ส่องบลจ.ช่วงโควิด “กสิกร” ยืนหนึ่ง – KTAM โตแรง “ไทยพาณิชย์” NAV หดกว่า 1 แสนลบ.

HoonSmart.com>> “มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช” ส่องบลจ.ช่วงโควิด-19 “บลจ.กสิกรไทย” ยังครองส่วนแบ่งตลาดกองทุนรวม NAV มากกว่า 1 ล้านล้านบาทรายเดียว เติบโตจากกองทุนหุ้น-ตราสารหนี้ พบครึ่งแรกปี 64 เงินไหลเข้ากองทุน “เค เอสเอฟ พลัส” (K-SFPLUS) สูงสุด 4 หมื่นล้านบาท ด้านบลจ.ไทยพาณิชย์ NAV ร่วง 11.5% ก่อนโควิด พบมูลค่ากองเทอมฟันด์-กองทุนผสมหดมากกว่า 1 แสนล้านบาท บลจ.กรุงไทย โดดเด่นโต 17% หนุนขึ้นอันดับ 4 จาก 6 แรงหนุนกองหุ้นจีน หุ้นเอเชียแปซิฟิก กองทุนยั่งยืน”

น.ส.ชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า มอร์นิ่งสตาร์ฯ ได้รวบรวบข้อมูลการเติบโตของแต่ละบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ในช่วงโควิด-19 โดยในภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยมีบลจ.กสิกรไทย เป็นผู้นำด้วยมูลค่าทรัพย์สินสูงสุด 1.06 ล้านล้านบาท หรือสัดส่วน 1 ใน 4 ของทั้งอุตสาหกรรม และเป็นเพียงบลจ.แห่งเดียวที่มีมูลค่าทรัพย์สินมากกว่า 1 ล้านล้านบาท การเติบโตนั้นมีส่วนมาจากทั้งกองทุนตราสารหนี้และกองทุนหุ้นต่างประเทศ กองทุนที่มีเงินไหลเข้ามากที่สุดในช่วง 1 ปีครึ่งที่ผ่านมาคือกองทุน K SF Plus รวมเกือบ 4 หมื่นล้านบาท

ขณะที่บลจ.ไทยพาณิชย์ ที่มีส่วนแบ่งตลาดอันดับสองราว 16.4% จากมูลค่าทรัพย์สิน 6.9 แสนล้านบาท หรือมูลค่าทรัพย์สินลดลงจากช่วงก่อนโควิด 11.5% โดยมีส่วนมาจากมูลค่ากองทุน term fund และกองทุนผสมที่ลดลงอย่างมากหรือรวมกันมากกว่า 1 แสนล้านบาท กองทุนที่มีเงินไหลเข้ามากที่สุดในช่วง 1 ปีครึ่งที่ผ่านมาคือ SCB Short Term Fixed Income Plus A ที่ 2.7 หมื่นล้านบาท

บลจ.บัวหลวงยังคงมีมูลค่าทรัพย์สินสูงสุดเป็นอันดับสามด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 5.8 แสนล้านบาท หรือเท่ากับสัดส่วน 13.7% ซึ่งถือว่าค่อนข้างทรงตัวจากปี 2562 โดยกองทุนบัวหลวงมีมูลค่าทรัพย์สินขนาดใหญ่อยู่ในกลุ่มหุ้นไทยที่เป็นกองทุน LTF แม้ว่าเงินลงทุนในส่วนนี้จะค่อย ๆ ลดลง แต่การขายกองทุนต่างประเทศในกลุ่ม Global Equity, China Equity หรือ Global Technology หรือกองทุนตราสารตลาดเงิน ก็ยังช่วยให้มีกระแสเงินไหลเข้าสุทธิ รวมเป็นมากกว่า 4 หมื่นล้านบาทตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา กองทุนที่มีเงินไหลเข้ามากที่สุดในช่วง 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา (ไม่รวมกองทุน term fund) คือ Bualuang Treasury 1.5 หมื่นล้านบาท

บลจ.กรุงไทย มีส่วนแบ่งตลาด 9.8% ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวม 4.1 แสนล้านบาท หรือเติบโต 17.2% จากสิ้นปี 2562 โดยมีการเติบโตจากกองทุนหุ้นจีนที่เคยมีมูลค่าราว 2 พันล้านบาทในปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 3.1 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน ประกอบกับการเติบโตจากกองทุน Asia Pacific ex-Japan Equity รวมไปถึงกองทุนเพื่อความยั่งยืน ทำให้บลจ.กรุงไทยที่เคยมีมูลค่าทรัพย์สินที่อันดับ 6 ขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 4 กองทุนที่มีเงินไหลเข้ามากที่สุดในช่วง 1 ปีครึ่งที่ผ่านมาคือ KTAM China A Shares Equity A ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท

บลจ.กรุงศรี มีมูลค่าทรัพย์สินรวมเกือบ 4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% จากสิ้นปี 2562 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากกองทุนตราสารทุนเช่นกองทุนหุ้นจีน กองทุนหุ้นทั่วโลกเช่นเดียวกับบลจ.รายอื่น มีส่วนแบ่งตลาดที่ 9.4% เพิ่มขึ้นจากเดิมเล็กน้อยที่ 9.0% กองทุนที่มีเงินไหลเข้ามากที่สุดในช่วง 1 ปีครึ่งที่ผ่านมาคือ Krungsri Smart Fixed Income ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท

การเติบโตของบลจ.รายใหญ่ 5 อันดับแรกมีความคล้ายกันคือมีการเติบโตของมูลค่าการลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะตราสารทุน เช่น กองทุนหุ้นจีน หุ้นทั่วโลก และการเติบโตในลักษณะเดียวกันนี้เองทำให้ส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่หรือราว 75% ยังอยู่ในบลจ. 5 อันดับแรกเช่นเดิม

บลจ.รายอื่นที่มีการเติบโตดี ได้แก่ บลจ.ทิสโก้ มีมูลค่าทรัพย์สินสูงขึ้น 46.0% มาอยู่ที่ระดับ 7 หมื่นล้านบาท ทำให้ขยับขึ้นมาเป็นหนึ่งในบลจ.ขนาดใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรก นอกจากนี้ยังมีบลจ.ที่มีการเติบโตมากกว่า 100% โดยจะเป็นบลจ.ขนาดเล็กลงมาเช่น บลจ.วรรณ เติบโต 106.2% มูลค่าทรัพย์สินล่าสุด 7.1 หมื่นล้านบาท บลจ.บางกอกแคปปิตอล 318.6% มูลค่าทรัพย์สินล่าสุด 1.4 หมื่นล้านบาท และ บลจ.เอ็กซ์สปริง เติบโต 213% มูลค่าทรัพย์สิน 75.2 ล้านบาท