ความจริง ความคิด : เวลา

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

ผ่านไปแป๊บเดียวจะหมดเดือนที่ 8 ของปีแล้ว เรื่องหลายๆเรื่องที่เราตั้งใจว่าจะทำให้สำเร็จตอนต้นปี หลายคนบางเรื่องยังไม่ได้เริ่มทำเลย ถามว่าที่ยังไม่ได้เริ่มทำ เป็นเพราะไม่มีความสามารถมากพอใช่หรือไม่ คำตอบอาจจะใช่ และ อาจจะไม่ใช่ เพราะงานหลายอย่างที่ไม่ต้องใช้ความรู้ความสามารถมากมายอะไร เช่น การออกกำลังกาย ฯลฯ หลายคนก็ยังไม่ได้เริ่มทำ แม้เวลาจะผ่านไปเกือบครึ่งปี สิ่งที่หลายคนไม่ประสบความสำเร็จ เป็นเพราะไม่เห็นคุณค่าของเวลาต่างหาก

แต่หากให้เราเทียบหาคุณค่าของเวลา อาทิ เทียบกับระหว่าง เงิน กับ เวลา เราว่าอะไรมีค่ามากกว่ากัน บางคนอาจเลือกเงิน บางคนอาจเลือกเวลา สำหรับผมแล้ว เงินหรือเวลา อันไหนจะสำคัญกว่าขึ้นอยู่กับแต่ละคน ว่า อะไรเป็นสิ่งที่เขาขาด หรือ อะไรเป็นสิ่งที่เขาจำเป็น ตัวอย่างเช่น หากเราไปถาม คุณค่าของเวลากับพวกวินมอเตอร์ไซค์ที่นั่งเล่นหมากรุกระหว่างรอลูกค้า กับหมอที่กำลังผ่าตัดหัวใจคนไข้ คุณค่าของเวลาของสองคนนี้ย่อมไม่เท่ากัน

และแม้แต่ในคนๆเดียวกัน เวลาก็ยังมีค่าแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น 5 นาทีของนักเรียนในห้องเรียน กับ 5 นาทีสุดท้ายในห้องสอบ ก็มีค่าแตกต่างกัน

แต่อย่าเข้าใจผิดนะครับ ผมไม่ได้หมายความว่า เวลาของวินมอเตอร์ไซด์มีค่าน้อยกว่าหมอผ่าตัด หรือ เวลาในห้องสอบมีค่ามากกว่าเวลาในห้องเรียน ฯลฯ แต่สิ่งที่ผมอยากจะสื่อก็คือ เวลาเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากของทุกคน ทั้งนี้เพราะธรรมชาติของเวลามีลักษณะพิเศษคือ
1. เวลาเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด ใช้แล้วหมดไป
2. เวลาไม่สามารถซื้อเพิ่มได้ ไม่ว่ารวยหรือจน
3. เวลาไม่สามารถเก็บเอาไว้ใช้ได้
4. เวลาผ่านไปเรื่อยๆ ไม่หวนย้อนกลับมาอีก

ยิ่งโลกปัจจุบันหมุนเร็วกว่าที่เราคิดมาก การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็ว และ รุนแรงกว่าแต่ก่อนมาก ยิ่งการเปลี่ยนแปลงยิ่งรุนแรง รวดเร็วมากเท่าไร เวลายิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเท่านั้น

ขนาดผู้รู้บางคนยังพูดเลยว่า “เวลาเป็น commodities (สินค้าโภคภัณฑ์) ที่มีค่ามากที่สุด” แต่ส่วนใหญ่กลับไม่ค่อยเห็นคุณค่าของเวลา จะเห็นคุณค่าของเวลา ก็ต่อเมื่อเวลามีจำกัด ยิ่งเวลาจำกัดมากเท่าไร เวลาก็มีคุณค่ามากเท่านั้น และหลายครั้ง กว่าเราจะเห็นคุณค่าของเวลา เราก็ไม่มีเวลาเหลือให้จัดการแล้ว

ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงการไม่เห็นคุณค่าของเวลาที่ผมพบบ่อยมากๆ ในการทำงานเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ก็คือ ไม่ว่าจะเป็นคนรวยล้นฟ้า หรือ คนระดับรากหญ้า แทบทุกคนเลยมีปัญหาเรื่องเกษียณอายุ ว่า จะอยู่อย่างไร แทบทุกคนเช่นกันต่างบอกว่า หากย้อนเวลากลับไปได้ จะ……

• อย่างคนรวย แม้ไม่มีปัญหาเรื่องเงิน แต่ก็มีปัญหาเรื่องสุขภาพ ก็มักจะพูดว่า หากย้อนเวลากลับไปได้ จะกินอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายมากกว่านี้

• หรืออย่างคนระดับกลาง หรือ ระดับรากหญ้า ปัญหาเรื่องเงินหลังเกษียณเป็นปัญหาใหญ่ ผมขอยกตัวอย่างงานวิจัย Ernst & Young Retirement Survey ที่ทำเมื่อหลายปีก่อน พบว่า 5 เรื่องที่คนวัยเกษียณอเมริกาอยากย้อนเวลากลับไปทำ มีดังนี้

– 21% อยากย้อนเวลากลับไปจัดทำประมาณการเงินได้ที่ต้องการเพื่อไว้ใช้จ่ายวัยเกษียณ

– 19% อยากย้อนเวลากลับไปวางแผนการลงทุนและจัดทำพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสม

– 19% อยากย้อนเวลากลับไปทำความเข้าใจเงื่อนไขที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่างๆของแหล่งเงินสะสมเพื่อการเกษียณต่างๆ

– 18% อยากย้อนเวลากลับไปกำหนดรูปแบบการได้รับผลตอบแทนหลังเกษียณ เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตในปัจจุบันมากขึ้น

– 17% อยากย้อนเวลากลับไปเป็นหนุ่มสาวอีกครั้ง เพื่อกลับไปทำงานหาเงินมาเป็นทุนสำรองสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณให้มากขึ้น

สิ่งที่ทุกคนมีเท่ากันก็คือเวลา มี 24 ชั่วโมง/วัน แต่ทำไมคนถึงประสบความสำเร็จไม่เท่ากัน ก็เพราะว่า การบริหารเวลาไม่เหมือนกัน ผู้ที่รู้คุณค่าของเวลามากเท่าใด ย่อมสามารถบริหารเก็บเกี่ยวคุณประโยชน์จากการใช้เวลาให้มีคุณค่าได้มากเพียงนั้น ประโยคง่ายๆ แต่จริง ประโยคหนึ่งสำหรับการวางแผนการเงิน ก็คือ “ออมก่อน รวยกว่า” ก็เป็นเรื่องของการใช้เวลาอย่างคุ้มค่าเช่นกัน Albert Einstein นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก กล่าวถึงการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20 ว่าคือ “ดอกเบี้ยทบต้น” ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความมั่งคั่งให้แก่เงินออม ที่นอกจาก “จำนวนเงินต้น” กับ “อัตราดอกเบี้ย” แล้ว “เวลา” ก็เป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะยิ่งมีระยะเวลานาน ยิ่งส่งผลให้เงินออมเพิ่มพูนขึ้นในอัตราทวีคูณ (เราสามารถทดสอบเรื่องนี้ได้ด้วยตัวเราเองแล้วผ่านเว็บไซต์ของศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน (TSI) ที่ https://www.set.or.th/project/caltools/www/html/goal.html

หัวใจสำคัญของการบริหารเวลา เป็นเรื่องของการเรียนรู้ที่จะจัดลำดับความสำคัญ โดยการเอางานทั้งหลาย มาจัดลำดับความสำคัญแล้วลงมือทำงานที่สำคัญที่สุด เหมือนอย่างการตัดสินใจเพื่อประเทศชาติในช่วงสัปดาห์นี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่เราต้องตัดสินใจทำในสิ่งที่เราเห็นว่าถูกต้อง หากเราอยู่เฉยไม่ตัดสินใจอะไรเลย เราก็ต้องยอมรับผลแห่งการอยู่เฉยนั้น ป่วยการที่จะมานั่งรำพันว่า “ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เราจะ…” ถึงตอนนั้น คงไม่มีใครเห็นใจเราหรอกครับ อาจจะ

สมน้ำหน้าด้วยซ้ำ
ทุกนาทีมีค่ากว่าที่คิด
ทุกชีวิตมีค่ากว่าที่เห็น
ทุกๆบาทมีค่ากว่าที่เป็น
ไม่ลำเค็ญไม่เห็นค่าราคาจริง