ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเชื่อเงินเฟ้อพุ่งไม่กดดันกนง.ขึ้นดอกเบี้ย

HoonSmart.com>>ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นเกิดจากปัจจัยด้านอุปทาน ไม่เป็นแรงกดดันให้ กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หวังช่วยลดภาระต้นทุนลดภาระเศรษฐกิจ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินสภาวะเงินเฟ้อไทยในปัจจุบันเกิดขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทาน และเป็นช่วงจังหวะเวลาที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับแรงกดดันและความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด 19 รอบที่สาม ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อเนื่องยังแนวโน้มการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะที่เหลือของปีนี้และปีหน้า

ซึ่งภายใต้สภาวะเงินเฟ้อจากปัจจัยด้านอุปทานและเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มีโอกาสน้อยมากที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้น (เพราะไม่ใช่กรณีที่เงินเฟ้อเกิดขึ้นพร้อมกับเศรษฐกิจที่ขยายตัว) โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะยังคงให้น้ำหนักความสำคัญกับการดูแลปัญหาเศรษฐกิจมากกว่าปัญหาเงินเฟ้อ และน่าจะยังต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ด้วยการยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ

เพื่อช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวม สอดคล้องไปกับมาตรการด้านการคลังที่ยังจะต้องเน้นการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อประคองสถานการณ์กำลังซื้อและรายได้ เพื่อให้ครัวเรือนมีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปก่อน

แต่เงินเฟ้อที่เร่งขึ้น จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทย หรืออัตราดอกเบี้ยที่หักด้วยเงินเฟ้อ เริ่มมีค่าติดลบ โดยตั้งแต่ในเดือนเม.ย. 2564 ที่ผ่านมา เงินเฟ้อในเดือนเม.ย. 2564 อยู่ที่ 3.41% YoY สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ

สำหรับแนวโน้มเงินฝากในปี 2564 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ยอดคงค้างเงินฝากปี 2564 ในระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศน่าจะประคองการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แต่อัตราการเติบโตอาจชะลอลงมาอยู่ในช่วง 3.5-5.0% เทียบกับที่เติบโตสูงถึง 10.9% ในปี 2563