต่ราคาหุ้นร่วงรับผลประกอบการที่ชะลอตัวไปมากแล้ว จึงแนะนำ ถือ รอการฟื้นตัว หลังจากไตรมาสที่ 2/2564 มีกำไรปกติเพียง 232 ล้านบาท ลดลง 40% จากไตรมาสแรก และ 49% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะความต้องการเรือ FSU ทรุดตัวอย่างรวดเร็ว
ในภาวะตลาดหุ้นอ่อนแอตามเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดและสถานการณ์การเมือง กดดันหุ้นให้ปรับตัวลงเกือบทั่วกระดาน หุ้นโลจิสติกส์ ก็หนีไม่พ้น นักลงทุนควรอาศัยจังหวะนี้เลือกซื้อหุ้นที่มีแนวโน้มกำไรเติบโตระยะยาว และราคาปรับตัวขึ้นไม่มากเมื่อเทียบกับมูลค่าเหมาะสมที่นักวิเคราะห์ให้ไว้ มีหลายบริษัทที่มีเงินปันผลระหว่างกาลให้นักลงทุนเก็บเกี่ยวระหว่างทางได้ด้วย น่าจะเป็นทางเลือกลงทุนที่ดีทางหนึ่ง