HoonSmart.com>> “ไทยออยล์” คาดเริ่มรับรู้กำไรจากการลงทุนในบริษัทเคมีภัณฑ์ค์รบวงจรชั้นนำรายใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซียในไตรมาส 4 นี้คาดถ้าเต็มปีอยู่ที่ 40-50 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อยอดธุรกิจเติบโตระยะยาว สร้างความมั่นคงของกำไร ส่วนการเพิ่มทุน 1 หมื่นล้านบาท กระทบผู้ถือหุ้นเดิมเพียง 10% และขายหุ้น GPSC เสร็จไตรมาส 2-4 ปี 65 ด้าน TOP ตื่นข่าวเพิ่มทุน ช่วงเช้าราคาร่วงเฉียด 8% ลากกลุ่มปตท.ลงตาม
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยว่า การเข้าลงทุนใน PT Chandra Asri Petrochemical (CAP) ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ค์รบวงจรชั้นนำรายใหญ่ที่สุดของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย.นี้และบริษัทจะเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรในช่วงไตรมาส 4/2564 ซึ่งถ้ารับรู้เต็มปี คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 40-50 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
ส่วนการจ่ายเงินสำหรับการลงทุนในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรกจะเข้าซื้อหุ้น 15% ของหุ้นทั้งหมด ในราคาไม่เกิน 914 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30,222 ล้านบาท และหุ้นอีก 0.38% ในราคาไม่เกิน 270 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8,928 ล้านบาท จะเข้าลงทุนก็ต่อเมื่อ CAP มีการอนุมัติการลงทุนในการพัฒนาและก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีแห่งที่ 2 (CAP2) ซึ่งคาดว่าแผนการลงทุนจะรู้ผลชัดเจนในช่วงกลางปี 2565
สำหรับแหล่งเงินลงทุนในครั้งนี้ บริษัทได้รับการช่วยเหลือจากทางปตท. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทฯ (สัญญาสินเชื่อ) เป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น (Bridging Loan) ไม่เกิน 18 เดือน อัตราดอกเบี้ยเทียบเคียงกับตลาด (Market Rate) ไม่เกิน 2.5% ต่อปี วงเงินไม่เกิน 670 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 22,154 ล้านบาท รวมถึงปตท.ได้ยืดชำระค่าน้ำมันดิบ เป็น 90 วัน จากเดิม 30 วัน ซึ่งจะเข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับบริษัทฯด้วย และยังมีเงินกู้ยืมระยะสั้นจากทางสถาบันการเงินสนับสนุนด้วย
นอกจากนี้ในช่วงระยะเวลา 18 เดือนข้างหน้า บริษัทได้เตรียมแผนจัดโครงสร้างทางการเงินระยะยาว โดยเสนอต่อคณะกรรมการ รวมถึงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติการขายหุ้นบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) จำนวนไม่เกิน 10.8% หรือมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท และการเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะส่งกระทบต่อผู้ถือหุ้น (Dilution effect) ประมาณ 10% คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2-4/2565
บริษัทยังมีแผนที่ใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นๆเพิ่มเติมในปี 2565 เพื่อนำเงินมารองรับการลงทุนในส่วนที่เหลืออีกเกือบ 10,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีทั้งวงเงินในการออกหุ้นกู้ได้อีกไม่เกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ,กระแสเงินสดในมือ และวงเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงิน
ส่วนโรงงานปิโตรเคมีแห่งที่ 2 (CAP2) จะทำให้มีกำลังการผลิตเอทิลีน (Ethylene) เพิ่มขึ้นรวมเป็น 2 ล้านเมตริกตันต่อปี จากเดิมโรงงาน CAP1 ที่มีกำลังการผลิตเอทิลีน 900,000 ล้านเมตริกตันต่อปี คาดจะแล้วเสร็จภายในปี 2569 ส่วนโรงงานพลังงานสะอาด (CFP) เพิ่มประสิทธิภาพโรงกลั่นและขยายกำลังการผลิตรวมเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดิม 275,000 บาร์เรลต่อวัน จะแล้วเสร็จในช่วงปี 2566-2567 ซึ่งกลยุทธ์ร่วมกันตามสัญญาการลงทุนบริษัทส่งวัตถุดิบ (Feedstock) ประเภทก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และ Naphtha ไปให้ CAP ปีละประมาณ 1 ล้านตัน และบริษัทก็จะนำผลิตภัณฑ์ของ CAP มาขายออกสู่ตลาด
“การลงทุน CAP ครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งการเติบโตในอีกธุรกิจ เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์เดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการทำกลยุทธ์ร่วมกัน สร้างประโยชน์กับทุกฝ่าย อีกทั้ง CAP มีการเติบโตที่ดี ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 มีกำไร 165 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ที่เราจะลงทุนในธุรกิจที่มีการเติบโต และในอนาคต เราศึกษาธุรกิจใหม่ๆเพื่อสร้างความมั่นคงด้านกำไร โดยหวังว่าจะมีสัดส่วนรายได้ของธุรกิจโรงกลั่นปิโตรเลียมอยู่ที่ 40% , ธุรกิจปิโตรเคมี 40% , ธุรกิจโรงไฟฟ้า 10% และธุรกิจอื่นๆอีก 10% ภายในปี 2573” นายวิรัตน์ กล่าว
ด้านราคาหุ้นบริษัท ไทยออยล์ (TOP) ปิดที่ 43.25 บาท ลดลง 3.75 บาท หรือ -7.98% ด้วยมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 2,443.98 ล้านบาท ส่วนหุ้นของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) อยู่ที่ 76.50 บาท ลดลง – 3 บาท หรือ -3.77% มูลค่าซื้อขาย 1,000.58 ล้านบาท และบริษัท ปตท. (PTT) ปิดที่ 35 บาท ลดลง -0.50 บาท หรือ -1.41%มูลค่าซื้อขาย 1,534.64 ล้านบาท สำหรับครึ่งวันที่ 30 ก.ค. 2564
อ่านข่าว
TOP ทุ่ม 3.9 หมื่นลบ.ซื้อหุ้นยักษ์ปิโตรอินโดฯ จ่อเพิ่มทุน 1 หมื่นล.-กู้ปตท.