ทริสคงเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ชุดใหม่ CPNREIT ที่ AA แนวโน้ม “ลบ” โควิดยืดเยื้อ

HoonSmart.com>> “ทริสเรทติ้ง”คงอันดับเครดิตองค์กร หุ้นกู้ชุดใหม่กองทรัสต์ CPNREIT ที่ระดับ AA แนวโน้ม “ลบ” สะท้อนการแพร่ระบาดโควิด-19 ยืดเยื้อกระทบแผนลงทุนชะลออกออกไป ด้านผลดำเนินงานปี 64 คาดอ่อนแอลง

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPN รีเทล โกรท (CPNREIT) ที่ระดับ “AA” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 2.65 พันล้านบาทที่ระดับ “AA” โดยทรัสต์ฯ จะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ดังกล่าวไปชำระคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในเดือนสิงหาคม 2564

อันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้สะท้อนถึงสินทรัพย์ของทรัสต์ฯ ซึ่งมีคุณภาพสูง ตลอดจนกระแสเงินสดที่สามารถคาดการณ์ได้จากรายได้ค่าเช่าและบริการที่กระทำภายใต้สัญญา และนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวัง นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสภาพคล่องที่เพียงพอและโอกาสในการเติบโตในอนาคตของทรัสต์ฯ จากสินทรัพย์ที่ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งที่ระดับ “AA” ด้วยแนวโน้มเครดิตพินิจ “Negative” หรือ “ลบ” ด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงการยืดเยื้อของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่ส่งผลกระทบทำให้แผนลงทุนในสินทรัพย์และการเพิ่มทุนของทรัสต์ฯ ต้องชะลอออกไป รวมถึงการคาดการณ์ว่าผลการดำเนินงานของทรัสต์ฯ จะอ่อนแอลงในปี 2564

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต ซึ่งทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ ด้วยมูลค่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนจำนวน 7.46 หมื่นล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2564 และมีพื้นที่ให้เช่ารวม 357,539 ตารางเมตร (ตร.ม.) ประกอบด้วย พื้นที่ให้เช่าของศูนย์การค้า 7 แห่งจำนวน 245,186 ตร.ม. และพื้นที่ให้เช่าของอาคารสำนักงาน 4 แห่งจำนวน 112,353 ตร.ม. โดยศูนย์การค้ามีอัตราการเช่าเฉลี่ย 95% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 ในขณะที่อัตราการเช่าเฉลี่ยของอาคารสำนักงานลดลงเป็น 86% ณ เดือนมีนาคม 2564 จาก 89% ณ สิ้นปี 2562

ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าในประเทศไทยจะยังคงได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 ที่ยืดเยื้อตลอดปี 2564 เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ รวมถึงการฉีดวัคซีนที่ล่าช้า นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีคำสั่งให้ปิดศูนย์การค้าในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดซึ่งรวมถึงกรุงเทพฯ และชลบุรีตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2564 มาตรการดังกล่าวทำให้ทรัสต์ฯ ต้องปิดพื้นที่ภายในศูนย์การค้าของเซ็นทรัล พระราม 2 เซ็นทรัล พระราม 3 เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า เซ็นทรัล พัทยา และเซ็นทรัล มารีนาเกือบทั้งหมด และยกเว้นค่าเช่าให้กับผู้เช่าที่ได้รับผลกระทบในช่วงที่ต้องปิดศูนย์การค้า

ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าทรัสต์ฯ อาจยังคงยกเว้นค่าเช่าต่อไปอีกหากมาตรการดังกล่าวขยายเวลาออกไป และอาจยังคงให้ส่วนลดค่าเช่าต่อ ถึงแม้มาตรการดังกล่าวจะผ่อนคลายลงในช่วงที่เหลือของปี 2564

ในสมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าทรัสต์ฯ จะให้ส่วนลดค่าเช่าในปี 2564 โดยเฉลี่ย 50%-60% จากอัตราค่าเช่าของปี 2562 สำหรับศูนย์การค้าในพื้นที่ควบคุมสูงสุงและเข้มงวด และประมาณ 40% สำหรับศูนย์การค้าที่เหลือ ดังนั้น ในปี 2564 รายได้ค่าเช่าและบริการจากศูนย์การค้าเดิมมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าปี 2562 (ปีปกติ ก่อนได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19) ประมาณ 50% นอกจากนี้ ยังคาดว่าทรัสต์ฯ จะให้ส่วนลดค่าเช่าประมาณ 20% ในปี 2564 สำหรับอาคารสำนักงาน 2 แห่งในทำเลปิ่นเกล้า

ทำให้คาดว่ารายได้ค่าเช่าและบริการของทรัสต์ฯ ในปี 2564 จะลดลง 30% จากปี 2562 เป็น 3.7 พันล้านบาท และยังคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายในปี 2564 จะลดลง 40% จากปี 2562 เป็น 2.5 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 รายได้ค่าเช่าและบริการจะลดลง 10% และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะลดลง 20% ในปี 2564

ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของศูนย์การค้าทุกแห่งจะอ่อนตัวลงในปี 2564 ซึ่งเป็นผลมาจากการให้ส่วนลดค่าเช่าแก่ผู้เช่า แต่ยังคาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญานการฟื้นตัวในต้นปี 2565 ภายใต้การคาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดจะบรรเทาลงในปลายปี 2564 นี้ เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ คาดว่าอัตราการเข้าใช้บริการและการใช้จ่ายของลูกค้าจะเริ่มปรับดีขึ้น แต่กระนั้นก็ตามยังคาดว่าทรัสต์ฯ จะยังคงให้ส่วนลดค่าเช่าในปี 2565 ต่อไป โดยทริสเรทติ้งคาดว่าทรัสต์ฯ จะให้ส่วนลดค่าเช่า 5%-10% สำหรับศูนย์การค้าในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และลำปาง และส่วนลดค่าเช่า 15% สำหรับศูนย์การค้าในพื้นที่พัทยา

ทั้งนี้ คาดว่าอัตราค่าเช่าจะกลับไปอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 ในปี 2566 และยังคาดว่ารายได้ค่าเช่าและบริการจากศูนย์การค้าเดิมจะอยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2562 ที่ 10% ในปี 2565 และอยู่ในระดับเดียวกับปี 2562 ในปี 2566

ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ค่าเช่าและบริการของทรัสต์ฯ จะปรับดีขึ้นเป็น 6.5-8.0 พันล้านบาทต่อปี และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะปรับดีขึ้นเป็น 5.0-6.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566 ซึ่งทริสเรทติ้งเชื่อว่าการแพร่ระบาดของไวรัสจะสามารถควบคุมได้เป็นส่วนใหญ่และมีการผ่อนคลายมาตรการการจำกัดการเดินทางแล้ว ทั้งนี้ การเติบโตของรายได้ในปี 2565 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสินทรัพย์ใหม่ที่คาดว่าทรัสต์ฯ จะเข้าลงทุนในช่วงกลางปี 2565 ด้วย

นอกจากนี้คาดว่าทรัสต์ฯ จะไม่มีรายได้ค่าเช่าจากโรงแรมตลอดทั้งปี 2564 ผลการดำเนินงานของโรงแรมฮิลตัน พัทยา อ่อนตัวลงเนื่องจากการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2562 เป็นต้นมา ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยืดเยื้อและอัตราการฉีดวัคซีนที่เป็นไปอย่างล่าช้าทำให้แผนการผ่อนคลายมาตรการการจำกัดการเดินทางและการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องล่าช้าออกไป

ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราการเข้าพักในโรงแรมฮิลตัน พัทยา จะยังต่ำมากตลอดทั้งปี 2564 และจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ทั้งนี้ การฟื้นตัวของโรงแรมซึ่งตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวในต่างจังหวัดจะเป็นไปได้เร็วกว่าโรงแรมในกรุงเทพฯ เนื่องจากลูกค้าของโรงแรมในต่างจังหวัดมีทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ ในขณะที่โรงแรมในกรุงเทพฯ จะพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก

ผลการดำเนินงานของโรงแรมฮิลตัน พัทยา ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดที่ยาวนานซึ่งเข้าเงื่อนไขที่เป็นเหตุสุดวิสัยภายใต้สัญญาเช่าระหว่างทรัสต์ฯ และผู้เช่าช่วง ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวนี้ทำให้ผู้เช่าช่วงสามารถยกเว้นการจ่ายค่าเช่าให้แก่ทรัสต์ฯ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2563 และต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2564 ด้วย ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าผู้เช่าช่วงจะยกเว้นการจ่ายค่าเช่าต่อไปอีกตลอดทั้งปี 2564 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2565 โดยทรัสต์ฯ มีแนวโน้มที่จะได้รับเพียงค่าเช่าคงที่ในช่วงไตรมาสที่ 2 จนถึงไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 เท่านั้น

เนื่องจากทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของโรงแรมในปี 2565 จะยังคงอ่อนแออยู่ สถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลต่อรายได้ค่าเช่าในส่วนของค่าเช่าผันแปร โดยทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของโรงแรมในปี 2566 จะเริ่มฟื้นตัวจนมีรายได้จากค่าเช่าคงที่เต็มปีและเริ่มนำส่งค่าเช่าผันแปรบางส่วนให้แก่ทรัสต์ฯ

นอกจากนี้ทริสเรทติ้งคาดว่าแผนลงทุนในสินทรัพย์ที่เหลือและการเพิ่มทุนจะสำเร็จในปี 2565

บริษัทเซ็นทรัลพัฒนาในฐานะผู้สนับสนุนของทรัสต์ฯ จะพิจารณาเลือกสินทรัพย์ที่เติบโตเต็มที่ซึ่งมีอัตราการเช่าและอัตราค่าเช่าสูงเข้ามาในทรัสต์ฯ ทั้งนี้ ตามแผนเดิมของทรัสต์ฯ ทรัสต์ฯ จะเข้าลงทุนในศูนย์การค้า 4 แห่งของบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา และอาคารสำนักงาน 2 แห่งของทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ อาคารสำนักงาน จีแลนด์ (GLANDRT) ซึ่งมีมูลค่ารวมกันทั้งหมด 3.04 หมื่นล้านบาทภายในครึ่งแรกของปี 2563 โดยแหล่งเงินทุนมาจากการเพิ่มทุน 65% และเงินกู้ 35%

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ลดทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดทุน ทำให้ทรัสต์ฯ ต้องชะลอแผนการเข้าลงทุนในสินทรัพย์บางส่วนออกไป โดยทรัสต์ฯ เข้าลงทุนอาคารสำนักงาน 2 แห่งจาก GLANDRT ในเดือนมีนาคม 2563 โดยแหล่งเงินทุนมาจากการกู้ยืมทั้งจำนวน และได้เลื่อนการเข้าลงทุนในเซ็นทรัล มารีนาและเซ็นทรัล ลำปางเป็นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยแหล่งเงินทุนมาจากการเพิ่มทุนทั้งจำนวน ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าการแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อจะยังคงสร้างแรงกดดันต่อการเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่เหลือและทำให้แผนเพิ่มทุนล่าช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

ตามประมาณการที่ปรับใหม่ของทริสเรทติ้ง คาดว่าทรัสต์ฯ จะสามารถเข้าลงทุนในศูนย์การค้าที่เหลืออีก 2 แห่งซึ่งมีมูลค่า 1.73 หมื่นล้านบาทได้ภายในกลางปี 2565 โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากทั้งการเพิ่มทุนและเงินกู้ หากแผนลงทุนดังกล่าวเป็นไปตามที่คาดการณ์ ทริสเรทติ้งคาดว่าพื้นที่ให้เช่าของทรัสต์ฯ จะเพิ่มขึ้น 51,400 ตร.ม. และรายได้จะเพิ่มขึ้นปีละ 1 พันล้านบาท ทั้งนี้ การเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพจะส่งผลให้รายได้ค่าเช่าของทรัสต์ฯ เติบโตและกระแสเงินสดของทรัสต์ฯ มีความหลากหลายมากขึ้นในอนาคตด้วย

ทริสเรทติ้งมองว่าทรัสต์ฯ มีนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังที่จะรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์รวมให้ต่ำกว่า 35% อย่างไรก็ตาม สภาวะของตลาดทุนที่ไม่เอื้ออำนวยซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ทรัสต์ฯ จำเป็นต้องชะลอแผนเพิ่มทุนสำหรับสินทรัพย์ที่เหลืออีก 2 แห่ง จึงทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์รวม (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่าในเงินกู้รวมและสินทรัพย์รวม) ของทรัสต์ฯอยู่ที่ 37% ณ เดือนมีนาคม 2564 ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะลดต่ำลงกว่านโยบายทางการเงินของทรัสต์ฯ ที่ 35% เมื่อทรัสต์ฯ สามารถเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่เหลือและเพิ่มทุนได้ตามแผน ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในกลางปี 2565

ในประมาณการของทริสเรทติ้งคาดว่าทรัสต์ฯ จะเพิ่มทุนจำนวน 1.4 หมื่นล้านบาทภายในปี 2565 เงินที่ได้จากการเพิ่มทุนดังกล่าวคาดว่าจะใช้สำหรับการลงทุนในศูนย์การค้าที่เหลือ 2 แห่งของบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา หากเป็นไปตามประมาณการ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์รวมควรอยู่ในระดับต่ำกว่า 35% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่ำกว่า 5 เท่า

ทริสเรทติ้งมองว่าหนี้สินจากการต่อสัญญาเช่าล่วงหน้าของศูนย์การค้าเซ็นทรัลพระราม 2 มูลค่า 1.81 หมื่นล้านบาทเป็นภาระผูกพันแบบชั่วคราวในช่วงการต่อสัญญาเช่าล่วงหน้าระหว่างปี 2563 ถึงปี 2568 และยังคาดว่าทรัสต์ฯ จะจัดหาแหล่งเงินทุนมาจากการเพิ่มทุน 65% และเงินกู้ 35% เพื่อจ่ายชำระหนี้สินตามสัญญาเช่าล่วงหน้าดังกล่าวในปี 2568 เมื่อสัญญาเช่าเริ่มมีผลบังคับใช้

ทั้งนี้ ทรัสต์ฯ มีหน้าที่รักษาอัตราส่วนทางการเงินให้เป็นไปตามเงื่อนไขทางการเงินของหุ้นกู้และเงินกู้จากธนาคาร โดยทรัสต์ฯ จะต้องดำรงอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์รวม (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่าในเงินกู้รวม) ให้ต่ำกว่า 60% และอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ให้เกินกว่า 1.2 เท่า ณ เดือนมีนาคม 2564 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์รวม (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่าในเงินกู้รวม) ของทรัสต์ฯ เท่ากับ 29% และอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้เท่ากับ 1.99 เท่า ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าทรัสต์ฯ จะสามารถบริหารโครงสร้างทางการเงินให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางการเงินของหุ้นกู้และเงินกู้จากธนาคารต่อไปได้

อย่างไรก็ตามแม้จะคาดการณ์ว่าผลการดำเนินงานของทรัสต์ฯ จะอ่อนตัวลงในปี 2564 แต่ทริสเรทติ้งเชื่อว่าทรัสต์ฯ จะสามารถบริหารสภาพคล่องได้อย่างเพียงพอในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของทรัสต์ฯ ในปี 2564 จะเท่ากับ 1.8 พันล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2564 แหล่งเงินทุนของทรัสต์ฯ ประกอบด้วย เงินสดในมือจำนวน 1 พันล้านบาท และเงินลงทุนในหลักทรัพย์ตามมูลค่ายุติธรรมจำนวน 1.1 พันล้านบาท นอกจากนี้ ทรัสต์ฯ ยังมีวงเงินกู้ยืมจากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้ซึ่งไม่สามารถยกเลิกได้จำนวน 1.5 พันล้านบาท

ในขณะที่ทรัสต์ฯ มีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วงที่เหลือของปี 2564 จำนวน 2.7 พันล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย หุ้นกู้จำนวน 2.65 พันล้านบาท และที่เหลือเป็นเงินกู้ธนาคาร ทรัสต์ฯ ยังมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2565 จำนวน 4.2 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินกู้ธนาคารทั้งจำนวนอีกด้วย

ทั้งนี้ ทรัสต์ฯ จะออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระ ส่วนเงินกู้ธนาคารจะจ่ายชำระคืนหรือทดแทนด้วยวงเงินสินเชื่อจากธนาคาร ทรัสต์ฯ ยังมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนสำหรับการปรับปรุงศูนย์การค้าเซ็นทรัล พระราม 2 จำนวน 1.1 พันล้านบาทในช่วงปี 2563-2564 รวมถึงการจ่ายผลตอบแทนที่ไม่น้อยกว่า 90% ของรายได้จากการลงทุนสุทธิที่ปรับปรุงแล้วอีกด้วย และยังคาดว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของทรัสต์ฯ จะเท่ากับ 1.0-1.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566

ณ เดือนมีนาคม 2564 ทรัสต์ฯ มีหนี้สินทางการเงินรวม (ตามการพิจารณาลำดับชั้นในการได้รับคืน) จำนวน 2.24 หมื่นล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันจำนวน 1.53 หมื่นล้านบาท และเงินกู้ธนาคารที่ไม่มีหลักประกันจำนวน 7.1 พันล้านบาท หนี้สินทางการเงินทั้งหมดเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ดังนั้น จึงมีลำดับชั้นในการได้รับคืนเท่าเทียมกัน

อันดับเครดิตของทรัสต์ฯ อาจปรับลดลงหากสถานการณ์การแพร่ระบาดเป็นไปในทิศทางที่ทำให้ทริสเรทติ้งเชื่อว่าผลการดำเนินงานและ/หรือสถานะทางการเงินของทรัสต์ฯ ปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในทางตรงกันข้าม แนวโน้มอันดับเครดิตของทรัสต์ฯ อาจปรับเป็น “Stable” หรือ “คงที่” หากโครงสร้างเงินทุนของทรัสต์ฯ ปรับดีขึ้นโดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์รวมต่ำกว่า 35% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่ำกว่า 5 เท่าได้อย่างต่อเนื่อง