HoonSmart.com>> กองทุนสำรองเลี้ยงชีพครึ่งปี 64 มูลค่าทรัพย์สินเพิ่ม 5.2 หมื่นล้านบาท กว่า 4.22% แตะ 1.3 ล้านล้านบาท จำนวนนายจ้างตั้งกองทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้านสมาชิกลดลง 4.2 หมื่นคน กว่า 1.45% เหลือ 2.88 ล้านคน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ณ มิ.ย. 2564 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1,301,026 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52,712 ล้านบาท หรือ 4.22% จากสิ้นปี 2563 ที่มีอยู่ 1,248,314 ล้านบาท โดยมีจำนวนนายจ้าง 20,612 แห่ง เพิ่มขึ้น 680 แห่ง หรือ 3.41% จากสิ้นปี 2563 ที่มีอยู่ 19,932 แห่ง และมีจำนวนสมาชิก 2,883,443 คน ลดลง 42,391 คน หรือ -1.45% จากสิ้นปี 2563 ที่มีอยู่ 2,925,834 คน
ด้านกองทุนมีจำนวน 366 กอง ลดลง 2 กอง หรือ -0.54% จากสิ้นปี 2563 ที่มีอยู่ 368 กอง (โดยนายจ้างยกเลิกกองเพื่อโอนย้ายไปเข้า master pooled fund 4 กองทุน และมีการจัดตั้งใหม่ 2 กองทุน)
สำหรับนายจ้างที่ยกเลิกกองเพื่อโอนย้ายไปเข้า กองแบบ master pooled fund (แบบที่มีหลายนายจ้างและหลายนโยบายการลงทุน) จากเดิมเป็นกองแบบ single fund ที่มีนโยบายการลงทุนเพียงนโยบายเดียว จำนวน 4 กอง ได้แก่ 1. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัท ทีบีเอสพี จำกัด (มหาชน) ซึ่งจดทะเบียนแล้ว 2. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สินพัฒนา ซึ่งจดทะเบียนแล้ว 3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงาน บลจ.ทิสโก้ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว และ 4. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไทยพาณิชย์เพิ่มผล 2 ซึ่งจดทะเบียนแล้ว
การโอนย้ายไปนั้น เป็นไปตามความประสงค์ของนายจ้างที่ต้องการให้ลูกจ้างสมาชิก PVD มีทางเลือกมากขึ้นและประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความคล่องตัวในการจัดการกองทุนmaster pooled fund 4 กองทุน
ส่วนจัดตั้งกองใหม่จำนวน 2 กอง ได้แก่ 1. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงาน กลุ่มบริษัทดับบลิวเอชเอ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว 2. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงาน บมจ.เงินติดล้อ มาสเตอร์ฟันด์ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว
ทั้งนี้ เรื่องการออกประกาศการจดทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และการเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อเข้าร่วมกองทุนหลายนายจ้าง เป็นเรื่องที่ ก.ล.ต. ในฐานะนายทะเบียน PVD ตาม พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ จะรวบรวมและนำมาประกาศปีละ 2 ครั้ง (กลางปี กับสิ้นปี) โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เป็นกองทุนภาคสมัครใจที่มีเป้าหมายการออมระยะยาวเพื่อให้มีเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ ที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันตั้งขึ้น เป็นเงินออมที่จะมาจากส่วนของลูกจ้างและนายจ้าง และจะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี