ทริสคาดคดี “แอชตัน อโศก” ไม่กระทบเครดิต ANAN ทันที

HoonSmart.com>>ทริสเรทติ้งคาดว่าการเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียม  “แอชตัน อโศก” จะไม่มีผลกระทบต่อสถานะเครดิตของ “ อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์” ในทันที สภาพคล่องทางการเงินของบริษัทยังอยู่ในวิสัยที่สามารถบริหารจัดการได้  มองว่าคำตัดสินอาจมีผลต่อแผนการออกหุ้นชุดใหม่ เผย 12 เดือนข้างหน้ามีหนี้จะครบกำหนดชำระประมาณ 9.1 พันล้านบาท 

บริษัททริสเรทติ้งมีความเห็นว่าคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่ให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ “แอชตัน อโศก” จะไม่มีผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) ในทันที

ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ “BBB-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่” และจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ไม่มีประกันและไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการ (Hybrid Debentures)ที่ระดับ “BB” โดย ณ วันที่ศาลมีคำพิพากษานั้น โครงการแอชตัน อโศก มีมูลค่าคอนโดมิเนียมเหลือขายเพียง 0.8 พันล้านบาทจากมูลค่าโครงการทั้งหมด 6.5 พันล้านบาท บริษัทถือหุ้นในโครงการดังกล่าวในสัดส่วน 51% และที่เหลือถือหุ้นโดย SEA Investment 5 Pte. Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ Mitsui Fudosan Co., Ltd. ส่วนแบ่งกำไรสำหรับห้องชุดที่เหลือขายตามสัดส่วนการลงทุนของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 60 ล้านบาท และโครงการดังกล่าวไม่มีภาระหนี้คงเหลือแล้ว

ทริสมองว่าสภาพตลาดทุนที่ไม่เอื้ออำนวยจากผลการตัดสินของศาลอาจส่งผลกระทบต่อแผนการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ของบริษัท แต่จากการประเมินของทริสเห็นว่าสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทยังอยู่ในวิสัยที่สามารถบริหารจัดการได้ โดย ณ วันที่ 31 ก.ค. 2564 บริษัทมีเงินสดจำนวน 4.1 พันล้านบาทและมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากสถาบันการเงินอีกจำนวน 7.2 พันล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีสินค้าเหลือขายในโครงการที่ปลอดภาระหนี้ซึ่งมีมูลค่าขายรวม 4.8 พันล้านบาทอีกด้ว

ขณะที่บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในระยะ 12 เดือนข้างหน้า ประมาณ 9.1 พันล้านบาท ประกอบด้วยเงินกู้โครงการจำนวน 0.2 พันล้านบาทและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันจำนวน 7.9 พันล้านบาท (รวมหุ้นกู้ 2 ชุด คือ ANAN21OA และ ANAN21OB มูลค่ารวม 4 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระในวันที่ 6 ต.ค. 2564) นอกจากนี้ บริษัทมีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ไม่มีประกันและไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการก่อนกำหนดมูลค่า 1 พันล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2565 อีกด้วย ทั้งนี้ เงื่อนไขทางการเงินของวงเงินกู้ยืมจากธนาคารและหุ้นกู้กำหนดให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนให้ต่ำกว่า 2.5 เท่า ในขณะที่ ณ เดือนมี.ค. 2564 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1.14 เท่า

อนึ่ง เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาสำหรับกรณีที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ออกใบอนุญาตให้โครงการแอชตัน อโศก ใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ รฟม. ได้มาจากการเวนคืน ซึ่งอยู่ติดกับโครงการเพื่อเป็นทางเข้า-ออกของโครงการได้นั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ เนื่องจากการอนุญาตดังกล่าวไม่ได้เป็นการใช้ประโยชน์เพื่อกิจการรถไฟฟ้าและขัดต่อวัตถุประสงค์ในการเวนคืนที่ดิน ดังนั้น ศาลจึงพิพากษาให้การก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก มีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เนื่องจากโครงการดังกล่าวไม่มีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวเกินกว่า 12 เมตรติดกับถนนสาธารณะ โดยคำพิพากษาดังกล่าวให้มีผลย้อนหลังไปถึงการอนุญาตการก่อสร้างทั้งหมดของโครงการซึ่งออกโดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องด้วย

แม้ว่าบริษัทจะมิได้เป็นผู้ถูกฟ้องร้องโดยตรง แต่บริษัทก็อาจเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายในกรณีที่หน่วยงานภาครัฐแพ้คดีความได้ ทริสจึงคาดว่าบริษัทจะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป แต่ทริสมีความเห็นว่าระยะเวลาในการพิจารณาการอุทธรณ์จะใช้เวลาอีกหลายปีและผลของคำพิพากษาก็ยังไม่มีความแน่นอนอีกด้วย ดังนั้นจะติดตามความคืบหน้าของคดีความและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่ออันดับเครดิตของบริษัทอย่างใกล้ชิดต่อไป