HoonSmart.com>> ชำแหละธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทั้งระบบ ในไตรมาส 1/2564 พบว่าโครงสร้างรายได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ท่ามกลางตลาดหุ้นเทรดสนั่นวันละประมาณ 1 แสนล้านบาท แต่รายได้ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (คอมมิชชั่น) กลับมีสัดส่วนลดลงเหลือเพียง 28% ของรายได้ทั้งหมด สวนทางกับรายได้อื่นๆที่กระโดดขึ้นมาแตะ 25% ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกำไรและผลตอบแทนจากเครื่องมือทางการเงิน นำโดย Block trade ที่สร้างกำไรมหาศาลให้กับบล.บางแห่งเท่านั้น ดังนั้นหากจะเข้าไปลุยหุ้นบล.ตัวใดจะต้องเจาะลึกที่มาของกำไรให้ดี….
ตลาดหุ้นในปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2564 ร้อนแรงเกินคาด มีนักลงทุนหน้าใหม่แห่เปิดบัญชีเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ และสภาพคล่องในการซื้อขายสูงสุดในภูมิภาค สนับสนุนให้บริษัทหลักทรัพย์มีกำไรโดดเด่นและผลักดันราคาหุ้นดีดตัวขึ้นแรง บางตัวอาจจะวิ่งนำหน้ากำไรไปไกล
บริษัทหลักทรัพย์แต่ละแห่งมีจุดเด่นในการทำธุรกิจแตกต่างกัน บางแห่งยังคงพึ่งพารายได้จากค่าคอมมิชชันหลักทรัพย์เหมือนในอดีต ซึ่งในไตรมาส 1/2563 บล.ทั้งระบบมีรายได้จากส่วนนี้สูงถึง 41% แต่ในไตรมาส 1/ 2564 กลับลดลงเหลือไม่ถึง 30% ปัจจัยสำคัญมาจากอัตราค่าคอมมิชชั่นลดลงจากเฉลี่ย 0.075% เหลือเฉลี่ย 0.073% แต่หากไม่รวมพอร์ตเทรดของ บล. ลดลงจากเฉลี่ย 0.084% เหลือ 0.081% เพราะการแข่งขันที่ยังคงรุนแรงและมีการซื้อขายผ่านระบบอินเทอร์เน็ตมากขึ้น
เช่นเดียวกับรายได้จากค่านายหน้าซื้อขายอนุพันธ์ ก็ลดลงจาก 11% เหลือ 8% ตามค่าคอมมิชชันอนุพันธ์ลดลงจากเฉลี่ย 14.52 บาท/สัญญา มาอยูที่ 12.30 บาท/สัญญา
ขณะที่ธุรกิจ Block trade กลับได้รับความนิยมสูง ทำให้บริษัทหลักทรัพย์บางแห่งเห็นโอกาสในการทำกำไร โดยให้ลูกค้ายืมเงินลงทุนมีหลักประกันส่วนหนึ่ง เพื่อรับอัตราดอกเบี้ยประมาณ 3.00-5.00 % และรายได้จากการตกลงราคาซื้อขายหุ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกบริษัทจะสามารถให้บริการได้ เพราะจะต้องใช้เงินทุนสูง ระบบและเทคโนโลยีต้องพร้อมรองรับ จึงมีบล.ของคนไทยเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นบริษัทหลักทรัพย์ลูกครึ่ง อาทิ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) หรือ KGI แม่มาจากไต้หวัน รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์ที่มีแม่มาจากยุโรป เช่น บล.เจพีมอร์แกน (ประเทศไทย)
กรณี บล.เคจีไอ(ประเทศไทย) ในไตรมาส 1/2564 โชว์กำไรสุทธิโดดเด่นถึง 713.73 ล้านบาท พลิกจากช่วงเดียวกันปีก่อนขาดทุนสุทธิ 507.73 ล้านบาท
แหล่งที่มาของกำไร 713 ล้านบาท เกิดจากรายได้รวม 1,702 ล้านบาท หลักๆมาจาก 2 ทางคือ 1.กำไรและผลตอบแทนจากเครื่องมือทางการเงิน- อื่นๆ จำนวน 892.61 ล้านบาท และ 2. รายได้จากการดำเนินธุรกิจจำนวน 807.72 ล้านบาท ซึ่งส่วนหลัง ประกอบด้วยค่านายหน้า 343 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมและบริการ 410 ล้านบาท และดอกเบี้ย 53.96 ล้านบาท
ขณะที่บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ MBKET มีกำไรสุทธิ 276.73 ล้านบาท พุ่งขึ้น 105.47% เทียบกับไตรมาส 1/2563 ที่มีกำไรสุทธิ 134.68 ล้านบาท เพราะมีรายได้รวม 948.29 ล้านบาท ส่วนใหญ่ยังคงมาจากค่านายหน้าจำนวน 686 ล้านบาท ตามด้วยดอกเบี้ย 144.59 ล้านบาท กำไรและผลตอบแทนจากเครื่องมือทางการเงิน 58.92 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมและบริการ 41.89 ล้านบาท
บล.ยูโอบี เคย์เฮียน(ประเทศไทย) หรือ UOBKH มีกำไรสุทธิ 100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.25% เทียบกับกำไร 67 ล้านบาทในไตรมาส 1/2563 โดยมีรายได้รวม 268.88 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากค่านายหน้า 375 ล้านบาท ตามด้วยดอกเบี้ย 25 ล้านบาท ส่วนกําไรและผลตอบแทนจากเครื่องมือทางการเงินมีเพียง 12 ล้านบาท
เห็นผลงานของบล.เคจีไอฯ งวดไตรมาส 1/2564 พุ่งกระฉูดขนาดนี้แล้ว คงไม่แปลกใจที่ราคาหุ้นกระโดดไปไกลสูงสุดถึง 8.40 บาท พุ่งขึ้นกว่า 3 เท่าตัวเมื่อเปรียบกับจุดต่ำสุดที่ 2.70 บาท ในรอบ 52 สัปดาห์
แต่นักลงทุนอย่ามัวเพลิน เพราะธรรมชาติของธุรกิจหลักทรัพย์จะมีความผันผวนสูงตามปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ เช่นเดียวกับที่บล. KGI เคยประสบ การขาดทุนถึง 507.73 ล้านบาทในไตรมาส 1/2563 โดยรวมปี 2563 มีกำไรสุทธิเพียง 568 ล้านบาท ทรุดลง 42% เพราะรายได้รวมลดลง 16% ทำได้จำนวน 2,829 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากกําไรและผลตอบแทนจากเครื่องมือทางการเงินหายวับ 50% เหลือเพียง 790 ล้านบาท เนื่องจากความผันผวนอย่างรุนแรงและการปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วของตลาดหุ้นในเดือนมี.ค. 2563 ซึ่งประเทศไทยประกาศล็อกดาวน์เพื่อป้องกันวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ลุกลาม
ในอนาคตยังมีตัวแปรที่คาดการณ์ไม่ได้อีกมากมายพร้อมที่จะเข้ามาสร้างความผันผวนให้กับตลาดและธุรกิจหลักทรัพย์ ขอให้นักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังการลงทุนเพื่อก้าวข้ามช่วงเวลาสำคัญนี้ไปได้ด้วยดี