TOP ทุ่ม 3.9 หมื่นลบ.ซื้อหุ้นยักษ์ปิโตรอินโดฯ จ่อเพิ่มทุน 1 หมื่นล.-กู้ปตท.

HoonSmart.com>> บอร์ด “ไทยออยล์” อนุมัติเข้าซื้อหุ้น PT Chandra Asri Petrochemical ในอินโดนีเซีย สัดส่วน 15.38% มูลค่ากว่า 3.91 หมื่นล้านบาท ลงทุน ปิโตรคอมเพล็กซ์ในอินโดนีเซีย พร้อมปรับโครงสร้างการเงินระยะยาว เตรียมขายหุ้น GPSC ไม่เกิน 10.8% พร้อมเพิ่มทุน 1 หมื่นล้านบาท

บริษัท ไทยออยล์ (TOP) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2564 มีมติอนุมัติการเข้าลงทุนมูลค่ารวมไม่เกิน 1,183 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 39,116 ล้านบาท เพื่อเข้าถือหุ้นไม่เกิน 15.38% ใน PT Chandra Asri Petrochemical (CAP) ซึ่งตามระเบียบของรัฐบาลรัฐอินโดนีเซียกำหนดให้ทำธุรกรรมการลงทุนผ่านการใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วน (Rights Offering)

ทั้งนี้ TOP จะเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 15% ของหุ้นทั้งหมดของ CAP ในราคาไม่เกิน 914 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 30,222 ล้านบาทด้วยวิธีการ (1) จองซื้อหุ้นใหม่ตามการใชสิ้ทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วนใน CAP ในการนี้ TOP จะเข้าซื้อสิทธิจาก PT Barito Pacific Tbk , Marigold Resources Pte Ltd. และ Mr. Prajogo Pangestu ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เดิม และจะใช้สิทธิสูงสุดตามจำนวนสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่บริษัทมีสิทธิ (2) บริษัทจะทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อสำรองในการใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วน (Standby Purchaser) เพื่อเข้าซื้อและใช้สิทธิทั้งหมดที่ยังไม่ได้ใช้ และ (3) เข้าซื้อหุ้นเดิม (Secondary Share) จาก Mr. Prajogo Pangestu ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิมของ CAP ในกรณีที่บริษัทต้องลงทุนเพิ่มเติม (Top Up) เพื่อให้บริษัทถือหุ้น 15% ใน CAP

นอกจากนั้น ภายในระยะเวลา 5 ปี บริษัทจะเข้าซื้อหุ้นเพิ่มเติมในสัดส่วน 0.38% ของหุ้นทั้งหมดของ CAP โดยหาก CAP มีการอนุมัติการลงทุนในการพัฒนาและก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีของ CAP2 โดยจะมีมูลค่าทั้งสิ้นไม่เกิน 270 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 8,928 ล้านบาท หรือหากไม่มีการอนุมัติการลงทุนภายในระยะเวลา 5 ปี จะมีมูลค่าทั้งสิ้นไม่เกิน 3.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 129 ล้านบาท

คณะกรรมการบริษัทฯ ยังได้อนุมัติให้จัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ชื่อ PT TOP Investment Indonesia ในอินโดนีเซียเพื่อเข้าถือหุ้นใน CAP คาดว่าจะทำธุกรรมสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วนจะแล้วเสร็จก่อนวันที่ 30 ก.ย.2564

คณะกรรมการบริษัทฯ ยังมีมติอนุมัติให้บริษัทเข้าทำสัญญาสินเชื่อกับปตท. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทฯ (สัญญาสินเชื่อ) เพื่อกำหนดข้อตกลงที่มีผลผูกพันระหว่างคู่สัญญาสำหรับธุรกรรมการรับความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อกู้ยืมเงินระยะสั้น (Bridging Loan) เป็นระยะเวลาไม่เกิน 18 เดือน อัตราดอกเบี้ยเทียบเคียงกับตลาด (Market rate) ไม่เกิน 2.5% ต่อปี และวงเงินไม่เกิน 670 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 22,154 ล้านบาท กับ ปตท. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ เพื่อรองรับการทำธุรกรรมการลงทุนในหุ้น

นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้พิจารณาและอนุมัติแผนจัดหาเงินทุน สำหรับการปรับโครงสร้างทางการเงินระยะยาวดังต่อไปนี้

1. การขายหุ้นสามัญของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ในจำนวนไม่เกิน 10.8% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ GPSC

2. การเพิ่มทุนจำนวนประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งอาจดำเนินการเพิ่มทุนโดยการออกหุ้นเพิ่มทุน หรือใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ (Transferable Subscription Rights) โดยการเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering) การเสนอขายให้กับนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PrivatePlacemen) และ/หรือ การเสนอขายให้แก่ประชาชนเป็นการทั่วไป (Pubic Offering)

อย่างไรก็ตาม การเสนอขายหุ้นให้แก่นักลงทุนรายเฉพาะเจาะจง (Private Placement) และหรือ การเสนอขายให้แก่ประชาชนเป็นการทั่วไป (Public Offering) อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น (Dilution Efict) จากการที่มีหุ้นเพิ่มขึ้นได้ ณ ขณะนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาโครงสร้างการระดมทุนที่เหมาะสมซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทั้งบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ จะแจ้งให้ทราบต่อไปหากมีความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งจะนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เพื่อพิจารณาและอนุมัติต่อไป

สำหรับวัตถุประสงค์ของแผนการจัดหาเงินทุนสำหรับการปรับโครงสร้างทางการเงินของบริษัทฯ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นในระยะยาวเป็นสำคัญ