FETCO เตือนโควิดฉุดหุ้นร่วงระยะสั้น ตลาดขาขึ้นเงินตปท.รอไหลเข้า

HoonSmart.com>>หุ้นดิ่ง 28 จุดหรือ 1.78% ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย คาดโควิด-19 ระบาดระลอก 3 กระทบหุ้นไทยระยะสั้น หากตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ทำจุดพีคใหม่ 2,800 คน/วัน เผย 5 ปัจจัยบวก ดึงดูดเม็ดเงินต่างประเทศไหลเข้าไทยและเอเชีย ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ลดลง 14.6% แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ร้อนแรง  หมวดปิโตรเคมีฯน่าสนใจมากที่สุด 

ตลาดหุ้นครึ่งวันเช้าวันที่ 5 พ.ค.2564 ดัชนีปิดที่ระดับ 1,555.01 จุดไหลลง -28.12 จุด คิดเป็น -1.78% มูลค่าการซื้อขายรวม  73,724.03 ล้านบาท

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า การระบาดโควิด-19 รอบนี้มีผลกระทบต่อตลาดไม่มาก มองว่าหุ้นอยู่ในช่วงขาขึ้นใน 12 เดือนข้างหน้า เนื่องจากมี 5 ปัจจัยบวก อาทิ กำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.)คาดว่าจะขยายตัว 32% ในปีนี้ และ 17% ในปีหน้า เศรษฐกิจเติบโต 1.5-2.5% จากเดิมคาด 2.7% และปีหน้าจะโต 4%  รัฐบาลประกาศแผนการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม และเร่งฉีดวัคซีน รวมถึงตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ ตลาดเอเชียปรับตัวลง หุ้นไทยยังไม่แพงเมื่อพิจารณาจาก P/BV เวลานี้จะคิดจาก P/E ไม่ได้ คาดว่าครึ่งปีหลังเงินจะไหลเข้ามา หลังจากตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นมามาก

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องติดตามคือแผนการกระจายวัคซีนว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ และสิ่งที่อยากเสนอไปยังภาครัฐคืออยากให้มีแผนรองรับ หากต้องฉีดเข็มที่ 3 ต้องนำเข้ามามากขึ้น โดยภาครัฐยังมีเงินประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้จีดีพีโตตามเป้าหมายที่คาดไว้  ในครึ่งปีหลังจะเห็นเม็ดเงินไหลเข้าตลาดเกิดใหม่มากขึ้น หากนักลงทุนเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะฟื้นตัว และมีความชัดเจนในการเปิดประเทศมากขึ้น  จะต้องติดตามว่าจ.ภูเก็ตเปิดแล้วจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากแค่ไหน

“การระบาดโควิดรอบนี้มีผลกระทบไม่มาก หากยอดผู้ติดเชื้อไม่ขึ้นไปทำจุดพีคใหม่ ซึ่งรอบนี้อยู่ที่ 2,800 คน/วัน  มีนักลงทุนเทขายทำกำไรบางส่วน ส่วนเรื่องที่เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังให้ความเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยอาจจะปรับขึ้น แต่การตัดสินใจขึ้นอยู่ธนาคารกลางหสรัฐหรือเฟด ซึ่งมีอิสระ และคาดว่าคิวอียังคงอยู่อีกอย่างน้อย 2 ปี สภาพคล่องยังคงสูงต่อ  แม้ว่าจะมีถอนเงินอัดฉีดลงบางช่วงบ้างก็ตาม”นายไพบูลย์กล่าว

ด้านดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 124.37 จุด ลดลง 14.6% จากเดือนก่อน แต่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” อย่างต่อเนื่อง โดยนักลงทุนคาดหวังแผนการกระจายวัคซีน เป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนและสถานการณ์เศรษฐกิจจีน ส่วนสำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในไทย รองลงมาคือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศและสัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือน

ความเชื่อมั่นนักลงทุนเกือบทุกกลุ่มอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ยกเว้นสถาบันไทยอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” ปรับตัวลดลง 37% อยู่ที่ระดับ 94.44 จุด โดยหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์  และหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดแฟชั่น (FASHION)

ดัชนีหุ้นในเดือนเม.ย.64 ผันผวนอยู่ระหว่าง 1,541.12 –1,596.27 จุด ได้รับแรงกดดันจากการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 และตลาดหุ้นสหรัฐที่ปรับลงอย่างหนักจากการประกาศข้อเสนอเก็บภาษีกำไรจากการลงทุน (Capital Gains Tax) เพิ่มเกือบเท่าตัว