ธปท.ประเมินล็อกดาวน์ล่าสุดทำกิจกรรมศก.หดตัว 0.8-2.0% ของ GDP

HoonSmart.com>>ธปท.ประเมินล็อกดาวน์ล่าสุดทำกิจกรรมเศรษฐกิจหดตัว 0.8-2.0% ของ GDP แต่อาจไม่ติดลบขึ้นกับมาตรการภาครัฐ รับเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าคาด แนะรัฐเร่งกระจายวัคซีน กระตุ้นความเชื่อมั่น พยุงภาคการผลิต

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในช่วงการระบาดของวิกฤตโควิดโดยยอมรับว่า มาตรการควบคุมการระบาดครั้งล่าสุดของรัฐบาล ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจรุนแรงเป็นวงกว้าง โดยเริ่มเห็นระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวใกล้ระดับในช่วงการ Full Lockdown ปีก่อน และยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

ซึ่งมองไปข้างหน้า ระยะเวลาในการใช้มาตรการควบคุมการระบาดเป็นปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยหากการล็อกดาวน์ลดการระบาดได้ ผู้ติดเชื้อลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการได้ตั้งแต่ กลางเดือน ส.ค. จะกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ลดลง 0.8% แต่หาการล็อกดาวน์ลดการระบาดได้ไม่มากนัก ทำให้สถานการณ์การระบาดยืดเยื้อไปตลอดปี 2564 ก็จะกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ลดลง 2.0% และส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจปีหน้าจะช้ากว่าที่คาด โดยขึ้นกับการกระจายวัคซีนเป็นหลัก

แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้น ยังไม่สามารถนำไปหักออกจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้ได้ในทันที เนื่องจากต้องรอติดตามปัจจัยอื่นๆ ที่อาจจะเข้ามาสนับสนุนจีดีพีในปีนี้ เช่น มาตรการการคลัง หรือ การส่งออกที่ขยายตัวได้ดีขึ้นในปีนี้

“การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น และยืดเยื้อยาวนาน เมื่อรวมกับการประกาศล็อกดาวน์ของรัฐบาลครั้งล่าสุด สะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงมากขึ้น และมากกว่าที่ธปท.ได้ประเมินไว้เมื่อเดือนมิ.ย ทำให้ต้องใช้เวลามากขึ้นกว่าที่เศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวได้เหมือนเดิม”

ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเมื่อเดือนมิ.ย. 64 ธปท.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ 1.8%

ทั้งนี้นโยบายการคลังยังมีความจำเป็นในการดูแลเศรษฐกิจของไทย เพราะเศรษฐกิจยังต้องการแรงกระตุ้นอีกมาก รวมถึงการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมและมาตรการทางการเงินมีขีดจำกัด เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้หดตัวรุนแรง

ส่วนประเด็นที่ต้องจับตาในระยะต่อไป
ระยะสั้น ได้แก่ • ความพร้อมด้านสาธารณสุขคือสิ่งสำคัญ ทั้งกำลังการตรวจและการรักษา
• ภาคการผลิตอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาด (Supply-side dirsruption) เพียงในระยะสั้น
แต่กำลังซื้อที่อ่อนแอลงจะกระทบต่อยอดขายในระยะต่อไป

ระยะยาว• ควรเร่งกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง แทนมาตรการควบคุมที่เข้มงวดซึ่งอาจจำเป็นในระยะสั้น แต่ไม่ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจ
• ต้องจำกัดให้กระทบภาคท่องเที่ยวน้อยที่สุด หากโครงการนำร่อง sandbox ถูกกระทบ จะยิ่งส่งผลต่อการฟื้นตัวในระยะยาว