ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ประเมินหยุดก่อสร้าง 1 เดือนฉุดมูลค่าการลงทุนหดตัว 3.8%

HoonSmart.com>> ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินมาตรการกึ่งล็อกดาวน์หยุดการก่อสร้าง 1 เดือน กระทบอุตฯ ก่อสร้างพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีสัดส่วน 51% ของมูลค่าก่อสร้างทั้งประเทศ คาดฉุดมูลค่าการลงทุนหดตัว 3.8% หรือราว 1.27 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบปี 63 ขยายตัว 1.2%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินผลกระทบเบื้องต้นากมาตรการที่ให้มีการหยุดก่อสร้าง 1 เดือน คาดว่า น่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างคิดเป็นเม็ดเงินราว 36,200 ล้านบาท โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่น่าจะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล และเป็นโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐเป็นหลัก ขณะที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นใน 4 จังหวัดภาคใต้อาจจะมีไม่มากนัก เนื่องจากโดยปกติแล้ว การลงทุนก่อสร้างในจังหวัดภาคใต้ดังกล่าวมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2% ของมูลค่าการก่อสร้างทั้งประเทศ และจากผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมก่อสร้าง แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้างแรงงานได้บางส่วน รวมถึงผ่อนคลายงานก่อสร้างบางประเภท แต่ด้วยการระบาดของโควิดในปัจจุบันที่ยังไม่คลี่คลาย ยอดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันยังสูง ทำให้คาดว่า มูลค่าการลงทุนอุตสาหกรรมก่อสร้างภาพรวมทั้งปี 2564 อาจหดตัวที่ -3.8% (เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ขยายตัว 1.2%) หรือมีมูลค่าราว 1.27 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ดี อาจจะต้องติดตามสถานการณ์การควบคุมการแพร่ระบาดอีกครั้ง รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการสั่งหยุดก่อสร้างชั่วคราวในจังหวัดหรือพื้นที่เสี่ยงอื่นๆ ซึ่งหากมีการสั่งหยุดก่อสร้างในจังหวัดอื่นๆ เพิ่มขึ้น หรือหากระยะเวลาในการหยุดการก่อสร้างยืดเยื้อออกไป ก็อาจจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอาจจะได้รับผลกระทบมากกว่าที่ประเมินไว้ข้างต้น

ทั้งนี้ ผลจากมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ที่ให้มีการหยุดการก่อสร้าง ภาครัฐได้มีการออกมาตรการช่วยเหลือผู้รับเหมาและแรงงานในเบื้องต้น โดยแบ่งเป็นทั้งในระบบประกันสังคมสูงสุด 9,500 บาท และนอกระบบประกันสังคมสูงสุดที่ 2,000 บาท ซึ่งมาตรการดังกล่าวในเบื้องต้นอาจจะยังไม่เพียงพอ เนื่องจากแรงงานก่อสร้างส่วนใหญ่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นแรงงานทั่วไปที่ได้รับค่าจ้างรายวันและอยู่นอกประกันสังคม ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% หรือประมาณ 4 แสนคน โดยหากพิจารณาถึงค่าจ้างแรงงานก่อสร้างเฉลี่ยที่วันละประมาณ 350-400 บาท จะมีส่วนต่างเงินได้ต่อเดือนที่หายไปพอสมควรในกรณีที่เป็นแรงงานนอกประกันสังคม

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือ โฟร์แมน วิศวกร อาจได้รับผลกระทบน้อยกว่าเพราะได้รับเงินช่วยเหลือประกันสังคมด้วย ขณะเดียวกัน ภาครัฐได้มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการเป็นเงิน 3,000 บาท ต่อลูกจ้าง 1 คนทั้งในและนอกระบบ ทำให้แบ่งเบาภาระนายจ้างได้พอสมควร แต่ก็ยังมีส่วนต่างของรายได้ที่หายไปในกลุ่มแรงงานนอกระบบ ทำให้นายจ้างบางรายอาจจะมีการแบกรับส่วนต่างของรายรับบางส่วน ส่งผลให้ต้นทุนก่อสร้างต่อหนึ่งโครงการเพิ่มขึ้น

นอกจากมาตรการภาครัฐที่ออกมาแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ภาครัฐอาจจะพิจารณามาตรการอื่นๆ เพื่อเข้ามาช่วยเหลือหรือเยียวยาเพิ่มเติม เช่น ในเรื่องของการขยายสัญญาการก่อสร้างเพื่อไม่ให้ถูกปรับเงินจากการส่งมอบงานล่าช้า แต่เนื่องจากการหยุดงานลักษณะนี้เป็นการหยุดงานโดยเหตุสุดวิสัย ทำให้เจ้าของงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนอาจจะยืดหยุ่นเวลาการส่งมอบงานโดยไม่ถูกปรับเงินให้

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่น่าสนใจ คือ หากมีประกันภัยก่อสร้างครอบคลุมถึงการหยุดงานในลักษณะนี้ด้วย หลังจากนี้อาจจะได้เห็นผู้รับเหมาทำประกันภัยในการก่อสร้างมากขึ้น เนื่องจากต้องการป้องกันความเสี่ยงจากเหตุสุดวิสัยในรูปแบบดังกล่าวและจะเป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรมต่อไป นอกจากนี้ อาจจะมีมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในบางส่วนของวัสดุก่อสร้างที่เสื่อมคุณภาพ เช่น ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเหล็ก ปูนซีเมนต์ถุง และไม้ ที่มีโอกาสที่จะเสื่อมคุณภาพได้หากมีการจัดเก็บไม่ดี ส่งผลให้ผู้ประกอบการรับเหมาอาจจะต้องจัดซื้อวัสดุก่อสร้างใหม่มาทดแทน หรือการช่วยเหลือในส่วนของเครื่องมือที่มีค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง เช่น การเช่าเครน รถแบคโฮ รวมถึงอาจมีการผ่อนผันต้นทุนทางการเงินและสภาพคล่องในบางส่วนจากสถาบันทางการเงินในกลุ่มลูกค้าที่มีเครดิตที่ดี โดยอาจจะมีเงินกู้ระยะสั้นดอกเบี้ยต่ำเพื่อชดเชยกระแสเงินสดที่หายไปในผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อเป็นสภาพคล่องในการจ่ายค่าแรงงาน วัสดุก่อสร้างและเครื่องมือ เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างก็อาจจำเป็นต้องมีการวางแผนรับมือกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิดที่ยังไม่คลี่คลาย เช่น การเตรียมกระแสเงินสดเผื่อไว้และวางแผนการทำงานในช่วงข้างหน้าอย่างรัดกุม โดยผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างอาจใช้เวลาหยุดงานนี้ในการจัดการงานเอกสารและแบบก่อสร้าง การปรับแผนงานใหม่ร่วมกับผู้ตรวจงานและเจ้าของงาน ทำบัญชีวัสดุคงเหลือเพื่อเตรียมสั่งของในกรณีที่มีการเปิดให้ก่อสร้างอีกครั้ง รวมถึงการคำนึงถึงสถานการณ์อื่นๆ ควบคู่ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนราคาวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะราคาเหล็กที่ยังคงมีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง การขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง เป็นต้น