ธปท. แนะนำ 7 ขั้นตอน ธนาคารป้องกันแฮ็กเกอร์

ดร.กิตติ โฆษะวิสุทธิ์ ประธานกรรมการศูนย์ประสานงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (Thailand Banking Sector CERT หรือ TB-CERT) กล่าวว่า กรณีที่ข้อมูลลูกค้าของธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารกรุงไทย (KTB) รั่วไหล เกิดจากกลุ่มแฮ็กเกอร์ที่ใช้เทคนิคขั้นสูงเข้ามาโจรกรรมข้อมูลลูกค้าของธนาคารทั้งสองโดยการพยายามหาช่องทางต่างๆ ที่มีช่องโหว่ เมื่อพบแล้วก็ทำการเจาะระบบเข้าไปเพื่อขโมยข้อมูลออกไป

“TB-CERT ทราบจากธนาคารทั้งสองถึงเหตุการณ์นี้ และได้รีบดำเนินการวิเคราะห์และร่วมมือในการช่วยเหลือในการหาสาเหตุที่เกิดขึ้นทันที จึงมีการแชร์ข้อมูลเชิงลึก เพื่อให้ธนาคารสมาชิกของ TB-CERT ทั้งหมดได้ทำการตรวจสอบและหากพบช่องโหว่ จะมีการปิดช่องโหว่เหล่านั้นทันที โดยได้ออกเป็นคำแนะนำทางเทคนิค เพื่อให้สมาชิกที่เหลือได้ปฏิบัติตามอย่างทันท่วงที”

สิ่งที่ TB-CERT ได้ให้คำแนะนำในการแก้ไขและป้องกันเบื้องต้นกับธนาคารสมาชิกไปดังนี้

1. ตรวจสอบการ Update Patch ทั้ง Operating System และ Application ของระบบธนาคาร
2. ตรวจสอบช่องโหว่และทดสอบการเจาะระบบที่ให้บริการออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ตให้ครบถ้วนและสม่ำเสมอ
3. สอบทานการแบ่งแยกขอบเขตของเครือข่ายของระบบงาน (Network Zoning)
4. ทบทวนการตั้งค่าไฟร์วอลล์และอุปกรณ์ป้องกันความมั่นคงปลอดภัยเพื่อปิดกั้นการเชื่อมต่อจากชุดไอพีและรูปแบบการโจมตีต่างๆ จากภายนอกพร้อมทั้งเฝ้าระวังบริการออน์ไลน์เป็นพิเศษ
5. ทบทวนการตั้งค่าของ Web Application และพารามิเตอร์ด้านความปลอดภัยต่างๆ ของเซิร์ฟเวอร์ เพื่อป้องกันการโจมตี
6. ตรวจสอบการบุกรุกจากล็อกไฟล์ต่างๆ ของระบบธนาคาร
7. ติดตั้งและอัพเดทโปรแกรมป้องกันไวรัสและมัลแวร์ให้เป็นปัจจุบัน

การที่สมาชิกได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกกันนั้น ก็เพื่อเป็นการร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุที่เกิดขึ้นให้ได้อย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อเตรียมการป้องกันให้พร้อมรับมือกับภัยไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงที จำกัดความเสียหายที่อาจกระจายออกไปในวงกว้างและไม่ให้กระทบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อระบบสถาบันการเงินซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ

ขอให้มั่นใจในกระบวนการทำงานของ TB-CERT ในการยกระดับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของภาคการธนาคารให้สูงขึ้นและมีการพัฒนาบุคลากรและความรู้ต่างๆ ด้าน Cybersecurity อย่างต่อเนื่องให้กับธนาคารสมาชิก ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการทำงานในยุคปัจจุบันและสามารถรับมือกับเหล่าแฮ็กเกอร์ที่มีความสามารถสูงขึ้นทุกวันได้อย่างทันท่วงที

ทั้งนี้การที่ธนาคารพัฒนาการทำธุรกรรมออนไลน์ขึ้นก็เพื่อทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีความสะดวกและมีความคล่องตัวในการดำเนินงาน สนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารได้มีการพัฒนาระบบควบคู่กับการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์อยู่เสมอ