HoonSmart.com>> “มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช” เผยครึ่งปีแรก 64 “กองทุนประหยัดภาษี” เติบโตจากสิ้นปีก่อน SSF-SSFX มูลค่าสินทรัพย์แตะ 2.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.7% จากสิ้นปี 63 แรงหนุนกองนโยบายลงทุนหุ้นทั่วโลก-หุ้นจีน ยอดเงินไหลเข้าสุทธิ 2.2 พันล้านบาท ด้านกองทุน LTF เงินไหลออก 1.1 หมื่นล้านบาท ฟาก RMF โต 7.7% มูลค่าสินทรัพย์แตะ 3.5 แสนล้านบาท
นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า กองทุน SSF และกองทุน SSFX
กองทุนเพื่อการออมมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิช่วงครึ่งปีแรกปี 2564 อยู่ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.7% จากสิ้นปี 2563 หรือ 5.9% จากไตรมาสก่อนหน้า ภาพรวมไตรมาส 2/2564 มีการเติบโตมาจากกองทุนหุ้นที่ลงทุนต่างประเทศ เช่น กลุ่ม Global Equity เติบโต 21.9% และกองทุนหุ้นจีนเพิ่มขึ้น 25.0% จากไตรมาสก่อนหน้า ทำให้รอบครึ่งปีแรกมีการเติบโต 32.2% และ 42.3% ตามลำดับ
ในไตรมาสล่าสุดมีเม็ดเงินไหลเข้าเร่งตัวขึ้นกว่าไตรมาสแรกเล็กน้อยด้วยมูลค่ารวม 1.3 พันล้านบาท รวมครึ่งปีแรกมีเงินไหลเข้า 2.2 พันล้านบาท กลุ่ม Global Equity ยังคงเป็นกลุ่มที่มีเม็ดเงินไหลเข้ามากที่สุด 817 ล้านบาท เป็นเงินไหลเข้าไตรมาสล่าสุดรวม 378 ล้านบาท
ในภาพรวมผู้ลงทุนยังให้ความสนใจในกองทุนเดิมที่ได้รับความนิยมเช่น กองทุน K Positive Change Equity-SSF เงินไหลเข้าสะสมสูงสุด 362 ล้านบาท ทำให้ขยับขึ้นมาเป็นกองทุนขนาดใหญ่เป็นอันดับสองด้วยมูลค่า 2.2 พันล้านบาท บลจ. กสิกรไทยมีส่วนแบ่งตลาดกองทุนรวมเพื่อการออมที่ 25%
กองทุนหุ้นขนาดใหญ่มีเงินไหลเข้ารวม 419 ล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรก (308 ล้านบาท ในไตรมาสล่าสุด) กองทุน SCB Dividend Stock 70/30 Long Term Equity (SSF) เป็นกองทุนที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดของกลุ่มที่ 67.8 ล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 683 ล้านบาท โดยรวมบลจ.ไทยพาณิชย์มีส่วนแบ่งตลาดอันดับสองที่ 22%
กองทุน Bualuang Thai Equity Super Saving Fund เป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มที่ 2.1 พันล้านบาท ซึ่งเปิดขายมาตั้งแต่ช่วงแรกจึงมีส่วนเงินลงทุนการออมพิเศษด้วย แม้กองทุนจากบลจ.บัวหลวง จะเป็นการลงทุนในตราสารทุนเป็นหลัก ต่างจากบลจ.อื่นที่มีกองทุนให้เลือกที่หลากหลาย แต่ก็ยังสามารถมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับสามด้วยสัดส่วน 17%
สำหรับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ในช่วงครึ่งแรกปี 2564 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 3.6 แสนล้านบาท สูงกว่าสิ้นปี 2563 เล็กน้อย แต่ลดลงจากไตรมาสแรก 3.4% โดยในไตรมาส 2/2564 มีเงินไหลออกสุทธิ 4.2 พันล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ 2.3 พันล้านบาท รวมครึ่งปีแรกมีเงินไหลออกสุทธิจากกองทุน LTF มูลค่าทั้งสิ้น 1.1 หมื่นล้านบาท ตามทิศทางดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวขึ้น (SET TR 11.5%) เทียบกับช่วงครี่งปีแรกของ 2563 ที่มีเงินไหลออก 9.2 พันล้านบาท จากที่ตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวลงจากช่วงแรกของการระบาด (SET TR -13.2%)
ส่วนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 3.5 แสนล้านบาท สูงกว่าสิ้นปีที่แล้ว 7.7% โดยมูลค่าที่เพิ่มขึ้นนั้นมีส่วนมาจาก 1) มูลค่าการลงทุนหุ้นไทยที่เป็นสัดส่วนหลักในกองทุน RMF-Equity ที่เพิ่มขึ้นตามภาวะตลาด 2) เม็ดเงินไหลเข้ากองทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะกองทุนหุ้นจีนที่มีเงินไหลเข้าสุทธิครึ่งปีรวม 5.9 พันล้านบาท นำโดย กองทุน K China Equity RMF ที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดในประเภทกองทุน RMF ประเภทตราสารทุนด้วยมูลค่ารวมเกือบ 2 พันล้าน ตามมาด้วยกองทุน Bualuang China A-Shares Equity RMF ที่มีเงินไหลเข้าสูงเป็นอันดับสองที่ 1.2 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังมีกลุ่มกองทุนหุ้นทั่วโลก และหุ้นเทคโนโลยีที่มีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 2.8 พันล้านบาทและ 1.4 พันล้านบาท ตามลำดับ