ครึ่งปีเงินไหลเข้ากองทุน 9.3 หมื่นลบ. แห่ลงทุนกองหุ้นจีนสูงสุด 7 หมื่นลบ.

HoonSmart.com>> “มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช” เผยครึ่งปีแรกเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนรวม 9.3 หมื่นล้านบาท ลุยกองทุนหุ้นจีนสูงสุด 7.1 หมื่นล้านบาท กองทุนหุ้นทั่วโลก 5.1 หมื่นล้านบาท ฟากเงินไหลออกกระจุกกองทุนในประเทศ “มันนี่ มาร์เก็ต” สูงสุด 9.4 หมื่นล้านบาท ขยับออกไปลงทุน หลังปีก่อนแห่ซบหลบตราสารหนี้แพนิค ด้านผลตอบแทน “กองทุนน้ำมัน” สูงสุด 53% รองลงมากองทุนหุ้นไทยขนาดกลางเล็ก 21% ส่วนกองทุนหุ้นจีนผลตอบแทน 3.40%

นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีแรกมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนรวมไทย ณ 30 มิ.ย.2564 อยู่ที่ 5.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.8% จากธ.ค.2563 โดยมีเงินไหลเข้าสุทธิ 9.3 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเงินไหลเข้ากองทุนตราสารหนี้และกองทุนตราสารทุน สำหรับกลุ่มกองทุนที่มีเงินไหลเข้าสุทธิมากที่สุด ได้แก่ กองทุนหุ้นจีนมูลค่า 7.10 หมื่นล้านบาท ซึ่งไหลเข้าลงทุนมากในไตรมาส 1/64 กว่า 5 หมื่นล้านบาทและชะลอตัวลงในไตรมาส 2/64 ไหลเข้าเพียง 1.6 หมื่นล้านบาท แต่ยังไหลเข้าสูงสุดในกลุ่มกองทุนต่างประเทศ (FIF)

ขณะที่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนหุ้นจีนมีขนาดใหญ่สุดในกลุ่มกองทุน FIF มูลค่า 1.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.2% จากไตรมาสแรก และ 61.3% จากสิ้นปี 2563 โดยกองทุนหุ้นจีน กองทุน KTAM China A Shares Equity A มีเงินไหลเข้าสูงสุดของกลุ่มรวม 1.3 หมื่นล้านบาทในรอบครึ่งปีแรก มูลค่าทรัพย์สินสุทธิล่าสุดอยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่ากองทุนขนาดใหญ่สุดของกลุ่มคือ K China Equity-A(D) เล็กน้อยซึ่งมีมูลค่าทรัพย์สินที่ 2.3 หมื่นล้านบาท

สำหรับกองทุนหุ้นทั่วโลกมีเงินไหลเข้าสุทธิครึ่งปี 5.13 หมื่นล้านบาท ไหลเข้าลงทุนมากในไตรมาส 1/64 กว่า 4 หมื่นล้านบาทและไตรมาส 2/64 ชะลอตัวลงเหลือ 7.6 พันล้านบาท โดยเป็นกลุ่มกองทุนที่มีการเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน มูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.4% จากไตรมาสแรกและ 55.5% จากสิ้นปี 2563 โดยกองทุน TMB Global Quality Growth ยังเป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดของกลุ่มที่มูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท และมีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดในไตรมาสที่สองของปี 2.9 พันล้านบาท อย่างไรก็ดีกองทุน ONE Ultimate Global Growth RA มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดรอบครึ่งปีแรกรวม 6.4 พันล้านบาท และเป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดอันดับสอง

ด้านเงินไหลออกสุทธิในรอบครึ่งปีสูงสุดในกลุ่มกองทุนในประเทศ โดยกองทุนมันนี่ มาร์เก็ตไหลออกสุทธิสูงสุด 9.46 หมื่นล้านบาท เป็นผลจากปีที่ผ่านมาเงินไหลเข้ามาสูงถึง 1.7 แสนล้านบาท เป็นการพักเงินจากสถานการณ์ตลาดตราสารหนี้แพนิค เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย เงินจึงเริ่มไหลออกจากกองทุนกลับไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงสูงกว่าและส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินกองทุนมันนี่ มาร์เก็ตลดลง 6% อยู่ที่ 6.6 แสนล้านบาท

รองลงมากองทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นกองหลักของกองทุนหุ้นไทยมีเงินไหลออกสุทธิ 2.46 หมื่นล้านบาท ซึ่งไหลออกต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสแรกต่อเนื่องไตรมาส 2 อีก 6,053 ล้านบาท ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนลดลง 3.7% จากไตรมาสแรก

น.ส.ชญานี กล่าวว่า ภาพรวมกองทุนรวมตราสารทุนมีมูลค่าทรัพย์สินรวม 1.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% จากไตรมาสก่อนหน้า ครึ่งปีแรกเงินไหลเข้าสุทธิราว 1.6 แสนล้านบาท กองทุนรวมตราสารหนี้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% จากไตรมาสแรก รอบครึ่งปีแรกเป็นเงินไหลเข้าสุทธิ 3.6 หมื่นล้านบาท

กองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF RMF SSF) มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 2.3 แสนล้านบาท ลดลง 2.9% จากไตรมาสแรกแต่ยังสูงกว่าสิ้นปี 2563 อยู่ 2.0% หากดูในรายกลุ่มจะพบว่ากลุ่มกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) ที่เป็นกลุ่มหลักมีมูลค่าทรัพยสินสุทธิลดลง 3.7% จากไตรมาสแรก ในขณะที่กลุ่มหุ้นขนาดกลาง-เล็กมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเติบโตที่ 5.2% ทำให้กองทุนหุ้นขนาดกลาง-เล็กมีการเติบโตรอบ 6 เดือนที่ 10.4%

เม็ดเงินกองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF RMF SSF) ยังคงเป็นเงินไหลออกที่ 1.5 พันล้านบาท (ในจำนวนนี้เป็นเงินไหลออกสุทธิจากกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ 1.3 พันล้านบาท) หากมองย้อนกลับไปไตรมาสแรกที่มีเงินไหลออกสุทธิ 1.3 หมื่นล้านบาท จะพบว่าเป็นการไหลออกต่อเนื่อง รวมครึ่งปีแรกเป็นเงินไหลออกสุทธิรวมราว 1.4 หมื่นล้านบาท

ส่วนกองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงขึ้นทะลุระดับ 1 ล้านล้านบาทได้ในช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา มีเงินไหลเข้าสุทธิ 4.2 หมื่นล้านบาทในไตรมาสล่าสุด หรือสะสม 1.9 แสนล้านบาทในรอบครึ่งแรกของปี 2564 ในจำนวนนี้เป็นเงินไหลเข้ากองทุนตราสารทุนถึง 1.88 แสนล้านบาท

ด้านผลตอบแทนเฉลี่ยจากกองทุนรวมในครอบครึ่งปีแรกพบกองทุนรวมน้ำมัน สร้างผลตอบแทนสูงสุด 53.40% จากราคาน้ำมันพุ่งแรง รองลงมาเป็นกองทุนหุ้นไทยขนาดกลางและเล็กผลตอบแทนเฉลี่ย 21.30% ขณะที่กองทุนที่มีผลตอบแทนติดลบมี 2 กลุ่มกองทุน ได้แก่ กองทุนทองคำติดลบสูงสุด 5.10% และกองทุนตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ติดลบ 1.40%

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบเฉพาะกองทุนหุ้น พบกองทุนหุ้นไทยขนาดกลางและเล็กทำผลตอบแทนสูงสุด 21.30% รองลงมากองทุนหุ้นยุโรป 21.30% กองทุนหุ้นอินเดียและกองทุนหุ้นสหรัฐเท่ากัน 14.80% กองทุนหุ้นเอเชียแปซิฟิคยกเว้นญี่ปุ่น 12.00% กองทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่ 10.60% กองทุนหุ้นทั่วโลก 10.10% กองทุนหุ้นเทคโนโลยทั่วโลก 9.60% กองทุนหุ้นตลาดเกิดใหม่ 8.60% กองทุนอาเซียน 7.60% กองทุนหุ้นญี่ปุ่น 6.10% กองทุนเฮลธ์แคร์ 6% และกองทุนหุ้นจีน 3.40%