ดาวโจนส์ปิดบวกกว่า 131 จุด ขานรับสวัสดิการว่างงานลด

HoonSmart.com>> ตลาดหุ้นสหรัฐปิดบวก ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้น 131 จุด รับตัวเลขยื่นขอสวัสดิการว่างงานลดลง ด้านราคาน้ำมันดิบพุ่งสะท้อนเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับขึ้น

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 1 กรกฎาคม2564 ปิดที่ 34,633.53 จุด เพิ่มขึ้น 131.02 จุด หรือ 0.38% จากข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น แสดงถึงการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจ

ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 4,319.94 จุด เพิ่มขึ้น 22.44 จุด, +0.52% เป็นการปรับขึ้นติดต่อกันวันที่ 6 และยืนเหนือระดับ 4,300 จุดเป็นครั้งแรก

ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,522.38 จุด เพิ่มขึ้น 18.42 จุด, +0.13%

กระทรวงแรงงานรายงานการยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 26 มิถุนายนลดลง 51,000 รายจากสัปดาห์ก่อนหน้ามาที่ระดับ 364,000 ราย ต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 และต่ำกว่า 390,000 ราย ที่นักวิเคราะห์คาด

สถาบันจัดการด้านอุปทาน (ISM) รายงาน ดัชนีภาคการผลิตเดือนมิถุนายนอ่อนตัวลงมาที่ระดับ 60.6 ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม และต่ำกว่า 61.0 ที่นักวิเคราะห์คาด

กระทรวงพาณิชย์รายงาน การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเดือนพฤษภาคมลดลง 0.3% จากเดือนก่อนหน้า จากที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.4% แต่เมื่อเทียบรายปีเพิ่มขึ้น 7.5%

นักวิเคราะห์จาก Leuthold Group ระบุว่า ข้อมูลเศรษฐกิจในครึ่งแรกของปีสะท้อนว่าเศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว เป็นผลจากการฉีดวัคซีนในวงกว้างและการเปิดเศรษฐกิจ และส่งผลให้ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้นกว่า 14% ส่วนดัชนี DJIA กับดัชนี Nasdaq ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเลขสองหลัก

“สถานการณ์ที่ดีขึ้นของการระบาด การฉีดวัคซีน การเปิดเศรษฐกิจ การขยายตัวของเศรษฐกิจและผลการดำเนิน งานของบริษัทจดทะเบียน หนุนการปรับขึ้นของตลาดในสองไตรมาสในระดับที่ใกล้เคียงกัน จากการสลับกลุ่มลงทุน”

นักลงทุนจับตาการรายงานข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิถุนายนในวันนี้เพื่อประเมินทิศทางดำเนินนโยบายการเงินและทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง (เฟด) โดยนักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 683,000 ตำแหน่ง

สำนักงบประมาณสภาคองเกรสประเมินว่า รัฐบาลกลางจะขาดดุลงบประมาณ3 ล้านล้านดอลลาร์คิดเป็น 13.4% ของ GDP เป็นการขาดดุลมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1945 และสูงกว่าปี 2020 แต่ได้ปรับประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจของปีนี้ขึ้นเป็น 7.4% และเติบโต 2.8% ต่อปีไปจนถึงปี 2025 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ผ่านมา การว่างงานคาดว่าจะลดลงมาที่ 4% ในปี 2022 และทรงตัวระดับนี้หลายปี

ด้านเงินเฟ้อปีนี้ คาดการดัชนีราคาการใช้จ่ายของผู้บริโภคไว้ที่ 2.8% และเงินเฟ้ออ่อนตัวลงมาที่ 2% ในปี 2022 จากนั้นทรงตัวที่ 2.1% จนถึงปี 2025

หุ้นกลุ่มพลังงานเพิ่มขึ้นโดยหุ้นเชฟรอน เพิ่มขึ้น 1.40% หุ้นเอ็กซอน โมบิล เพิ่มขึ้น 0.29% หุ้นฮัลลิเบอร์ตัน เพิ่มขึ้น 2.94%

หุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเศรษฐกิจปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยหุ้นเดลต้า แอร์ไลน์ เพิ่มขึ้น 2.2% หุ้นยูไนเต็ด แอร์ไลน์ เพิ่มขึ้น 1.51% หุ้นอเมริกัน แอร์ไลน์ เพิ่มขึ้น 1.41% หุ้นโรยัล คาริบเบียน ครูซ เพิ่มขึ้น 0.69% หุ้นนอร์วีเจียน ครูซไลน์ เพิ่มขึ้น 0.34%

ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น นำโดยกลุ่มเดินทางและสันทนาการที่เพิ่มขึ้น 1.9% นักลงทุนคาดหวังว่าเศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัว

ไอเอชเอสมาร์กิต รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(Purchasing Managers’ Index:PMI)ภาคการผลิตเดือนมิถุนายนครั้งสุดท้ายเพิ่มขึ้นมาที่ 63.4 จาก 63.1 ที่ประเมินครั้งแรก เป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่มีการสำรวจในปี 1997

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 455.63 จุด เพิ่มขึ้น 2.79 จุด, +0.62%

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,125.16 จุด เพิ่มขึ้น 87.69 จุด, +1.25%

ดัชนี CAC 40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,553.82 จุด เพิ่มขึ้น 45.99 จุด, +0.71%

ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,603.81 จุด เพิ่มขึ้น 72.77 จุด, +0.47%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนสิงหาคม 1.76 ดอลลาร์ หรือ 2.4% ปิดที่ 75.23 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนกันยายนเพิ่มขึ้น 1.22 ดอลลาร์ หรือ 1.6% ปิดที่ 75.84 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล