BTS ยันกทม.คืนหนี้ 3 หมื่นล. จับมือบจ.บุกธุรกิจสินเชื่อ

HoonSmart.com>> “บีทีเอสฯ” ยันไม่ต้องตั้งสำรองหนี้ 3 หมื่นล้านบาทของกทม.  เผยปี 64/65 ธุรกิจ MOVE  ผู้โดยสารโตขึ้น 10% จ่อรับรู้ค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู-เหลือง 1.4 หมื่นล้าน คาดเปิดได้ปี 2565 ส่วนสายสีเขียวส่วนต่อขยาย รับรู้รายได้งาน E&M ที่ 1 พันล้าน งาน O&M เต็มปีครั้งแรก คาดโตขึ้น 20% อยู่ที่ 6.3 พันล้าน  โครงการสนามบินอู่ตะเภา คาดเริ่มก่อสร้างได้ต้นปีหน้า ธุรกิจ MIX รายได้แตะ 3.5-4 พันล้าน ธุรกิจ MATCH ปล่อยสินเชื่อ มองหาพันธมิตร คุยบจ.หลายราย  ด้าน BTSGIF หวังผู้โดยสารกลับมาเท่าก่อนโควิด ล้างขาดทุน 1 หมื่นลบ. รอจ่ายปันผล 

นายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เปิดเผยว่า ภาระหนี้สินของงานรับจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) และงานติดตั้งระบบของงานส่วนต่อขยายที่ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ติดค้างอยู่ประมาณ 30,000 ล้านบาท บริษัทฯยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตั้งสำรอง เพราะยังค่อนข้างมั่นใจได้ว่าทาง กทม. มีความสามารถในการหาเงินมาจ่ายคืน หรือพิจารณาจ่ายเป็นรูปอื่น นอกจากนี้กทม.มีความมั่นคงทางการเงิน และมีสถานะเป็นรัฐ รวมทั้งอันดับความน่าเชื่อถือสูงกว่าของบริษัท ส่วนการต่อสัมปทานสายสีเขียว ปัจจุบันรอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งจำนวนหนี้ที่ กทม. ค้างจ่ายอยู่ ได้มีการนำเรื่องเสนอ ครม. ให้พิจารณาเช่นกันผ่านกระทรวงมหาดไทย

ขณะที่ภาพธุรกิจระบบขนส่งมวลชน (MOVE) ในปีงวดบัญชีปี 2564/2565 (1 เม.ย.2564-31 มี.ค.2565) ตั้งเงินลงทุนไว้ที่ 15,000 ล้านบาท  คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะเติบโตขึ้นประมาณ 10% จากปีก่อนอยู่ที่ 124.9 ล้านเที่ยวคนต่อปี เมื่อเริ่มวัคฉีดในวงกว้างจะเป็นปัจจัยบวกต่อบริษัท  คาดว่าการเดินทางจะกลับมาปกติเหมือนก่อนเกิดโควิด-19  ทั้งนี้ปกติรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือส่วนต่อขยายจะมีผู้โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 50,000 เที่ยวคนต่อวัน

นอกจากนี้บริษัทจะรับรู้รายได้จากงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือประมาณ 14,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่รับรู้อยู่ที่ 19,400 ล้านบาท เนื่องจากสองโครงการทำไปแล้ว 75% ใกล้เสร็จแล้ว คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2565 เช่นเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือส่วนต่อขยายที่ใกล้แล้วเสร็จ คาดว่าจะรับรู้รายได้จากการให้บริการติดตั้งงานระบบและจัดหารถไฟฟ้า (E&M) ประมาณ 1,000 ล้านบาท จากปีก่อนรับรู้ 6,000 ล้านบาท ส่วนรายได้จากงานรับจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) คาดว่ามีรายได้เติบโต 20% อยู่ที่ 6,300 ล้านบาท จากการเริ่มเดินทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือส่วนต่อขยายเต็มปีเป็นปีแรก

สำหรับโครงการสนามบินอู่ตะเภา ภายใต้กิจการร่วมค้า BBS หรือ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล ที่บริษัทถือหุ้น 35% ปัจจุบันบริษัทกำลังเตรียมการยื่นแผนงานขั้นสุดท้ายแก่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) คาดว่าต้นปี 2565 จะได้หนังสือในการเริ่มต้นก่อสร้าง

ส่วนธุรกิจบริการดิจิทัล (MIX) คาดว่าจะมีรายได้ในงวดบัญชีปี 2564/2565 อยู่ที่ 3,000-4,500 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 2,614 ล้านบาท  จะมีอัตรากำไรสุทธิหลังหักภาษี (NPAT Margin) อยู่ที่ระดับ 15-20% ส่วนเงินลงทุนตั้งไว้ที่ 450 ล้านบาท

ธุรกิจ MATCH ที่เป็นความร่วมมือกับพันธมิตรภายในกลุ่ม ล่าสุดได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุน Rabbit Cash ที่มีบริษัท บีเอสเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (กลุ่ม Rabbit) ถือหุ้น 77% ,บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) หรือ AEONTS ถือหุ้น 18% และบริษัท ฮิวแมนิก้า (HUMAN) ถือหุ้น 5% โดยมีทุนจดทะเบียน 800 ล้านบาท แรกเริ่มจะดำเนินธุรกิจในการปล่อยสินเชื่อให้กับพนักงาน ภายใต้การบริหารของ HUMAN ที่มีฐานลูกค้ากว่า 700,000 ราย

นอกจากนี้บริษัทยังมองการเติบโตในการร่วมมือกับพันธมิตรอีกมากในอนาคต ปัจจุบันมีเจรจาในการทำธุรกิจอยู่หลายราย ส่วนใหญ่เป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยกลยุทธ์ในการเลือกพันธมิตร จะต้องสร้างการเติบโต มีแนวคิดที่ตรงกัน และมีกลยุทธ์ที่ร่วมกัน เพื่อสร้างรายได้และผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นของทั้งสองฝ่าย

ด้านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรท (BTSGIF) คาดว่าจำนวนผู้โดยสารว่าจะกลับมาดีขึ้น หรือตามเป้าที่วางไว้ที่เติบโต 10% โดยจะส่งผลดีต่อผลงานและมาช่วยล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่ประมาณ 10,000 ล้านบาท ถ้ามีผลประกอบการที่ดีขึ้น หรือล้างขาดทุนแล้วเสร็จ บริษัทก็จะกลับมาจ่ายปันผลเหมือนในอดีตอีกครั้ง