บจ.แห่ ‘ขายหุ้น-เลิกธุรกิจเดิม’ U ทิ้งรร.ยุโรป ซื้อกิจการใหม่

HoonSmart.com>>นักลงทุนมึน! เมื่อเห็นภาพธุรกิจของบริษัทหลายแห่งพลิกผัน ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่แพร่ระบาดมานานเกือบ 2 ปี ทำให้สมรภูมิการค้า การลงทุน รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วและรุนแรง ส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจ โดยเฉพาะโรงแรม ค้าปลีก และพลังงาน ต้องปรับตัวขนานใหญ่ จึงเห็นบริษัทเลือกวิธีตัดขายธุรกิจบางส่วนออกไป เพื่อทำกำไร และนำเงินไปใช้เสริมสภาพคล่อง พร้อมหาโอกาสจากธุรกิจใหม่ เช่นเดียวกับบริษัท ยู ซิตี้ (U) ที่กำลังดีลขายธุรกิจโรงแรมในยุโรปเกือบทั้งหมด  หากสำเร็จจะนำเงินมาซื้อธุรกิจที่สามารถสร้างกำไรและให้ผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นได้เร็วขึ้น…

ในภาวะวิฤตเศรษฐกิจถดถอย และคาดการณ์ไม่ได้ว่าสถานการณ์โควิดจะพีคที่จุดใด ธุรกิจจะคิดและทำแบบเดิมๆไปไม่รอดแน่นอน นักลงทุนที่จะตัดสินใจซื้อหุ้นตัวใดต้องทำการบ้านอย่างหนัก ไม่ควรหลงไหลกับตัวเลขกำไรพุ่งขึ้นปรี๊ดเพียงอย่างเดียว จะต้องรู้แหล่งที่มาด้วย เพราะเราคงจะเห็นบริษัทหลายแห่ง ตัดขายเงินลงทุนในบริษัทย่อย รวมถึงการขายทรัพย์สินออกไป ได้กำไรมหาศาล แต่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว และอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทในระยะยาว

เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป (MAJOR) ตัดสินใจขายหุ้นในบริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ (SF) ทั้งหมด 30.16% ในราคาหุ้นละ 12 บาท มูลค่ารวมประมาณ 7,766 ล้านบาท ได้ส่วนต่างราคาสูงถึง 3,313 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนที่ได้มา 4,452.6 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.9 บาท/หุ้น ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อราคาหุ้น แต่ตรงกันข้ามเพราะนักวิเคราะห์ประเมินว่าบริษัทต้องสูญเสียกำไรที่เคยรับรู้จาก SF ไตรมาสละ 100 ล้านบาท กดดันราคาหุ้นไหลลงมาจากบริเวณ 25 บาท มาอยู่แถว 18 บาท มูลค่าหายไปเกือบ 30% คุ้มไหมสำหรับนักลงทุนที่เข้าซื้อลุยในวันแรกที่ประกาศข่าวดี

เมเจอร์ฯให้เหตุผลในการขายหุ้นครั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะได้รับผลกระทบเชิงลบจาก SF เพราะโควิดมีผลต่อธุรกิจธุรกิจพัฒนาและบริหารศูนย์การค้า นอกจากนี้บริษัทยังมีเงินในการชำระคืนหนี้ลดภาระต้นทุนทางการเงินและมีกระแสเงินสดหมุนเวียนประมาณ 2,200 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องและพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด ขณะที่บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา(CPN) ซื้อหุ้น SF ไป ได้ศูนย์การค้าทั้งหมด 18 โครงการ มีพื้นที่ให้เช่ารวม 430,628  ตารางเมตร เช่นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ เมกาบางนาและศูนย์บันเทิง เอสพละนาด รัชดาภิเษก สามารถต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจที่มีอยู่ในปัจจุบันได้

เช่นเดียวกันกับ กรณี บริษัท ยูนิเวนเจอร์ (UV) ที่ทำธุรกิจโฮลดิ้ง ตัดสินใจขายหุ้นบริษัทแผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์(GOLD) ให้กับบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) หรือ FPT เมื่อได้รับข้อเสนอรับซื้อในราคาหุ้นละ 8.50 บาท ซึ่งสร้างผลตอบแทนที่สูงมาก มีการจ่ายเงินปันผลพิเศษแก่ผู้ถือหุ้นด้วย แต่ราคาหุ้นกลับไหลลงมาอย่างต่อเนื่อง เพราะการขายเครื่องปั๊มกำไรออกไป โดยยังไม่มีธุรกิจใหม่ที่ดีกว่ามาทดแทน ท่ามกลางธุรกิจที่ทำอยู่ รายได้จากการอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายก็ลดลงตามปัจจัยแวดล้อม

ตัวอย่างที่เห็น ทำให้บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ขายเงินลงทุนใน 2 บริษัทย่อย เสียโรงแรมในโปรตุเกสไป เพื่อรับเงินสดมามูลค่า 148 ล้านยูโร ประมาณ 5,700 ล้านบาท ได้กำไรก้อนหนึ่งแล้วยังไม่เพียงพอ  มีสัญญารับบริหารยาว 30 ปี สร้างรายได้ประจำ โดยมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น และงบการเงินดูดีขึ้น  รอเวลาให้ธุรกิจพลิกฟื้น โรงแรมที่ยุโรปดีขึ้นจากการเปิดประเทศ มีนักท่องเที่ยวภายในประเทศ และร้านอาหารดีขึ้น โดยเฉพาะที่เมืองจีน

ส่วน U ที่มีรายได้จากธุรกิจโรงแรมสูงมากเช่นเดียวกับ MINT คือกำไรก่อนหักดอกเบี้ยภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย(อีบิทดา) ประมาณ 70% ก็ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวของยุโรปกลับมาบูม แต่บริษัทมองไปข้างหน้าแล้ว ธุรกิจยังเหนื่อยอีกนาน แม้มีการลดค่าใช้จ่ายลงจำนวนมากแล้วก็ตาม เมื่อมีคนสนใจขอซื้อ จึงตัดสินใจขายทิ้งโรงแรมในยุโรปเกือบทั้งหมด คงเหลือประมาณ 1-2 แบรนด์

“หากขายสำเร็จตอนนี้คาดว่าจะได้เงินหลายพันล้านบาท และมีกำไรติดไม้ติดมือกลับมาอีกเล็กน้อย รวมกับเงินเพิ่มทุน จะนำเงินไปซื้อธุรกิจใหม่ที่สร้างกำไรได้เร็ว หากเป็นไปตามแผนที่วางไว้ คาดว่าจะเริ่มเห็นกำไรในปีหน้า พร้อมจะจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น  โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์ (U-P) ที่จะได้รับเงินปันผลก่อนจนครบ 1.10 บาทต่อหุ้นก่อน ถึงจะจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นสามัญ(U) ได้”

ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ร่วมกันพัฒนากับบริษัทแสนสิริ (SIRI) และบริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ (NOBLE) ก็ยังไปดี

ด้านบล.บัวหลวงมองบวกหุ้น U โดยเฉพาะ U-P ให้ราคาเป้าหมาย 1.30 บาท คาดให้ผลตอบแทนสูง ด้วย 4 เหตุผล คือ 1.หุ้นโรงแรมฟื้นกลับมาแล้ว เหลือเพียง U ที่ราคายังไม่ขึ้น 2. บริษัทประสบความสำเร็จในการเสริมฐานทุนแข็งแกร่งราว 3.9 หมื่นล้านบาท มีจำนวนหุ้น 3.2 หมื่นล้านหุ้น (5.6 พันล้านบาทสามัญและ 2.6 หมื่นล้านหุ้นบุริมสิทธิ์) 3. คาดกำไรจะเทิร์นอะราวด์ได้ทันที ที่การท่องเที่ยวฟื้นตัว 4.ราคาหุ้นปัจจุบันต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีที่ 1.23 บาท และเทรดบน P/BV เพียง 0.7 เท่า มองว่าราคา U-P ควรจะขึ้นไปซื้อขายเทียบเคียงกับ บริษัท วีรันดา รีสอร์ท (VRANDA) ที่ 1 เท่า ได้ เพราะโครงสร้างธุรกิจคล้ายกันคือมาจากโรงแรมและอสังหาฯ

บริษัทเพิ่มทุนได้กระแสเงินสดมา 1.6 หมื่นล้านบาท หลังจ่ายหนี้คืน 50% มีเงินสดในมืออีก 6 พันล้านบาท และยังมีกระแสเงินสดเข้ามาเดือนละ 220 ล้านบาท จากการมีธุรกิจอาคารให้เช่าและอสังหาฯ เพียงพอต่อการรับสถานการณ์นี้ได้นาน และธุรกิจโรงแรมมีการลดค่าใช้จ่ายได้ราว 2,500 ล้านบาท จุดคุ้มทุนอยู่ที่อัตราการเช่าพักเพียง 31-37%จากเดิมต้อง 50% คาดว่าแนวโน้มในครึ่งปีหลังจะมีกำไร ที่ผ่านมาโรงแรมมีศักยภาพมากในปี 2562 มีอัตราการเข้าพักสูงถึง 75% เมื่อการท่องเที่ยวยุโรปกลับมาเชื่อว่า อัตราการเช่าพักจะกลับมาอย่างรวดเร็ว

” ควรซื้อ U-P เพราะความเป็นบุริมสิทธิ์เหนือหุ้นสามัญในแง่ของปันผลสะสมจะได้ก่อน และตามกลไกตลาดโดยปกติจะเทรดพรีเมี่ยมกว่า U แต่ตอนนี้กลับลงมาต่ำกว่า จึงไม่ลังเลที่จะให้นักลงทุนคว้าโอกาสนี้ซื้อ U-P ทันที “บล.บัวหลวงระบุ