จัดพอร์ตการลงทุนหลังเกษียณ

การเข้าสู่วัยเกษียณอาจเป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับนักลงทุนหลายๆ ท่าน เพราะเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณรายได้ที่เคยมีเป็นกอบเป็นกำทุกเดือนก็จะลดน้อยลงไปกว่าช่วงทำงานมาก หลายคนกังวลจนถึงขั้นที่ไม่กล้าลงทุน หรือลงทุนโดยใช้ความเสี่ยงน้อยมากเนื่องจากกลัวว่าหากลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง อาจทำให้เงินที่เก็บสะสมมานั้นลดหายไปจนไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันกลายเป็นภาระแก่ลูกหลานต้องมาเลี้ยงดู

แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น การไม่ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเลยอาจกลายเป็นความเสี่ยงเสียเอง เพราะการลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำมากๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือเงินฝากออมทรัพย์ เพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อระยะยาวได้ ส่งผลให้มูลค่าของเงินที่เราเก็บสะสมมาลดน้อยลงไป ดังนั้นเราจึงควรมีการวางแผนการลงทุนอย่างรอบคอบ เพื่อให้เงินสะสมของเรานั้นงอกเงยและเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายหลังเกษียณ

ในการลงทุนหลังเกษียณนั้น วัตถุประสงค์การลงทุนหลักก็เพื่อที่จะให้มีอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อระยะยาว และเพื่อให้เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล การตอบสนองไลฟ์สไตล์ การช่วยเหลือสังคม รวมถึงการเก็บเป็นมรดกให้กับลูกหลาน

ในขั้นแรกเราจะต้องเริ่มจากการประมาณค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นซึ่งจะแตกต่างกันไปตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน เช่น หากมีเป้าหมายในการท่องเที่ยวหรือใช้ชีวิตนอกบ้านก็จะมีค่าใช้จ่ายมากกว่าคนที่อยู่ติดบ้าน ในขณะที่คนที่มีสุขภาพแข็งแรงออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็อาจมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพน้อยกว่าคนที่ชอบดื่มสุราหรือสูบบุหรี่ เป็นต้น

ทั้งนี้ตามทฤษฎีแล้ว หากต้องการมีคุณภาพชีวิตไม่ต่างจากช่วงก่อนเกษียณฯ ควรมีเงินเก็บไว้ไม่น้อยกว่า 70% ของค่าใช้จ่ายก่อนเกษียณเลยทีเดียว ซึ่งการประมาณการค่าใช้จ่ายต่างๆ นี้ จะทำให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ว่าเราจะต้องจัดสรรเงินทุนของเราอย่างไร ควรจะต้องมีรายได้จากเงินลงทุนดังกล่าวมากน้อยเพียงใด

เมื่อเราประมาณการค่าใช้จ่ายได้แล้ว ขั้นต่อมาคือการพิจารณาในส่วนของรายรับว่า เราจะมีรายรับหรือเงินทุนจากส่วนใดบ้างเพื่อนำมาวางแผนในการลงทุน ซึ่งรายรับอาจแบ่งได้เป็นส่วนของเงินก้อนที่เราจะได้รับทันทีหลังเกษียณ เช่น เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ประกันชีวิต บำเหน็จดำรงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข) เป็นต้น และส่วนของรายได้ประจำอื่น ๆ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ กองทุนการออมแห่งชาติ ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนประกันสังคม เป็นต้น

เมื่อเราได้ประมาณการทั้งในส่วนของรายรับ และรายจ่ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นแล้ว เราก็จะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าเราควรจะต้องมีผลตอบแทนจากเงินทุนที่เรามีมากน้อยเพียงใดเพื่อให้เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตหลังเกษียณ โดยมีคุณภาพชีวิตไม่แตกต่างจากช่วงก่อนเกษียณ

การบริหารจัดการเงินเพื่อการลงทุนนั้นอาจทำได้โดยการแบ่งเงินเป็นส่วนๆ ตามลำดับการใช้จ่าย โดยส่วนแรกเรียกว่าเงินสภาพคล่อง คือ เงินที่เตรียมไว้สำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และการดูแลสุขภาพ โดยค่าใช้จ่ายส่วนนี้อาจมีสัดส่วนประมาณ 60% ของเงินสะสมทั้งหมด เป็นเงินที่ควรนำไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยมีสภาพคล่องสูง เช่น เงินฝากออมทรัพย์ หรือกองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น เพื่อให้สามารถนำออกมาใช้ได้ง่ายในกรณีที่มีความจำเป็น

ในขณะที่เงินส่วนที่สองนั้น คือ เงินที่เตรียมไว้สำหรับการใช้จ่ายที่นอกเหนือจากการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น การใช้ชีวิตตามไลฟ์สไตล์ การช่วยเหลือสังคม หรือการเก็บไว้เป็นมรดกให้กับลูกหลาน ซึ่งเงินในส่วนนี้อาจเป็นเงินที่ไม่ได้ถูกนำออกมาใช้ในช่วง 2 – 3 ปีแรกของการเกษียณ จึงมีความจำเป็นที่การลงทุนของเงินส่วนนี้จะต้องมีอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้ด้วยระยะเวลาการลงทุนที่ยาวกว่าเงินส่วนแรก เงินในส่วนนี้จึงเหมาะที่จะนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากกว่า เช่น ตราสารหนี้ระยะยาว กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือหุ้นสามัญที่มีพื้นฐานดี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล โดยผู้ที่สามารถรับความเสี่ยงได้น้อยอาจแบ่งลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมาก เช่น หุ้นสามัญ 10% และลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงปานกลาง เช่น ตราสารหนี้ระยะยาว 40 – 50% ในขณะที่ผู้ที่รับความเสี่ยงได้มากอาจลงทุนในหุ้นสามัญเพิ่มขึ้นเป็น 15% และลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว 60 – 65% เป็นต้น ทั้งนี้ในการจัดสัดส่วนการลงทุนควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์การลงทุน ผลตอบแทนที่คาดหวัง และระดับความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ มิควรให้ความสำคัญกับปัจจัยใดมากเกินไปจนละเลยปัจจัยอื่นที่สำคัญ ทั้งนี้เพื่อการลงทุนที่สามารถสร้างอัตราผลตอบแทนที่จะส่งผลให้เรามีชีวิตหลังเกษียณที่สุขสบาย และไม่กลายเป็นภาระของลูกหลานในอนาคต

สำหรับกองทุนในแต่ละประเภทตามที่กล่าวมาข้างต้น ทาง บลจ.ไทยพาณิชย์ ได้มีการนำเสนอกองทุนประเภทดังกล่าวเพื่อตอบโจทย์ความต้องการแก่นักลงทุน เช่น ประเภทกองทุนรวมตลาดเงิน ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารรัฐตลาดเงิน พลัส (ชนิดหน่วยลงทุน B) (SCBTMFPLUS-B) ประเภทกองทุนตราสารหนี้ระยะยาว ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ พลัส (SCBFP) และกองทุนรวมตราสารทุนที่เน้นการลงทุนในหุ้นสามัญที่มีพื้นฐานดี มีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ เช่น กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นทุนปันผล (ชนิดจ่ายเงินปันผล) (SCBDV) เป็นต้น อย่างไรก็ตามการลงทุนในทุกประเภทมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง

นันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มจัดสรรสินทรัพย์และกองทุนต่างประเทศ
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด