ธปท.แจงช่วยลูกหนี้แก้หนี้ครัวเรือนแล้ว 4.9 ล้านราย วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท

HoonSmart.com>>ธปท.ชี้แจงความคืบหน้าช่วยลูกหนี้แก้ปัญหาหนี้สินแล้ว 4.9 ล้านราย คิดเป็นวงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท เป็นลูกหนี้รายย่อย 1.6 ล้านล้านบาท และเป็นสินเชื่อบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคลมากสุด 8 แสนล้านบาท แย้มไตรมาส3 เล็งออกเกณฑ์ดูแลค่าธรรมเนียมแบงก์ที่มีกว่า 300 รายการ

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่า ตั้งแต่ที่มีการระบาดของโควิด-19 ทุกประเทศประสบกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยในไตรมาสแรก เพิ่มขึ้นมาแตะที่ 90.5% ของจีดีพี ผลจากรายได้ของประชาชนที่ลดลง ขณะที่ภาระหนี้ยังอยู่ในระดับสูง โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีสัดส่วนเป็นอันดับแรกที่ 34% อันดับ 2 สินเชื่อบัตรเครดิตมีสัดส่วน 28% ซึ่งการแก้ปัญหาก็มีความซับซ้อนเนื่องจากลูกหนี้แต่ละรายมีเจ้าหนี้หลายราย

ทั้งนี้ความคืบหน้าการช่วยเหลือลูกหนี้ ณ. พ.ค .64 มีลูกหนี้ที่ให้ความช่วยเหลือ 4.9 ล้านราย/บัญชี หรือคิดเป็นวงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น สินเชื่อรายใหญ่ ประมาณ 2,000 ราย วงเงิน 6 แสนล้านบาท สินเชื่อ SMEs 5 แสนราย วงเงิน 1 ล้านล้านบาท และสินเชื่อรายย่อย 4.4 ล้านบัญชี วงเงิน 1.6 ล้านล้านบาท

ซึ่งสินเชื่อรายย่อยที่ให้ความช่วยเหลือ มากสุดได้แก่ สินเชื่อบัตรเครดิต หรือสินเชื่อบุคคล คิดเป็น 3.4 ล้านบัญชี วงเงิน 8 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย จำนวน 5 แสนบัญชี วงเงิน 6 แสนล้านบาท และสินเชื่อเช่าซื้อจำนวน 4 แสนบัญชี วงเงิน 2 แสนล้านบาท

สำหรับโครงการคลินิกแก้หนี้ ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 64 มีลูกหนี้เข้าสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ 60,578 บัญชี ประสบความสำเร็จ 92% และโครงทางด่วนแก้หนี้ เจ้าหนี้ได้ข้อสรุปกับลูกค้าจำนวน 238,994 บัญชี มีความสำเร็จ 76% ส่วนความสำเร็จของมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 64 สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล มีผู้ลงทะเบียน 685,809 บัญชี เข้าเงื่อนไขและได้ข้อสรุปแล้ว 193,074 บัญชี ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป 74,520 บัญชี และมีผู้ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 216,227 บัญชี ส่วนผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์และติดต่อไม่ได้ ประมาณ 200,000 บัญชี ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อ ณ วันที่ 19 ก.ค. มีผู้สนใจลงทะเบียน 22,652 บัญชี อัตราส่วนที่ประสบความสำเร็จในการเจรจาอยู่ที่ ประมาณ 77.65%

ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. บอกด้วยว่า ภายในไตรมาส 3 นี้ ธปท.เตรียมออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์กว่า 300 รายการ เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยทุกธนาคารจะต้องทบทวน และ เปิดเผยค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจนบนเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนเปรียบเทียบและเลือกใช้บริการได้ ซึ่งหลักเกณฑ์นี้จะคล้ายกับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการให้บริการทางการเงินอย่างเป็นธรรม หรือ มาร์เก็ตคอนดักท์