HoonSmart.com>> “สภาธุรกิจตลาดทุนไทย” มองดัชนีหุ้นไปต่อ หลังยืน 1,600 จุดได้ วางเป้าสิ้นปีนี้ แตะ 1,650 จุด ระหว่างทางอาจจะทะลุเป้าได้ นักลงทุนหวังการกระจายวัคซีน ส่วนมาตรการ Tapering อาจจะมีกระทบบ้างแต่ไม่มาก มองปี 2565 ดัชนีขาขึ้น ลุ้นการเปิดประเทศ หลังมีภูมิคุ้มหมู่มากขึัน ด้านดัชนีความเชื่อมั่นนักลทุน 3 เดือนข้างหน้า อยู่ในเกณฑ์ร้อนแรง 7 เดือนติดต่อกัน ชอบกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ชอบกลุ่มแฟชั่น
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า เป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยปี 2564 อยู่ที่บริเวณ 1,650 จุด โดยมองว่าตลาดยังเป็นช่วงขาขึ้น จากความคาดหวังของนักลงทุนในเรื่องการกระจายวัคซีนที่มีเป้าหมายในปีนี้ 100 ล้านโดส จำนวน 50 ล้านคน และการเปิดเมืองภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่อง ในด้านการท่องเที่ยว ถ้าทำได้ตามแผนที่วางไว้ คาดว่าตลาดจะปรับขึ้นไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้
“ในช่วงครึ่งปีแรก ดัชนีปรับตัวขึ้นยืนเหนือ 1,600 จุด ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด และสหรัฐมีแผนใช้จ่ายเงินที่ชัดเจน อีกทั้งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงอัตราดอกเบี้ย ทำให้กำไรบริษัทจดทะเบียนสหรัฐดีขึ้น ตลาดหุ้นไทยได้อานิสงส์ด้วย ส่วนครึ่งปีหลังเชื่อว่าระหว่างทางมีโอกาสทะลุเป้า 1,650 จุด แต่ในท้ายที่สุดจะกลับมาลงมาบริเวณเป้าหมายที่วางไว้” นายไพบูลย์ กล่าว
ขณะที่มาตราการปรับลดเม็ดเงินที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE Tapering) มองว่าไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อบรรยากาศการลทุนมากอย่างนัยสำคัญ เนื่องจากยังคงอัดฉีดเงินอยู่ แต่อยู่ในระดับที่ต่ำลงเท่านั้น ไม่ได้เหมือนกับมาตรการปรับลดเม็ดเงินออกจากระบบ (Quantitative Tightening) ซึ่ง Tapering อาจจะกระทบให้ เงินทุนไหลออกบ้าง แต่ไม่ได้มาก เนื่องจากไหลออกมากว่าไหลเข้าอยู่แล้ว
ส่วนแนวโน้มในปี 2565 คาดว่าดัชนียังอยู่ในช่วงขาขึ้นต่อเนื่อง ถ้ามีการกระจายวัคซีนที่เพิ่มขึ้น และมีการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ จะทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ เนื่องจากเป็นเมืองท่องเที่ยว แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะสามารถทำได้ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงก็ได้หากเกิดการล่าช้า
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนพ.ค.2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ส.ค.2564) อยู่ที่ระดับ 126.40 เพิ่มขึ้น 1.6% จากเดือนก่อนหน้า ยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” หรือ Bullish ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7
สำหรับปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุดคือแผนการกระจายวัคซีนในประเทศ ส่วนปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นมากที่สุด คือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สามนี้ แม้มีการแพร่ระบาดของโควิด แต่ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนยังอยู่ในเกณฑ์ร้อนแรงอยู่ โดยให้หมวดธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON) น่าสนใจที่สุด และธุรกิจแฟชั่น (FASHION) ไม่น่าสนใจที่สุด
นอกจากนี้ปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่มีการทยอยเปิดประเทศ หลังจากประชาชนจำนวนมากได้รับวัคซีนแล้ว ซึ่งจะทำให้ภาคการส่งออกไทยได้อานิสงส์ไปด้วย , ติดตามผลการประชุมธนาคารกลางในต่างประเทศ , สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศเพื่อนบ้านที่อาจส่งผลกระทบต่อไทย อาทิ มาเลเซีย เวียดนาม
ด้านปัจจัยในประเทศ ได้แก่ การสรรหาและแจกจ่ายวัคซีนในประเทศให้เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ 100 ล้านโดสภายในปีนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชนและจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศ ผลการพิจารณา พรก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพิ่มเติม วงเงิน 500,000 ล้านบาท และผลการประชุมอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ คาดว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย