บลจ.บัวหลวงเปิดโผ 6 กองทุนแนะมีติดพอร์ต Q3/64 รับมือความท้าทาย

HoonSmart.com>> “กองทุนบัวหลวง” แนะกระจายลงทุนผ่าน 6 กองทุนที่ B-Select แนะมีไว้ในพอร์ตในไตรมาส 3 นี้ ชูธีมลงทุนหลัก ผ่านกองทุน “ทศพล” – “บัวหลวงไฮยิลด์” (อันเฮดจ์) ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อยหรือ “บัวหลวงไฮยิลด์ (เฮดจ์ 75) ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย” พร้อมธีมการลงทุนเสริมผ่าน 4 กองทุน “B-INNOTECH, B-SIP, B-ASIA และ B-CHINE-EQ” มองการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ยังเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อไม่ให้พลาดโอกาส พร้อมสร้างสมดุลให้พอร์ต

นายสันติ ธนะนิรันดร์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด หรือ กองทุนบัวหลวง เปิดเผยว่า กองทุนบัวหลวงจัดทำ B-Select เพื่อให้คำแนะนำในการเลือกกองทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ตลาดในแต่ละช่วงเวลา (Tactical call) โดยล่าสุดให้คำแนะนำกองทุนที่ควรมีไว้ในพอร์ตลงทุนช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ ทั้งหมด 6 กองทุน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กองทุนที่เป็น Theme การลงทุนหลักในพอร์ต และ Theme การลงทุนเสริมในพอร์ต เนื่องจากกองทุนบัวหลวงมองว่า กลยุทธ์การลงทุนที่รับมือความท้าทายต่างๆ ได้ดี คือ การกระจายลงทุนในสินทรัพย์ หรือ Theme ที่หลากหลาย สร้างสมดุลให้กับพอร์ตการลงทุนแทนที่จะมุ่งลงทุนเพียงสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่ง และนักลงทุนสามารถใช้ B-Select ช่วยจัดพอร์ตลงทุนได้

ในส่วนของ Theme การลงทุนหลักในพอร์ต ได้แก่ กองทุนเปิดบัวหลวงทศพล (BTP) เนื่องจากมองว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 อาจเคลื่อนไหวในช่วงแคบๆ หรือ Sideway มากกว่าที่จะมีทิศทางขาขึ้นหรือขาลงชัดเจน รวมถึงยังคงมีปัจจัยไม่แน่นอน ทั้งภายในและจากต่างประเทศที่อาจเข้ามากระทบกับตลาดหุ้นได้อยู่ ดังนั้น การลงทุนในหุ้นไทยจึงควรเน้นคัดสรรหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีและได้ประโยชน์จากปัจจัยแวดล้อม มีการเติบโตที่ดีด้วยตัวเอง มากกว่าลงทุนตามดัชนี ซึ่ง BTP ได้คัดเลือกหุ้น 10 ตัวเน้นๆ สอดคล้องกับกลยุทธ์นี้

อีกกองทุนคือ กองทุนเปิดบัวหลวงไฮยิลด์ ซึ่งมีให้เลือก 2 แบบ คือ กองทุนเปิดบัวหลวงไฮยิลด์ (อันเฮดจ์) ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย หรือ B-HY(UH) AI กับ กองทุนเปิดบัวหลวงไฮยิลด์ (เฮดจ์ 75) ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย หรือ B-HY(H75) AI ซึ่งเป็นกองทุนที่ไปลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูง (ไฮยิลด์ บอนด์) โดยแนะนำลงทุนในกองทุนนี้ สำหรับผู้ที่ต้องการกระจายความเสี่ยงด้วยประเภทสินทรัพย์ เพื่อรับมือกับความผันผวนของพอร์ตโดยรวม และยังมีการจ่ายกระแสเงินสดให้กับนักลงทุนอย่างสม่ำเสมอ โดยกองทุนบัวหลวงมองว่า ช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว การลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนของสหรัฐฯ ที่ให้ผลตอบแทนสูง เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้ลดลงต่อเนื่อง รวมถึงสามารถทนทานกับการปรับขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ได้ดี เนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงและมีอายุตราสารเฉลี่ยค่อนข้างต่ำ

ส่วน Theme การลงทุนเสริมในพอร์ต ประกอบด้วย กองทุนหุ้นต่างประเทศ 4 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลอินโนเวชั่นและเทคโนโลยี (B-INNOTECH) เนื่องจาก การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนทั่วโลกหันมาใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันมากขึ้น ขณะที่รัฐบาลประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐฯ และจีน ต่างมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีชัดเจน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนหุ้นเทคโนโลยีเติบโตต่อได้ และด้วยภาวะตลาดที่ยังคงมีเรื่องของความไม่แน่นอน รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อาจปรับตัวขึ้นมาได้ ทำให้หุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพดี มีผลการดำเนินงานที่เติบโตต่อเนื่องมีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนที่ดี

ขณะที่ประเด็นการเก็บภาษีบริษัทเทคโนโลยีไม่ได้มีผลกระทบมากนักต่อหุ้นบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่กองทุน B-INNOTECH ลงทุน เพราะบริษัทเหล่านี้สามารถปรับตัวได้ดี ทั้งยังมีความต้องการใช้งานสูงจากผู้บริโภคด้วย

กองทุนต่อมา คือ กองทุนเปิดบัวหลวงยั่งยืน (B-SIP) เนื่องจากมีนโยบายการลงทุนเพื่อสร้างผลบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการ Theme การลงทุนที่มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนที่ดีและสร้างประโยชน์ทั้งต่อโลกและนักลงทุนได้ในระยะยาว เพราะได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายรัฐบาลทั่วโลกที่มุ่งมั่นจัดการกับสภาพแวดล้อมอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังงาน ลดการพึ่งพิงพลังงานดั้งเดิม รวมถึงตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นศูนย์ ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้ธุรกิจมีการวิจัยและลงทุนในกลุ่มพลังงานสะอาด เทคโนโลยีที่เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการจัดการของเสียมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมี กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเอเชีย (B-ASIA) ซึ่งกองทุนบัวหลวง มองว่า ตลาดเอเชียเหนือมีความน่าสนใจ เพราะเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ได้รับผลดีจากความต้องการชิปทั่วโลก และในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว รวมถึงการที่ค่าเงินอ่อนค่า เอเชียซึ่งเป็นประเทศส่งออกไปก็จะได้อานิสงส์ในด้านนี้ด้วย ขณะที่อัตราราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E Ratio) ของตลาดหุ้นเอเชียไม่นับรวมญี่ปุ่น ซึ่งพิจารณาจากดัชนี MSCI All Country Asia Ex Japan ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าภูมิภาคอื่น อีกทั้ง นักวิเคราะห์ได้ปรับประมาณการกำไรของบริษัทเอเชียเพิ่มขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง ดังนั้น การลงทุนในเอเชียผ่าน B-ASIA จึงมีความน่าสนใจ

กองทุนสุดท้าย ได้แก่ กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นจีน (B-CHINE-EQ) เพราะจีนมีการดำเนินนโยบายที่ชัดเจน โดยกำหนดนโยบาย Dual Circulation คือ เน้นการบริโภคในประเทศควบคู่ไปกับการผลักดันการส่งออก ส่วนความเสี่ยงในเชิงนโยบาย จากกรณีที่มีการออกมาตรการในการจัดการกับบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ของจีนหลายแห่งนั้นมองว่า ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจนัก เพราะจีนดำเนินการควบคุมลักษณะนี้มากับหลายธุรกิจอยู่แล้ว เพื่อผลประโยชน์คนในประเทศและสร้างเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจเป็นสำคัญ หากเชื่อมั่นศักยภาพของจีนที่จะมีขนาดเศรษฐกิจแซงสหรัฐฯ ได้ในอีกไม่นาน และมองเห็นโอกาสในช่วงนี้ที่มูลค่าหุ้นจีนปรับลงมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจ ก็สามารถลงทุนได้กับกองทุนนี้ ซึ่งการลงทุนในจีนก็เป็นการบริหารความเสี่ยงให้พอร์ตโดยรวมได้ เพราะการเคลื่อนไหวของหุ้นจีนมีความเฉพาะตัว ไม่ได้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับตลาดหุ้นประเทศอื่นๆ มากนัก

“กองทุนบัวหลวงได้ทำการวิเคราะห์การลงทุน โดยมองจากภาพใหญ่ (Top down) คือ มองภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก แล้วประเมินมูลค่าตลาดโดยรวม พิจารณาว่า ภูมิภาคไหนมีระดับมูลค่าที่น่าสนใจ ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ เช่น แนวโน้มกระแสเงินทุนที่ไหลเข้าและออกในตลาดแต่ละภูมิภาค สถานะการลงทุนของนักลงทุนทั่วโลก เป็นต้น เพื่อที่จะเฟ้นหาประเภทสินทรัพย์ ภูมิภาค กลุ่มอุตสาหกรรม หรือ Theme ที่น่าสนใจเข้าลงทุน นอกจากนี้ก็ยังมีการพิจารณาหลักทรัพย์ที่แต่ละกองทุนไปลงทุน ก่อนคัดเลือกกองทุนใน B-Select ซึ่งเป็นคำแนะนำว่า ในช่วง 3 เดือนนี้มีกองทุนไหนน่าสนใจและควรเลือกลงทุน” นายสันติ กล่าว

ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน กล่าวว่า ไม่ว่าสถานการณ์แวดล้อมจะเป็นเช่นไร นักลงทุนก็ควร Stay Invested คือลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพราะการจับจังหวะในตลาดเป็นเรื่องยาก หากพลาดการลงทุนในบางช่วงเวลาก็อาจเสียโอกาสไปได้ เพียงแต่ต้องรู้จักสร้างสมดุลให้พอร์ต มีทั้งการลงทุนในหุ้นที่เติบโตดี ลงทุนในตราสารหนี้เพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตโดยรวม โดยหากต้องการลงทุนตามที่ B-Select แนะนำ ก็ควรกระจายลงทุนให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ หรือในกรณีที่นักลงทุนไม่แน่ใจว่า ควรให้น้ำหนักแต่ละกองทุนอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับตนเอง สามารถลงทุนผ่านกลุ่มกองทุน BMAPS ได้แก่ กองทุนเปิดบัวหลวงบีแมพส์ 25 (BMAPS25) กองทุนเปิดบัวหลวงบีแมพส์ 55 (BMAPS55) หรือกองทุนเปิดบัวหลวงบีแมพส์ 100 (BMAPS100) ที่ผู้จัดการกองทุนทำหน้าที่จัดสรรเงินลงทุนในกองทุนต่างๆ ให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงได้ โดยผู้จัดการกองทุนจะมีการพิจารณาปรับพอร์ตการลงทุนให้อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มการลงทุนในแต่ละขณะ

สำหรับผู้ลงทุนที่ยังไม่เคยลงทุนกับกองทุนบัวหลวง สามารถใช้บริการเปิดบัญชีกองทุนรวมผ่านโมบายแบงก์กิ้ง จากธนาคารกรุงเทพ ได้ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป โดยบริการดังกล่าว ใช้ได้สำหรับผู้ลงทุนที่ Update หรือ Download โมบายแบงก์กิ้ง จากธนาคารกรุงเทพ Version 3.9.1 ขึ้นไปเท่านั้น