BANPU ลุยลงทุนพลังงานสะอาด หวังเพิ่มสัดส่วนพอร์ตมากกว่า 50% ในปี 68

HoonSmart.com>> “บ้านปู” วางเป้าปี 2568 สัดส่วนพลังงานสะอาดมากกว่า 50% ไม่ลงทุนถ่านหินแล้ว มีกำลังการผลิตแตะ 6.1 พันเมกะวัตต์ เน้นลงทุนพลังงานหมุนเวียน เพิ่มอีก 1.6 พันเมกะวัตต์-โรงไฟฟ้าก๊าซอีก 2 พันเมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวม 2.5 พันเมกะวัตต์ นอกจากนี้ศึกษาลงทุนธุรกิจแบตเตอรี่ มั่นใจเงินลงทุนแข็งแกร่ง หลังประเทศเพิ่มทุนไป-พร้อมแผนออกหุ้นกู้อีก 3 ชุด วงเงินรวม 7,000-10,000 ล้านบาท ใช้ชำระหนี้หมดอายุและขยายการลงทุน-ยังมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน-วงเงินกู้ธนาคารทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สมฤดี ชัยมงคล

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู (BANPU) เปิดเผยว่า บริษัทฯมีแผนที่จะเข้าลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยเป้าหมายในปี 2568 ที่จะมีสัดส่วนพอร์ตพลังงานสะอาดมากกว่า 50% โดยจะไม่ลงทุนในธุรกิจถ่านหินแล้ว และมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 6,100 เมกะวัตต์ โดยจะแบ่งเป็นการลงทุนด้านพลังงานสะอาด ได้แก่ ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มอีกประมาณ 1,600 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าก๊าซ เพิ่มอีก 2,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 2,500 เมกะวัตต์ นอกจากนี้มีแผนที่จะลงทุนธุรกิจแบตเตอรี่

สำหรับการลงทุนเพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด (Greener Portfolio) เบื้องต้นจะเน้นไปยังประเทศที่มีโอกาสในการเติบโตที่ดี ได้แก่ ประเทศจีน ,เวียดนาม ,ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย โดยล่าสุดที่ประเทศออสเตรเลีย ได้ลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เบอริล (Beryl หรือ BSF) กำลังการผลิต 110.9 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มานิลดรา (Manildra หรือ MSF) กำลังการผลิต 55.9 เมกะวัตต์ รวมถึงคาดว่าในเดือน ส.ค.2564 จะรู้ผลการลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซ ขนาดกำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ ในรัฐนิวเซาท์เวลส์

นอกจากนี้ โครงการปั๊ม ไฮโดร เอ็นเนอจี สตอเรจ (Pump Hydro Energy Storage Project) ได้รับเงินสนับสนุนจำนวนหนึ่งจากสำนักงานพลังงานทดแทนแห่งออสเตรเลีย (ARENA) และรัฐบาลของรัฐนิวเซาท์เวลส์ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการพลังงานน้ำที่สามารถกักเก็บไว้ที่เหมืองใต้ดินในบริเวณที่ทำเหมืองเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อสร้างพลังงานหมุนเวียนที่มีต้นทุนต่ำ จ่ายให้กับระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก ซึ่งคาดว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 600 เมกะวัตต์

ด้านธุรกิจแบตเตอรี่ บริษัทกำลังศึกษาและจัดตั้งทีมงานดูแล ธุรกิจเหมืองแร่ที่ตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน (Tech Minerals) ที่สามารถนำมาต่อยอดในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากบริษัทฯ มีฐานการผลิตเหมืองถ่านหินอยู่แล้ว และออสเตรเลียก็ถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสินแร่แห่งอนาคตอยู่มากเช่นเดียวกัน เบื้องต้นจะเริ่มจากการทำธุรกิจขนาดเล็กก่อน ในออสเตรเลีย รวมถึงอินโดนีเซีย โดยการนำแร่ธาตุนิกเกิล มาพัฒนาและต่อยอดออกมาเป็นแบตเตอรี่ที่ใช้กักเก็บพลังงาน

สำหรับเงินลงทุนโครงการต่างๆ มาจากกระแสเงินสดจาผลกการดำเนินงานของบริษัท ,จากเงินกู้ธนาคารทั้งในประเทศและต่างประเทศ ,จากการออกหุ้นกู้ โดยบริษัทมีแผนที่จะออกหุ้นกู้ในเดือน ส.ค.2564 นี้ วงเงินรวมประมาณ 7,000-10,000 ล้านบาท จำนวนที่ออก 4 ชุด อายุ 3-5-7-10 ปี เพื่อทดแทนหนี้สินที่ครบกำหนดและเพื่อขยายธุรกิจ และจากการเพิ่มทุนอีก 31,716 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายธุรกิจพลังงานสะอาด ธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องอีกมากในอนาคต ซึ่งเสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม สัดส่วน 4 ต่อ 1 หุ้นใหม่ ราคาหุ้นละ 5 บาท อ้างอิงจาก ราคาแปลงสภาพของวอร์แรนต์ ชุดที่ 4 (BANPU-W4) อายุ 1 ปี

“เรามีโอกาสเติบโตอีกมากในอนาคต การเพิ่มทุนในครั้งนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เรามีฐานทุนที่ใหญ่ขึ้น มีโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่ง และเพิ่มความสามารถในการเข้าลงทุนโครงการใหญ่ๆ ได้รวดเร็วขึ้น และมากขึ้นด้วย อีกทั้งเราเชื่อว่าจากการแจกวอร์แรนต์จะได้รับการสนับสนุนที่ดีจากนักลงทุน และทำให้เรามีเงินทุนที่เพิ่มขึ้น จากการแปลงสิทธิของนักลงทุน เพื่อให้สามารถเติบโตได้ตามแผน ซึ่งตลอดระยะเวลาแผนงาน 5 ปีนี้ (2564-2568) เรามีการวางแผนเป็นอย่างดี และจักสรรเงินลงทุนรองรับ ทั้งการลงทุนโครงการพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซ กิจการก๊าซ และเทคโนโลยีพลังงานต่างๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว ถ้ามีโอกาส และเราเห็นว่าผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้ถือหุ้น เราจะเดินหน้าลงทุนแน่นอน” นางสมฤดี กล่าวทิ้งท้าย