ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้ GDP จีน Q2/64 ส่งสัญญาณชะลอตัว คาดทั้งปีโต 8.0-8.5%

HoonSmart.com>> ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ GDP จีน ไตรมาส 2/64 เติบโต 7.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งสัญญาณชะลอตัว ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ความไม่แน่นอนการแพร่ระบาดโควิดสายพันธ์ุใหม่ในประเทศจีนและประเทศคู่ค้า ด้านความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ยกระดับสูงขึ้น คาดทั้งปีเติบโต 8.0-8.5% หากไม่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นวงกว้าง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในไตรมาสที่ 2/2564 เติบโตที่ร้อยละ 7.9 (YoY) ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 1/2564 ที่เติบโตร้อยละ 18.3 (YoY) อย่างไรก็ดี การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว จากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และสถานการณ์การความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ทั้งในประเทศจีนเองและประเทศคู่ค้า

รวมถึงความเสี่ยงจากประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่เริ่มยกระดับความรุนแรงจากระดับทวิภาคีเป็นระดับพหุภาคี จากการกดดันจีนร่วมกันผ่านการประชุมร่วมของกลุ่มประเทศ G7 และ NATO ในเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา จากสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 2 และปัญหาอื่นๆ ที่รุ้มเร้า ทางการจีนได้เลือกใช้นโยบายทางการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง

ธนาคารกลางของจีน (PBoC) ได้ปรับลดอัตราดำรงเงินสำรองธนาคารพาณิชย์ (Required Reserve Requirement) ลง 50 bps มีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 โดยเป็นการปรับ RRR ที่ครอบคลุมธนาคารพาณิชย์ตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปตลอดจนขนาดเล็ก ซึ่งการปรับลด RRR ในครั้งนี้คาดว่าจะช่วยเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 1 ล้านล้านหยวน (มูลค่าประมาณ 154 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางปัจจัยความเสี่ยงทั้งหลาย คาดว่าทางการจีนยังคงมีเครื่องมือทางการเงินและการคลังที่มากพอ ในการประคองเศรษฐกิจให้ขยายตัวใกล้เคียงกรอบที่ตั้งไว้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจจีน ทั้งปี 2564 ในกรอบร้อยละ 8.0-8.5 (YoY) บนสมมุติฐานว่าไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นวงกว้าง ถึงแม้ว่าเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2/2564 ทั้งในภาคการผลิตจากต้นทุนที่สูงขึ้นและในภาคบริการจากการแพร่ระบาดโควิด-19

ในขณะที่เส้นทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในระยะถัดไป ยังคงเผชิญความเสี่ยงจากประเด็นประสิทธิภาพของวัคซีนในการต่อต้านไวรัสกลายพันธุ์ จากทั้งในประเทศจีนและประเทศคู่ค้าที่อาจส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงความเสี่ยงจากประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่เริ่มยกระดับความรุนแรงจากระดับทวิภาคีเป็นระดับพหุภาคี จากการกดดันจีนร่วมกันผ่านการประชุมร่วมของกลุ่มประเทศ G7 และ NATO ในเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งสัญญาณเชิงลบกับจีนอย่างมีนัยสำคัญ และมีความเป็นไปได้ในการออกมาตรการตอบโต้จีนมาเพิ่มเติม ทั้งในด้านมาตรการกันกีดกันทางการค้าและกฎหมายด้านความมั่นคง ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของจีนในอนาคต

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทั้งหลาย คาดว่าทางการจีนยังคงมีเครื่องมือทางการเงินและการคลังที่มากพอในการประคองเศรษฐกิจให้ขยายตัวไม่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ทางการจีนตั้งเป้าไว้ หรือขยายตัวทั้งปี 2564 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.0(YoY)