AMR ลั่นรายได้ปี 64 โตไม่ต่ำกว่า 16% เพิ่มงานใหม่ทุกปี 2 พันลบ.หนี้ต่ำ

HoonSmart.com>> “เอเอ็มอาร์ เอเซีย” คาดรายได้ปี 2564 เติบโตไม่ต่ำเฉลี่ย 3 ปี ย้อนหลังที่ 16% จ่อประมูลงานใหม่ทั้งภาครัฐ-รัฐวิสาหกิจ-เอกชน  เป้าเพิ่มงานไม่ต่ำกว่าปีละ 2 พันล้านบาท ตุน Backlog 1.8 พันล้านบาท รับรู้ปีนี้ 1.4 พันล้านบาท เพิ่มรายได้ประจำ คาดเริ่มงานสถานีชาร์จรถไฟฟ้าปลายปีนี้ ส่วนให้บริการรถไฟฟ้าสายรองลุ้นอนุมัติไม่เกินปี 2566 ชูจุดเด่นบริษัทปลอดหนี้ IBD/E ต่ำกว่า 0.03 เท่า พร้อมลงทุนสร้างผลตอบแทน ด้านราคาหุ้นเปิดเทรดวันแรกแจกกำไร 18.84%

นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย (AMR) เปิดเผยว่า บริษัทฯคาดว่ารายได้ปี 2564 จะเติบโตไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง (ปี 2561-2563) ที่ 16% จากการเข้าประมูลโครงการคมนาคมของภาครัฐ ซึ่งเป็นความความชำนาญของบริษัทมีสัดส่วนประมาณ 30% ของมูลค่างานภาครัฐทั้งหมดหลักแสนล้านบาท และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั่วไปของภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ และภาครัฐ โดยตั้งเป้ามูลค่างานใหม่เพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท จากสิ้นไตรมาส 1/2564 มีงานในมืออยู่ที่ 1,800 ล้านบาท คาดว่าจะรับรู้ปีนี้ 1,400 ล้านบาท

บริษัทวางกลยุทธ์ที่จะเพิ่มงานบริการที่สร้างรายได้ประจำ จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 5-10% ของรายได้รวม โดยปลายปี 2564 คาดว่าจะเริ่มสัญญาโครงการเริ่มต้นของสถานีชาร์จรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ที่ออกแบบโดยทีมพัฒนาของบริษัทฯ นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะเข้าเป็นผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายรอง (Feeder Line) โดยอยู่ระหว่างนำเสนอองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บริเวณใกล้เคียงกรุงเทพฯ คาดว่าไม่เกินปี 2566 จะรู้ผลชัดเจน ถ้าเป็นไปตามแผนก็จะเริ่มดำเนินการตามแผนหลังได้รับอนุมัติ

“เราวางกลยุทธ์ในอนาคตไว้อย่างชัดเจนในการเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำให้เติบโตจากเดิมถึง 2-3 เท่า หรือประมาณ 250-300 ล้านบาท เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนคงที่ ทำให้มีอัตรากำไรขั้นต้น และอัตรากำไรสุทธิดีขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ 20% และ 9% ตามลำดับ อีกทั้งเราเป็นบริษัทที่ไม่มีหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ย IBD/E อยู่ต่ำกว่า 0.03 เท่า  ถ้ามีโครงการไหนที่น่าสนใจ และให้ผลตอบแทนที่ดี เราก็มีความสามารถในการกู้ยืมเงิน หรือการใช้เครื่องมือทางการเงิน อาทิ ออกหุ้นกู้ เพื่อรองรับการลงทุนในอนาคตได้” นายมารุต กล่าว

อย่างไรก็ตามจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 งานโครงการต่างๆอาจจะมีชะลอตัวไปบ้างในช่วง 1-2 เดือน แต่บริษัทฯประเมินว่าไม่ได้ผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากงานส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นโครงการระยะยาว ซึ่งคาดว่าสามารถควบคุมและยังทำให้งานเป็นไปตามแผนที่วางไว้ได้ ด้านการเงินบริษัทยังมีความแข็งแกร่ง ปัจจุบันมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน และมีเงินจากการระดมทุนเพื่อรองรับการเติบโตอีกประมาณ 1,035 ล้านบาท

ขณะที่แผนการใช้เงินระดมทุนจำนวน 1,035 ล้านบาท บริษัทจะใช้เงินในสัดส่วนประมาณ 85% ในการขยายงานบริการ เพื่อสร้างการเติบโตในการลงทุนพัฒนาธุรกิจด้านระบบคมนาคมขนส่ง ที่ให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายรอง ลงทุนสถานีชาร์จรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และพัฒนาเมืองอัจฉริยะ อีก 5% ของเงินระดมทุนจะใช้ลงทุนการวิจัยและพัฒนาด้านการให้บริการและต่อยอดเทคโนโลยี (R&D) และ 10% ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ

ส่วนราคาหุ้น AMR ที่เพิ่งเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันแรก ในวันที่ 2 ส.ค.2564 เปิดที่ราคา 8.20 บาท เพิ่มขึ้น 1.30 บาท หรือ 18.84% จากราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนที่ 6.90 บาทต่อหุ้น

ด้านนายดิถดนัย สังขะรมย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นของ AMR เปิดเผยว่า  AMR ได้รับการตอบรับอย่างคึกคัก นักลงทุนมั่นใจในปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯ ที่มีความแข็งแกร่ง ซึ่งเห็นได้ชัดจากสัดส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนอยู่ในระดับต่ำ ส่วนใหญ่เป็นหนี้สินทางการค้า โดยเงินที่ได้จากการขาย IPO ส่วนใหญ่นำไปใช้สำหรับการขยายธุรกิจ รองรับการเติบโตในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า เพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และกำไร ทำให้ธุรกิจเติบโตแข็งแกร่งในระยะยาว

“เชื่อว่า AMR จะเป็นหุ้นที่สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุนในอนาคต เนื่องจากเป็นหุ้นที่ทำงานบนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโซลูชั่นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่มีการเติบโตต่อเนื่อง และด้วยผลประกอบการที่ดี เชื่อว่าจะสร้างผลตอบแทนจากเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้ในระดับที่ดีเช่นเดียวกัน” นายดิถดนัย กล่าว