“มารุต ศิริโก” แม่ทัพ  AMR เบอร์ 1 ผู้นำระบบ SI ครบวงจรของไทย

HoonSmart.com>> “มารุต ศิริโก” แม่ทัพ AMR ผู้นำวิศวกรรมออกแบบ-เชื่อมต่อไอทีโซลูชั่น ระบบไฟฟ้า-สื่อสาร อาณัติสัญญาณ ครบวงจร ของคนไทยรายแรก  ชูผลงานรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีทอง และระบบราง หลังเพิ่มทุน ศึกษาธุรกิจสร้างรายได้ประจำ บริหารสถานีชาร์ตรถจักรยานยนต์ -บริหารสถานีรถไฟฟ้าสายรอง

มารุต ศิริโก

นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย (AMR) ผู้นำด้านวิศวกรรมออกแบบและเชื่อมต่อระบบไอทีโซลูชั่น (System Integrator : SI)  ครบวงจรรายแรกที่เป็นคนไทย ด้วยการบริการตั้งแต่ออกแบบ ระบบไฟฟ้า ระบบสื่อสาร ระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมติดตั้งและทดสอบการใช้งาน ก่อนส่งมอบ ด้วยการบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้า อย่างครบวงจร อีกทั้งงานบริการดูแลรักษาและซ่อมบำรุง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไอทีโซลูชั่น

“มารุต” รวมทีมกับเพื่อนวิศวะกรรม ร่วมกันก่อตั้ง AMR  ตั้งแต่ปี 2542 โดยปีแรกที่เริ่มงาน มีพนักงานทั้งหมดรวม 40 คน มีงานเข้ามา 108 ล้านบาท และเริ่มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีแรก

ปี 2548 AMR เข้าสู่งานรถไฟฟ้า โดยออกแบบ ติดตั้ง ระบบอาณัติสัญญาณ รถไฟฟ้าสายสีเขียว 2 สถานีแรก ช่วงสถานีตากสินไปวงเวียนใหญ่ ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าสายแรกข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปฝั่งธนบุรี เป็นการโชว์ศักยภาพของบริษัทไทย จึงมีโอกาสได้งาน อีก 5 สถานี เส้นทางหมอชิต-คูคต , เส้นทางแบริ่ง-สมุทรปราการ

ปี 2561 ได้งานที่มีความซับซ้อนและยุ่งยากมากขึ้น โดยออกแบบรถไฟไฟ้าสายสีทอง  เป็นการทำทั้งระบบ ตั้งแต่อาณัติสัญญาณ ไฟฟ้าสื่อสาร ติดตั้งระบบประตูกับชานชลา

“เอเอ็มอาร์ เป็นบริษัทคนไทย เพียงบริษัทเดียว ที่ ทำระบบซับซ้อนให้กับโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ ทำ SI ครบวงจร ตั้งแต่ออกแบบระบบ  ติดตั้ง ไฟฟ้าสื่อสารตั้งแต่ระบบประตูกับชานชลา จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 22 ปีที่ดำเนินธุรกิจมา ด้วยประสบการณ์ และความชำนาญ พร้อมกับมาตรฐานที่ดี ระดับเทียบเท่ากับนานาชาติ จนเป็นที่ยอมรับของคู่ค้าและมีความสามารถในการแข่งขัน ”

สำหรับจุดแข็งของ AMR คือ ประสบการณ์ที่นำทุกอย่างมารวมกัน มองภาพรวมและมีการเชื่อมโยงกับส่วนงานอื่น ๆ ได้ เป็นบริษัทที่มี 3 องค์ประกอบรวมกันคือ  ความรู้-ความสามารถ , คุณภาพงาน และเงินทุน (หลังเพิ่มทุน) ที่สำคัญ AMR ได้เปรียบคู่ค้า คู่แข่ง ที่เป็นบริษัทต่างชาติ ตรงที่ AMR มีทีมงานในไทยในการให้บริการ

“ความเสี่ยงหลักของ AMR  คือ โอกาสได้งานประมูล ซึ่งในอดีตมีความเสี่ยงน้อย อีกทั้งโควิด-19 ไม่ได้มีผลประทบอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจาก ภาครัฐยังมีความจำเป็นลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอยู่ โดยปี 2565 จะมีงานลงทุนภาครัฐประมาณหลักแสนล้านบาท ที่เกี่ยวกับงานระบบไฟฟ้าและสื่อสารอยู่ที่ 30%  คาดหวังจะได้งานเข้ามาเพิ่มในพอร์ต สร้างการรับรู้ให้เติบโตในอนาคต”

กรรมการผู้จัดการ กล่าวถึง เงินเพิ่มทุน มีเป้าหมาย รับงานโครงการที่ใหญ่ขึ้น เพื่อสร้างความยั่งยืนเติบโตต่อเนื่อง  โดยเฉพาะการขยายงานภาคบริการ เพื่อให้บริษัทมีรายได้ประจำ เช่น การลงทุน  1. ระบบคมนาคมขนส่งสายรอง (Feeder Line) และด้านพลังงาน อาทิ การพัฒนา สถานีชาร์จรถจักรยานยนต์ EV รวมถึงเมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะ เพื่อสร้างรายได้ประจำเข้ามามากขึ้น  2.ใช้ลงทุนสำหรับการวิจัยและพัฒนาด้านการให้บริการและต่อยอดเทคโลยี (R&D) เพื่อใช้สำหรับต่อยอดโครงการต่างๆ อย่างมีคุณภาพ และลดต้นทุนการดำเนินงาน 3.ใช้หมุนเวียนในกิจการ

ปัจจุบัน มียอดที่รอรับรู้เป็นรายได้ (Backlog) อยู่ที่ 1,451.2 ล้านบาท ทยอยรับรู้ต่อเนื่อง โดยปีนี้  มีแผนเข้าประมูลงาน ตามการลงทุนคมนาคมของภาครัฐ เพื่อเพิ่มยอดรอรับรู้ให้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีเป้าหมายขยายงานบริการ ที่มีรายได้ประจำ โดยมีแผนหลังจากเข้าลงทุน Feeder  Line แล้วก็จะผันตัวเข้าเป็น Operator ในการรับจ้างเดินรถ ให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น จากเดิม 10% เป็น 20-30% ใน 1-2 ปี (64-65) และในอนาคตข้างหน้าคาดว่าสัดส่วนงานบริการที่สร้างรายได้ประจำอยู่ที่ 50% และงานด้าน SI อีก 50%

สำหรับปี 2564-2566 บริษัทฯ จะต่อยอดการเป็นผู้นำด้านการพัฒนานวัตกรรมและการออกแบบระบบงานวิศวกรรม System Integration (SI) ของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เมืองอัจฉริยะ การเกษตรอัจฉริยะ ด้านวิศวกรรมระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ระบบขนส่งทางราง ระบบขนส่งมวลชน และด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร Internet of Thing (IOT) Solution เพื่อสร้างรากฐานของความก้าวหน้าขององค์กร

บริษัทฯ มีนโยบายลงทุน หรือร่วมลงทุนในกิจการ หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการผสมผสานเทคโนโลยีในแต่ละแขนง เพื่อสรรสร้างนวัตกรรมใหม่ตอบรับการขยายตัวทางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และต่อยอดเทคโนโลยีอนาคตที่เริ่มถูกนำมาใช้ในชีวิตยุคดิจิทัล

“มารุต”  เชื่อว่า หัวใจสำคัญในการสร้างความยั่งยืน ทั้งในด้านธุรกิจและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาความก้าวหน้าของคุณภาพชีวิตของประชากร ประกอบกับความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีที่หลากหลาย จะทำให้บริษัทฯ ได้รับโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนโครงการสำคัญจนก่อเกิดอัตลักษณ์ขององค์กรที่เรียกว่า “AMR-The Total Solution”

“หลังจากระดมทุนแล้วเสร็จ เราสามารถใช้เงินเพื่อรองรับงานขนาดที่ใหญ่ขึ้นได้อีกมาก ด้วยความแข็งแกร่งทางการเงิน ที่ไม่มีภาระหนี้สินที่มีดอกเบี้ยเลย หรือมีหนี้สินเฉพาะ Project Finance เท่านั้น อีกทั้งเรามีแผนลดต้นทุนอย่างดี เพื่อสร้างอัตรากำไรให้ดียิ่งขึ้นไปอีก สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ประมาณ 56.33% ทำให้สามารถจ่ายปันผลได้ต่อเนื่อง ซึ่งมีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิฯ “

ทั้งนี้ ผลประกอบการในช่วงที่ผ่านมา ในปี 2561-2563 บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,917.83 ล้านบาท 1,467.62 ล้านบาท และ 2,584.07 ล้านบาท ตามลำดับ ประกอบด้วยรายได้จากงานโครงการและการให้บริการ รายได้จากการขาย และรายได้อื่นๆ

ปี 2562 บริษัทฯ มีรายได้รวมลดลงจากปี 2561 จำนวน 450.21 ล้านบาท หรือลดลง 23.47% มีสาเหตุหลักมาจากบริษัทฯ อยู่ในช่วงเริ่มดำเนินงานโครงการใหม่ ส่งผลให้ในปี 2563 มีรายได้รวมเพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 1,116.45 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 76.07% เนื่องจากทยอยรับรู้รายได้จากงานโครงการตามสัญญา โดยมีกำไรสุทธิ 140.99 ล้านบาท 27.39 ล้านบาท และ 247.55 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีอัตรากำไรสุทธิเท่ากับ 7.35% , 1.87% และ 9.58% ตามลำดับ

ขณะที่ผลประกอบการในไตรมาส 1/2564 มีรายได้รวม 337.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีรายได้รวมที่ 301.85 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 29.41 ล้านบาท มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 8.73% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรอยู่ที่ 7.80 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้บริหารสภาพคล่องและต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ มีอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ประมาณ 56.33% มีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิ

สำหรับหุ้น  AMR เสนอขายหุ้น (IPO) จำนวน 150 ล้านหุ้น พาร์ 0.5 บาทต่อหุ้น ราคาหุ้นละ 6.90 บาท ได้รับการตอบรับที่ดี นักลงทุนสถาบัน เข้าซื้อประมาณ 35% ของจำนวนหุ้น IPO  คาดเข้าซื้อขายในตลาด SET 2 ส.ค.2564