SCC นำปิโตรฯ กำไรเกินคาด IRPC โกย 5 พันลบ. สดใสต่อ Q2

HoonSmart.com>> “ปูนซิเมนต์ไทย” เปิดกำไรไตรมาส 1/64 กว่า 14,913 ล้านบาท เติบโต 114% จากงวดปีก่อน ธุรกิจเคมิคอลส์โดดเด่น รับรู้ส่วนแบ่งกำไรบริษัทร่วม โชว์ผลงานดีกว่าตลาดคาด ส่วน”ไออาร์พีซี” บล.เอเซียพลัสคาดกำไรสุทธิ 5,500 ล้าน พุ่งขึ้น 242.8% จากไตรมาส 4  ได้สต๊อกช่วย กำไรปกติ 484 ล้านบาท โต 10% คาดไตรมาส 2 ฟื้นตัวต่อ  บล.เมย์แบงก์ฯ ชอบ SCC-IRPC บล.หยวนต้า ชอบ PTTGC-IRPC  บล.ฟินันเซียฯ ชอบ PTTGC-IVL เป้า 86 บาท กับ 57 บาท  

บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2564 มีกำไรสุทธิ 14,913.96 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 12.43 บาท เติบโต 114 % จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 6,971.20 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 5.81 บาท และเติบโต 85% จากไตรมาสก่อน

ภาพรวมธุรกิจในไตรมาส 1/2564 ทุกกลุ่มธุรกิจเติบโต โดยธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างดีขึ้นจากปัจจัยตามฤดูกาล ขณะที่ธุรกิจเคมิคอลส์มีปริมาณขายเพิ่มขึ้น เนื่องจากในไตรมาสที่ 4 /2563 มีการหยุดซ่อมบำรุงโรงงานของมาบตาพุดโอเลฟินส์ (MOC) และการเริ่มผลิตของ MOC Debottleneck ประกอบกับอุปสงค์ทั่วโลกดีขึ้น และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น

ด้าน EBITDA ที่ปรับเพิ่มขึ้น 29% จากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 23,665 ล้านบาท แม้จะมีเงินปันผลรับจากบริษัทร่วมลดลง มีรายได้จากการขาย 122,066 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของทุกกลุ่มธุรกิจ แม้จะต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ก็ตาม

“กำไรในไตรมาส 1/2563 เติบโต 114% สาเหตุหลักจากธุรกิจเคมิคอลส์มีส่วนต่างราคาสินค้าและส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น ขณะที่ EBITDA เพิ่มขึ้น 68% จากส่วนต่างราคาสินค้าของธุรกิจเคมิคอลส์เพิ่มขึ้น รายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 15% มาจากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้น ธุรกิจแพคเกจจิ้ง มีกำไร 2,135 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23%  รายได้จากการขายเท่ากับ 27,253 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12%  และมี EBITDA เท่ากับ 5,273 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42%  โดยมี EBITDA Margin อยู่ที่ 19% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 15% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2563″บริษัทระบุ

ทั้งนี้ ผลดำเนินงาน SCC ไตรมาส 1/2564 ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะมีกำไรสุทธิ 1.1 หมื่นล้านบาทและบล.บัวหลวงคาดกำไรไว้ 1.2 หมื่นล้านบาท

ส่วนบริษัท ไออาร์พีซี (IRPC) บล.เอเซียพลัสคาดจะมีกำไรสุทธิ 5,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 242.8% จากไตรมาสที่ 4 ที่ผ่านมา รับอานิสงส์หลักจากการบันทึกกำไรจากสต๊อกน้ำมันรวม LCM และเฮดจ์จิ้งสูงถึง 5,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1,400 ล้านบาทในงวดก่อนหน้า หากพิจารณาเฉพาะกำไรปกติอยู่ที่ 484 ล้านบาท เพิ่มเพียงเล็กน้อย 10.2% แม้คาดอัตรากำไรขั้นต้นธุรกิจหลัก (Market GIM) จะเพิ่มขึ้นอยู่ราว 13 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จาก 11 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ถูกกดดันจากการเดินเครื่องที่ลดลงมาอยู่ราว 1.86 แสนบาร์เรลต่อวันจาก 1.97 แสนบาร์เรลต่อวันในงวดก่อนหน้า เนื่องจากมีการหยุดซ่อมบำรุงตามแผน 20 วันของหน่วยกลั่น ADU1

ส่วนแนวโน้มกำไรปกติในไตรมาส 2 เห็นการฟื้นตัวต่อจากไตรมาสแรก รับอานิสงส์หลักจากธุรกิจปิโตรเคมีที่สเปรดผลิตภัณฑ์ยังอยู่ในระดับสูงมาก ส่วนกลุ่มปิโตรเลียมคาดเพียงประคองตัว และยังได้รับผลบวกจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

“เราปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2564 เพื่อสะท้อนส่วนต่างของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ดีกว่าคาด มีผลให้สมมุติฐาน Market GIM เพิ่มขึ้นมาอยู่ราว 13 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้กำไรปกติอยู่ราว 3,000 ล้านบาท และปรับเพิ่มมูลค่าพื้นฐานสิ้นปี 2564 เท่ากับ 3.90 บาท จากเดิมให้ไว้ 3.40 บาท แต่ราคาหุ้นขึ้นมารับข่าวแล้ว แนะให้รอจังหวะเข้าลงทุนรอบใหม่ “บล.เอเซียพลัสระบุ

บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) ให้ราคาเป้าหมาย 4 บาท สามารถเก็งกำไรงบไตรมาส 1 พร้อมโอกาสเข้าคำนวณดัชนี SET 50 รอบครึ่งปีหลัง คาดกำไรสุทธิไตรมาสแรก อยู่ที่ 4,600 ล้านบาท เติบโต 186% จากไตรมาสก่อน และพลิกจากขาดทุน 8,900 ล้านบาทในไตรมาสแรกปี 2563 เพราะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวขึ้นมาก จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 49.8 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มเป็ 64.4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล คาดจะมีกำไรสต๊อกน้ำมัน 5,100 ล้านบาท หากนับเฉพาะกำไรปกติ คาดทำได้ 644 ล้านบาท เติบโต 126% จากไตรมาสก่อน แนวโน้มไตรมาส 2 จะชะลอตัว โอกาสบันทึกกำไรสต๊อกน้ำมันไม่มาก

“หากไตรมาส 1 เป็นไปตามคาด กำไรปกติจะคิดเป็น 25% ของทั้งปี แต่กำไรสุทธิไตรมาส 1 สูงกว่าประมาณการทั้งปีที่ 3,500 ล้านบาท จึงคงประมาณการปกติปีนี้ที่ 2,600 ล้านบาท แต่มีโอกาสปรับเพิ่มคาดการณ์กำไรสุทธิ เพื่อสะท้อนกำไรสต๊อกน้ำมันจำนวนมากในไตรมาสแรก” บล.หยวนต้าระบุ

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ มีปัจจัยหนุนที่โดดเด่น จากความต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีมากทั่วโลก ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่กำลังการผลิตทั่วโลก ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ อีกทั้งในไตรมาส 2 เป็นช่วงที่หลายบริษัทปิดซ่อมโรงงาน คาดว่าส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ในครึ่งแรกของปี 2564 ยังสูงขึ้นต่อเนื่อง

ในช่วงไตรมาส 1 ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ของ HDPE – Naphtha เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 500 กว่าเหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งในไตรมาส 2 คาดว่าจะอยู่ในระดับที่สูงจากไตรมาสก่อน โดยเดือน เม.ย. เห็นส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 700 กว่าเหรียญสหรัฐต่อตัน

“กลุ่มนี้ยังมีปัจจัยกดดันในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นตัวเร่งทำให้กำลังการผลิตทั่วโลกปรับตัวขึ้น อาจจะส่งผลกระทบต่อส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ ซึ่งยังต้องรอติดตามต่อเนื่อง ถ้ามีการฉีดวัคซีนที่แพร่หลายมากกว่าที่คาด หรือเศรษฐกิจโลกฟื้นเร็วกว่าเดิม ก็อาจจะทำให้ฝั่ง Demand และ Supple มาหักล้างกัน และอาจจะไม่กระทบต่อราคา Spread ปิโตรเคมี” นายวิจิตร กล่าว

กลยุทธ์การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ แนะนำหุ้น SCC ที่ราคาเหมาะสม 450 บาท คาดกำไรไตรมาส 1 ที่ 12,700 ล้านบาท ซึ่งมีความสามารถในการทำกำไรของปิโตรเคมีที่สูง และหุ้น IRPC ที่ราคา 4.50 บาท ถึงแม้ว่าธุรกิจโรงกลั่นจะไม่โดดเด่นมาก แต่ได้ประโยชน์จากการบันทึกกำไรจากสต๊อกค่อนข้างมาก

ด้านนายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ยังมีแนวโน้มที่เติบโตต่อเนื่อง  ราคาส่วนต่างผลิตภัณฑ์ปรับตัวดีขึ้น และค่าการกลั่นมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แนะนำหุ้นเด่น PTTGC และIVL ที่ราคาเป้าหมาย 86 บาท และ 57 บาท ตามลำดับ

ส่วนนายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า  บริษัทในกลุ่มปิโตรฯ ไตรมาส 1 กำไรออกมาดี แนะนำ PTTGC และ IRPC ที่ราคาหุ้นยังปรับขึ้นช้ากว่าตลาดมาก ด้วยกลยุทธ์รอติดตามผลประกอบการออกมาก่อนค่อยเข้าเก็งกำไร

อ่านข่าว

SCC ศึกษาปรับโครงสร้างธุรกิจเคมิคอลส์ เล็งส่ง SCG Chemicals เข้าตลาดหุ้น