HoonSmart.com>> “มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช” เปิดผลงานกองทุนยั่งยืน ESG ที่ลงทุนในประเทศ สร้างผลตอบแทน 5 เดือนสูงกว่ากองทุนหุ้นทั่วไป เฉลี่ยเกิน 12% “กองอินโนเทคฯ” สูงสุด 24% ฟากกองทุน ESG หุ้นต่างประเทศทำได้สูงกว่า 10% ชนะกองทุนหุ้นทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 6.6% มองแนวโน้มกองทุนหุ้นยั่งยืนในไทยเติบโตได้ไกล บลจ.จ่อออกกองทุนใหม่ ด้านก.ล.ต.เล็งออกเกณฑ์จำแนกกองทุนหุ้นยั่งยืนช่วยนักลงทุนเห็นภาพชัดเจนขึ้น
น.ส.ชญาณี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในช่วง 5 เดือนแรกปี 2564 ผลตอบแทนกองทุนยั่งยืนสามารถแข่งขันกับกองทุนทั่วไปได้ โดยกองทุนยั่งยืนที่ลงทุนหุ้นไทยมีผลตอบแทนใกล้เคียงหรือสูงกว่าผลตอบแทนจาก SET TR ที่ 11.9% โดยกองทุน Innotech Sustainable Thai Equity Systematic (ชนิดผู้ลงทุนทั่วไป) มีผลตอบแทนสูงสุดที่ 24.1%
ขณะที่กองทุนยั่งยืนที่ลงทุนหุ้นต่างประเทศผลตอบแทนระดับ 10% สูงกว่ากลุ่มกองทุนหุ้นทั่วโลกที่เฉลี่ย 6.6% นำโดยกองทุน Principal Global Silver Age ผลตอบแทนสูงสุด 12.6% นโยบายลงทุนไปกับแนวโน้มประชากรสูงวัยของโลก
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปีหลายกองทุนทำได้สูงกว่า 100% แต่ 3 เดือนย้อนหลังผลตอบแทนติดลบค่อนข้างมาก เนื่องจากการลงทุนหุ้นยั่งยืน บางกองทุนโฟกัสไปที่บางกลุ่มอุตสาหกรรม มีความเสี่ยงและผันผวนสูงกว่ากองทุนอื่นๆ ที่มีการกระจายลงทุนมากกว่า ซึ่งเป็นจุดที่นักลงทุนต้องเริ่มระมัดระวัง รวมทั้งต้องศึกษาข้อมูลนโยบายการลงทุนในธุรกิจใด นอกจากนี้ประเด็นเรื่องอัตราเงินเฟ้อซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนกระทบต่อกองทุนรวมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นกองทุน ESG หรือกองทั่วไป นักลงทุนจึงควรจัดพอร์ตกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม
นอกจากนี้การลงทุนอย่างยั่งยืนที่เป็นกองทุนต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นกองทุนที่เพิ่งเริ่มดำเนินการ จึงอาจทำให้ยังมีผลตอบแทนย้อนหลังที่ค่อนข้างสั้น แต่ด้วยลักษณะของ FIF จะเป็นรูปแบบ feeder fund หรือ fund of funds ทำให้สามารถใช้ผลตอบแทนของกองทุนที่กองทุนไทยไปลงทุนประกอบการพิจารณาได้ โดยบางกองทุนอาจมีผลตอบแทนติดลบในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งอาจมีส่วนมาจากการกระจุกตัวในอุตสาหกรรมใด ๆ หรือมูลค่าหุ้นที่ย่อตัวลงจากที่ก่อนหน้านี้ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างสูงแล้ว
น.ส.ชญาณี กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนการลงทุนกองทุนยั่งยืนในประเทศไทยมีจำนวน 52 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินรวม 5.6 หมื่นล้านบาท เติบโตเกือบเท่าตัวจากสิ้นปี 2563 อยู่ที่ระดับ 3 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในกองทุนหุ้นยั่งยืนในไทยประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งมีเพียง 4 กองทุนเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนต่างประเทศผ่านกองทุนหลัก โดยกองทุน K Positive Change Equity-A(A) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนสูงสุด 1.38 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตามแนวโน้มกองทุนหุ้นยั่งยืนในไทยมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากปัจจุบันขนาดกองทุนในอุตสาหกรรมยังเล็กมาก ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) หลายแห่งให้ความสนใจออกกองทุนเพิ่ม ที่ผ่านมาได้หารือเกี่ยวกับเกณฑ์ในการคัดเลือกหุ้น ซึ่งบลจ.บางแห่งใช้ข้อมูลภายในในการพิจารณาคัดเลือกหุ้น บางแห่งใช้ข้อมูลจาก MSCI ซึ่งแต่ละบลจ.มีวิธีการเลือกหุ้นแตกต่างกัน เรื่องดังกล่าวสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่ระหว่างการพิจารณาหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกองทุนยั่งยืน เพื่อให้นักลงทุนเห็นภาพชัดเจนขึ้น
ส่วนกองทุนธรรมาภิบาลหรือกองทุน CG ไทย จะเน้นลงทุนหุ้นทีมีธรรมาภิบาลเป็นหลัก ซึ่งก.ล.ต.อาจจะพัฒนากลุ่มกองทุน CG เป็น ESG ในอนาคต
ปัจจุบันการลงทุนกองทุนยั่งยืนทั่วโลกมีมูลค่าทรัพย์สินรวมเกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์ โดยยุโรปเป็นตลาดหลักมูลค่ารวม 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 81.9% ของทั่วโลก สหรัฐฯ เป็นตลาดขนาดใหญ่อันดับสอง มูลค่ารวม 2.7 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 13.4% ด้านญี่ปุ่นถือเป็นผู้นำด้านการลงทุนอย่างยั่งยืนในฝั่งเอเชียจากมูลค่าการลงทุนรวม 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็น 1.1% ของทั่วโลก
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2564 ที่ผ่านมามีเงินไหลเข้าลงทุนกองทุนยั่งยืนรวม 0.18 ล้านล้านดอลลาร์ ได้รับความสนใจมากขึ้นจากนักลงทุน รวมทั้งความมุ่งมั่นจากทางภาครัฐและเอกชนทั่วโลกที่หันมาตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืนในการลงทุนไปจนถึงการออกเกณฑ์โดยหน่วยงานกำกับดูแลที่เข้ามามีส่วนส่งเสริมให้ Sustainable Investing ยังมีคงศักยภาพเติบโตได้
อ่านข่าว&บทความอื่นๆ
BCAP เล็งออกกองทุน “คลีน อินโนเวชั่น” รับกระแสเมกะเทรนด์ใหญ่ของโลก