HoonSmart.com>> “Eastspring” เปิดมุมมองลงทุนครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง มองบวกตลาดหุ้นทั่วโลก ให้น้ำหนักตลาดหุ้นสหรัฐฯ มากกว่าตลาดหุ้นเกิดใหม่ เหตุ “อินเดีย-ละตินอเมริกา” ยังเผชิญวิกฤตโควิด-19 ชูหุ้นวัฏจักร “ธุรกิจการเงิน กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและวัสดุอุปกรณ์” น่าสนใจ ด้านบลจ.ธนชาต มองหุ้นไทยทะลุ 1,600 จุด ตามแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้น กำไรบจ.เติบโต หนุนระดับราคาหุ้นไม่แพง
Ooi Boon Peng หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน Eastspring Investments เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่งในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 และจะส่งผลต่อเนื่องไปจนถึงปี 2022 จากการเร่งดำเนินการฉีดวัคซีน ซึ่งพบว่าประเทศพัฒนาแล้วมีการบริหารการจัดการวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับสหรัฐอเมริกาที่เร่งดำเนินการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่นั้นเชื่อว่าจะช่วยให้ GDP สหรัฐฯมีแนวโน้มสูงเกิน 6% ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของ GDP ในระยะยาวที่อยู่ระดับ 1.5-2.0% ในขณะเดียวกัน ตลาดการจ้างงานที่ดีขึ้นของสหรัฐฯ ยังบ่งชี้ถึงชาวอเมริกันมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายมากขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้านี้
ในทางตรงกันข้าม กลุ่มประเทศในเอเชียรวมถึงจีนกลับใช้มาตรการกระตุ้นทางการคลังด้วยความระมัดระวัง สำหรับจีนที่แม้จะสามารถฟื้นตัวได้ดีจากการระบาดของ COVID-19 แต่ทางการจีนเองได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรัดกุม โดยใช้ความระมัดระวังในการก่อหนี้ใหม่ และเน้นการบริหารจัดการหนี้ที่มีอยู่ให้เข้มแข็งและรัดกุมยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันการเกิดขึ้นของสายพันธุ์ใหม่ของ COVID-19 และรวมถึงการติดเชื้อระลอกใหม่ได้ลดความหวังในการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียในภาพรวม โดยสรุป แม้ว่ามุมมองของเราที่มีต่อแนวโน้มการเติบโตทั่วโลกจะยังคงเป็นไปในเชิงบวก แต่ก็ไม่อาจมองข้ามความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เกิดจาก COVID-19 ระลอกใหม่ๆ ซึ่งผู้ลงทุนควรติดตามและประเมินสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างใกล้ชิด
Kelvin Blackrock หัวหน้าที่ปรึกษาด้านพอร์ตการลงทุน Eastspring Investments เปิดเผยว่า เรายังคงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อตลาดหุ้นโลก โดยภาพรวม เราให้น้ำหนักไปที่สหรัฐอเมริกามากกว่าตลาดเกิดใหม่ (EMs) เนื่องจากผลกระทบของ COVID-19 ที่ทำให้ประเทศอินเดียและกลุ่มประเทศละตินอเมริกายังต้องดิ้นรนเพื่อรับมือสถานการณ์ COVID-19
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยฉุดรั้งที่เกิดจากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะส่งผลกระทบสูงต่อกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ เพราะมีความอ่อนแอที่มีมากกว่าตลาดในกลุ่มอื่นๆ ถ้าพิจารณาจากกลุ่มหุ้นต่างๆ แล้ว เรายังคงให้น้ำหนักไปยังกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวแบบวัฏจักร เช่น ธุรกิจการเงิน กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและวัสดุอุปกรณ์
นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ รวมถึงการอัดฉีดเงินสู่ผู้บริโภคโดยตรงนั้น จะเป็นการช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนได้ดีของภาคครัวเรือนได้ดี ดีมานด์ในภาคส่วนนี้จึงยังมีแนวโน้มที่แข็งแกร่งซึ่งสอดคล้องกับการที่บริษัทต่างๆ ได้รายงานผลประกอบการที่ดีกว่าคาด
“จากสถานการณ์ของสินทรัพย์เสี่ยงที่กล่าวมา เราจึงปรับลดมุมมองของเราต่ออายุตราสารเฉลี่ย (duration) ของสหรัฐฯเนื่องจากความคาดหวังของผู้ลงทุนต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ให้ความสำคัญกับตราสารหนี้ผลตอบแทนสูงมากกว่าตราสารในระดับ investment grade และไม่ได้มองเป็นบวกเท่าไหร่นักต่อตราสารหนี้ที่สะท้อนถึงความน่าเชื่อถือของประเทศ (sovereign bonds)” Kelvin Blackrock กล่าว
ในส่วนของภาคธุรกิจนั้น ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบและภาษีที่ไม่เอื้ออำนวยในสหรัฐที่อาจพุ่งเป้าไปที่บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่และธนาคาร ซึ่งเป็นไปตามนโยบายหาเสียงของพรรคเดโมแครตก่อนการเลือกตั้ง นอกจากนี้ เราคิดว่าบริษัทใดที่ไม่สามารถปรับโมเดลธุรกิจของตนให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป จะได้รับผลกระทบได้ ส่วนบริษัทที่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันสถานการณ์อยู่ตลอดเวลาและใช้กลยุทธ์เชิงรุกในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์
นายโชติช่วง ธีรขจรโชติ รองกรรมการผู้จัดการ สายการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการ (บลจ.) กองทุนธนชาต (Thanachart Fund Eastspring) เปิดเผยเพิ่มเติมสำหรับมุมมองเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปี 2021 คาดว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จากปัจจัยขับเคลื่อน 2 ประการ ได้แก่
ปัจจัยแรก เรื่อง การปูพรมกระจายวัคซีน ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน เป็นต้นมา ที่ช่วยสร้างความมั่นใจในการกลับไปใช้ชีวิตปกติของผู้คนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น ประกอบกับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของภาครัฐที่ช่วยจำกัดความเสี่ยงขาลงและประคองเศรษฐกิจในปีนี้
ส่วนปัจจัยที่สอง คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลบวกต่อภาคการส่งออก เห็นได้จากการที่ยอดส่งออกของไทยกลับมาขยายตัวได้ดีในอัตรา 16-19% ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มที่ดีไปถึงปีหน้า เมื่อเริ่มมีการกระจายวัคซีนได้ดีขึ้น คาดว่าประเทศไทยจะสามารถกลับมาต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ในปลายปีนี้ ทั้งนี้ ตัวเลขของภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวเคยสูงสุดถึง 71% ของ GDP ช่วงก่อนการระบาดของ Covid-19 จากนั้นหดตัวเหลือ 60% ในช่วงระบาด ดังนั้น การฟื้นตัวของภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของไทยในระยะต่อไป
นายโชติช่วง ยังกล่าวถึง ทิศทางการลงทุนของประเทศไทยว่า แม้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET Index จะปรับตัวขึ้นมาเหนือระดับ 1,600 จุด แตเป็นการปรับตัวขึ้นตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการปรับคาดการณ์กำไรของบริษัทในตลาดที่เพิ่มขึ้นจากเมื่อต้นปี 6.1% ในปีนี้ และ 6.9% ในปีหน้า จึงส่งผลให้หุ้นไทยยังอยู่ในระดับไม่แพง นอกจากนี้ เมื่อบริษัทต่างๆ มีกำไรที่ดีขึ้น รวมถึงการจ่ายปันผลในระยะต่อไปก็น่าจะดีขึ้นตามไปด้วย
ในขณะที่ดอกเบี้ยในสหรัฐฯและไทย ยังมีแนวโน้มคงที่ที่ใกล้ 0% ต่อไปในปีหน้า ดังนั้น การลงทุนในหุ้นและหุ้นกู้เอกชนที่เครดิตดีจะให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจกว่าการถือครองพันธบัตรหรือฝากเงิน แนะนำให้กระจายการลงทุนไปต่างประเทศจะช่วยเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี ด้วยความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนรับได้