ตุรกีกระทบไทยจำกัด หุ้นลง 10 จุด

ตลาดเงินและตลาดทุนไทยไม่ตื่นตระหนก ดัชนีติดลบ 10 จุด ธปท.ชี้กระทบไทยจำกัด ค่าเงินลีราของตุรกีฟื้น หุ้นเอเชียมีทั้งบวกและลบคละกัน ส่วนฮั่งเส็งรูดลง 183 จุด จากตัวเลขเศรษฐกิจจีนหลายตัวชะลอ ค่าเงินอินเดียร่วงแตะ 70 รูปี ทองคำหลุด 1,200 ดอลลาร์ ราคาน้ำมันลง ด้านกองทุนรวมไทยไม่กระทบ เงินลงทุนในตุรกีแค่ 0.15% ของมูลค่าสินทรัพย์

วันที่ 14 ส.ค. 2561 ตลาดเงินตลาดทุนไทยเปิดทำการวันแรก หลังปิดติดต่อกัน 3 วัน (11-13 ส.ค.) นักลงทุนเตรียมตัวเตรียมใจว่าดัชนีหุ้นจะทรุดลงแรง จากกรณีค่าเงินลีราตุรกีดิ่งลงแรงกว่า 20% เมือคืนวันศุกร์ที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา จนทำให้ตลาดโลกปั่นป่วน แต่เมื่อตลาดหุ้นไทยเปิดซื้อขาย แม้ว่าราคาหุ้นตัวใหญ่ปรับตัวลงมาก ก็มีแรงซื้อเข้ามารับ ทำให้ตลาดฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว จากระหว่างวันรูดลงแรงกว่า 21 จุด ลงไปต่ำสุดที่ 1,684 จุด ก่อนฟื้นขึ้นมาปิดที่ 1,695.35 จุด รูดลง 10.61 จุดหรือ 0.62% ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 54,247 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,146.94 ล้านบาท จากก่อนหน้าซื้อติดต่อกัน 10 วันสุทธิ 1.35 หมื่นล้านบาท

มาร์เก็ตติงกล่าวว่า หุ้นไทยได้รับผลกระทบไม่มากอย่างที่คาดการณ์ เนื่องจากค่าเงินลีราของตุรกีฟื้นตัว ตลาดหุ้นเอเชียหลายแห่งเปิดบวกแรง เช่น ญี่ปุ่น รวมถึงตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้น แม้ว่าตลาดยังมีความกังวลว่าตุรกี จะเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจจนต้องขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็ตาม

ขณะที่ตลาดหุ้นฮ่องกง ดัชนีฮั่งเส็งลดลง 183.64 จุด หรือ 0.66% เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจจีนหลายรายการบ่งชี้ถึงการชะลอตัวลง

“ตลาดหุ้นที่ฟื้นตัวตามหุ้นขนาดใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มปตท. ตอนเช้าลงมามากตามราคาน้ำมันดิบ แต่ในช่วงบ่ายมีแรงซื้อกลับทำให้ราคาหุ้นดีดขึ้นมาปิดบวก แต่นักลงทุนยังต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน เนื่องจากปัญหาของตุรกีอาจจะลุลามไปยุโรปได้”มาร์เก็ตติงกล่าว

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ติดตามสถานการณ์ในตลาดการเงินโลกอย่างใกล้ชิดจากเหตุการณ์ในประเทศตุรกี ความเชื่อมโยงทางการค้า การลงทุน และการเงินของไทยกับประเทศตุรกียังไม่สูงมาก ผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยจึงอยู่ในวงจำกัด โดย ธปท. จะติดตามผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ และ ช่องทางการส่งผ่านต่างๆ เพื่อประกอบการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส วิเคราะห์ว่า ค่าเงินลีราของตุรกีอ่อนค่าลงถึง 38% เพียงแค่สัปดาห์เดียวและยังลดลงถึง 82% จากต้นปีมา จะกดดันค่าเงินประเทศที่มีความสัมพันธ์การค้ากับตุรกี โดยเฉพาะคู่ค้าหลัก คือ สหภาพยุโรป สัดส่วน 28% ของยอดค้ารวม พบว่าช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินยูโรอ่อนค่า 2.4% หรือลดลง 8% นับจากสหรัฐฯขึ้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียม, เงินหยวนของจีน ลดลง 8.6% นับจากเดือนก.พ.เป็นต้น

ส่วนตลาดหุ้นตุรกีตกมากสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก 56.56% รองจากเวเนซุเอลา ขณะที่อาร์เจนตินา และจีนติดลบมากเป็นอันดับที่ 3 และ 4

ฝ่ายวิจัยฯ เชื่อว่า ค่าเงินโลกที่ผันผวนจะกระทบการค้าและการลงทุน จะกดดันตลาดหุ้นทั่วโลก ขณะที่ตลาดหุ้นไทย คงหลีกเลี่ยงผลกระทบไม่ได้ แม้ว่านับจากต้นปีมา หุ้นไทยติดลบเพียง 2.7% ถือว่าดีกว่าตลาดหุ้นโลกหลายแห่ง โดยเฉพาะในเอเชีย คือ อินโดนีเซีย ลบ 7.7%, ฟิลิปปินส์ ลบ 10.6% ยกเว้น เวียดนาม และ มาเลเซียติดลบเพียง 1% ส่วนอินเดียบวก 10.5%

ด้านนางณัฐญา นิยมานุสร ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า กรณีการอ่อนตัวลงของค่าเงินตุรกีในช่วงที่ผ่านมานั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทย โดยมูลค่าการลงทุนของกองทุนรวมไทยในตุรกีมีมูลค่าเพียง 7 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 0.15% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมไทย โดยเป็นการลงทุนของกองทุนรวมตราสารหนี้ 2 กองทุนภายใต้การจัดการของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน 2 แห่งในเงินฝากและตราสารหนี้ของธนาคารตุรกีสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐและยูโร ซึ่งได้มีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวนอยู่แล้ว

“ผู้ลงทุนไม่ควรวิตกกังวลจนเกินไป แต่ควรติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ซึ่งบริษัทจัดการที่มีการลงทุนในตุรกีได้ติดตามสถานการณ์ในประเทศตุรกี และผลกระทบต่อกองทุนรวม รวมถึงดำเนินการเพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ ในขณะเดียวกัน ก.ล.ต. ก็จะมีการติดตามสถานการณ์และผลกระทบต่อไปด้วย”นางณัฐญา กล่าว