คาดปี’64 หุ้นกู้ออกเพิ่มเป็น 9 แสนลบ. 9 บริษัทขอเลื่อนชำระ

HoonSmart.com>>สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยคาดปี64 เอกชนออกหุ้นกู้แตะ 9 แสนล้านบาท จากเดิมคาด 7-7.5 แสนล้าน รีไฟแนนซ์-ลงทุน-รองรับสถานการณ์ไม่แน่นอน ด้านหุ้นกู้ไม่มีเรทติ้ง ยังผิดนัดชำระ มี 9 บริษัทขอเลื่อนชำระ 19 รุ่น แนวโน้มครึ่งปีหลังคาดเงินไหลเข้าต่อ ระวังเฟดส่งสัญญาณ QE Tapering ในไตรมาส 4 เงินไหลออก หนุนยีลด์อายุ 5-10 ปีปรับขึ้นตามสหรัฐ   

ธาดา พฤฒิธาดา

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มของตราสารหนี้ปี 2564 คาดว่าเอกชนจะออกหุ้นกู้มูลค่ารวม 900,000 ล้านบาท ซึ่งคาดการณ์เพิ่มขึ้นจากเป้าหมายต้นปีที่ให้ไว้ที่ 700,000-750,000 ล้านบาท ถึงแม้จะมีการแพร่บาดของโควิด-19 ในรอบใหม่ก็ตาม ใน 6 เดือนแรกที่ผ่านมา เอกชนออกหุ้นกู้แล้วกว่า 522,071 ล้านบาท  เชื่อว่าในช่วงที่เหลือจะทยอยออก เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มเรทติ้ง  นำไปใช้ทั้งการรีไฟแนนซ์หุ้นกู้ชุดเดิม รองรับการลงทุนต่าง รวมถึงรองรับสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

ด้านหุ้นกู้ภาคเอกชนที่ไม่มีการจัดเรทติ้ง คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน โดยในช่วง 6 เดือนแรก ยังไม่มีบริษัทใดมีสถานะผิดนัดชำระหนี้ มีแต่ขอเลื่อนชำระหนี้ไปก่อน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 9 บริษัท จำนวน 17 รุ่น มีทั้งบริษัทที่เคยขอยืดหนี้ไปเมื่อปีก่อน และบริษัทใหม่ที่โดนผลกระทบโควิด-19 ในครึ่งหลังของปีนี้ ก็อาจจะมีบริษัทขอยืดหนี้เพิ่มเติม จากการแพร่บาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ

ขณะที่เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund Flow) ในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่ายังไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมในช่วงครึ่งแรกที่ซื้อสุทธิ 73,437 ล้านบาท ซึ่งถือครองระยะยาวเฉลี่ยอายุประมาณ 9.33 ปี ในไตรมาส 3 คาดว่าจะซื้อสุทธิเหมือนปกติ แต่ในไตรมาส 4   หากธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) เริ่มส่งสัญญาณถอนสภาพคล่องออกจากระบบ (QE Tapering) ก็อาจจะเห็นสัญญาณของเงินเริ่มไหลออกตามสภาพคล่องทั่วโลกที่ลดลง

ทั้งนี้จากการทำ QE Tapering ของสหรัฐฯ คาดว่าจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐ (บอนด์ยีลด์) อายุ 5 และ 10 ปี คาดว่าจะเคลื่อนไหวแกว่งตัวรุนแรง ในทิศทางขาขึ้น ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทย อายุ 5 และ 10 ปี ตามสถิติแล้วจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับสหรัฐ

ด้านน.ส.อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ตั้งแต่ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา มูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ในครึ่งปีแรกปรับขึ้น 2% อยู่ที่ 14.41 ล้านล้านบาท โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล และลดลงในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ส่วนมูลค่าการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวเพิ่มขึ้น 63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีมูลค่าการออก 522,070 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่มียอดการออกทั้งปีสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ส่วนการออกหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม สังคมและความยั่งยืน (ESG bond) ยังเป็นกระแสอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งปีแรก  มีมูลค่าการออก ESG bond จากทั้งภาครัฐและเอกชนรวมทั้งสิ้น 61,000 ล้านบาทคิดเป็นประมาณ 70% ของมูลค่าการออกทั้งปีของปีก่อนหน้า นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ออกหลักเกณฑ์การออกและเสนอขายตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond: SLB) เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งผลตอบแทนขึ้นอยู่กับผลความสำเร็จของโครงการที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมหรือสังคม โดยผู้ออกสามารถนำเงินทุนไปใช้ในโครงการต่างๆที่กำหนดเป็นเป้าหมายไว้ นับเป็นโอกาสในการระดมทุนที่เหมาะสำหรับบริษัทที่มีหลายโครงการลงทุนที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมหรือสังคม